เงินเดือนนายแบงก์โลกพุ่งหลัง 10 ปีวิกฤติการเงิน

เงินเดือนนายแบงก์โลกพุ่งหลัง 10 ปีวิกฤติการเงิน

ปีที่ผ่านมา 6 ธนาคารใหญ่สหรัฐรายงานกำไรสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 1.17 แสนล้านดอลลาร์

10 ปีหลังจากสถาบันการเงินในวอลล์สตรีทย่ามใจจนนำไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ถึงวันนี้ค่าตอบแทนซีอีโอแบงก์ใหญ่ยังพุ่งขึ้น ทั้งๆ ที่เงินเดือนพนักงานระดับล่างแทบไม่เพิ่มเลย

ตัวเลขค่าตอบแทนผู้บริหารธนาคารใหญ่ที่เผยออกมานับจนถึงขณะนี้ ชี้ให้เห็นว่านี่คือช่วงเวลาทองของเหล่าซีอีโอ แม้ตลาดมีเรื่องให้ชวนกังวลมากมาย ทั้งเศรษฐกิจโลกชะลอตัว สงครามการค้า และความไม่แน่นอนจากการที่สหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรป (เบร็กซิท)

ปี 2561 เงินตอบแทนเจมี ดีมอน ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหารเจพี มอร์แกน เชส ธนาคารใหญ่สุดของสหรัฐวัดจากสินทรัพย์ ทะลุ 3.1 หมื่นล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 5.1% จากปี 2560 เป็นค่าตอบแทนก้อนโตสุดนับตั้งแต่วิกฤติการเงินปี 2551

ส่วนเจมส์ กอร์แมนซีอีโอมอร์แกนสแตนลีย์ รับเงิน 29 ล้านดอลลาร์ไปนอนกอดที่บ้าน เพิ่มขึ้น 7%และภายในไม่กี่วันนี้แบงก์ออฟอเมริกา โกลด์แมนแซคส์ ซิตี้กรุ๊ป และเวลส์ฟาร์โกจะส่งรายงานของตนเองถือเป็นรายงานกลุ่มสุดท้ายของปี 2561

ปีที่ผ่านมา 6 ธนาคารใหญ่สหรัฐรายงานกำไรสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 1.17 แสนล้านดอลลาร์ เจพีมอร์แกนทำรายได้รายปีสูงสุดทุบสถิติ 3.25 หมื่นล้านดอลลาร์ เช่นเดียวกับมอร์แกนสแตนลีย์ที่ทำสถิติ 8.2 พันล้านดอลลาร์

ส่วนพนักงานธรรมดาได้รับเงินเดือนแตกต่างกันไปตามภาระรับผิดชอบ ซึ่งไม่ได้ขึ้นเงินเดือนมากมายเหมือนกับซีอีโอ โดยพนักงานเจพีมอร์แกน 256,000 คน ได้รับการขึ้นเงินเดือนเฉลี่ย 4.4% ขณะที่ค่าตอบแทนพนักงานมอร์แกน สแตนลีย์ 60,300 คนลดลง 2%

ด้านโกลด์แมนแซคส์ ที่กำลังถูกรัฐบาลสอบสวนหลายเรื่องฐานพัวพันกองทุนฉาว“วันเอ็มดีบี”จากมาเลเซีย เงินเดือนพนักงานที่นี่ลดลง 3% แบงก์ออฟอเมริกาขึ้นเงินเดือนพนักงาน 2.2% ซิตี้กรุ๊ปและเวลส์ฟาร์โก เพิ่มเงินเดือนพนักงานที่ละ 4.1%แต่ในภาพรวมส่วนต่างเงินเดือนระหว่างซีอีโอกับพนักงานระดับปฏิบัติยังคงมหาศาล

ที่เจพีมอร์แกน เงินเดือนดีมอนสูงกว่าเงินเดือนเฉลี่ยพนักงานกว่า 364 เท่า เงินเดือนของกอร์แมนจากมอร์แกน สแตนลีย์ มากกว่าพนักงานเฉลี่ยราว 192 เท่า

ตัวเลขในสถาบันการเงินอื่นๆ ยิ่งสูงไปกว่านี้ เช่น วาณิชธนกิจรายใหญ่อย่างแบล็กสโตน จ่ายค่าตอบแทนให้ซีอีโอสตีเฟน ชวาร์ซแมน786 ล้านดอลลาร์เมื่อปี 2560 มากสุดเป็นอันดับ 3 ของวอลล์สตรีท รองจากแดเนียล ออคจากออค-ซิฟฟ์ แคปิตัล ที่ได้รับเงิน 1.2 พันล้านดอลลาร์เมื่อปี 2561 และ 918.9 ล้านดอลลาร์ในปี 2560

ธารินดรา รานาสิงเหผู้ช่วยศาสตราจารย์จากวิทยาลัยบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยแมริแลนด์ กล่าวว่า การที่ผู้บริหารสถาบันการเงินได้เงินเดือนสูงขนาดนี้แต่สังคมกลับเงียบกริบ ก็เพราะว่าเศรษฐกิจในภาพรวมปรับตัวดีขึ้น ช่วยหนุนให้ตลาดแรงงานแข็งแกร่ง