‘พีเอ็ม 2.5’ มือพิฆาตความสุขคนเมือง

‘พีเอ็ม 2.5’ มือพิฆาตความสุขคนเมือง

ปัญหาฝุ่นละออง “พีเอ็ม 2.5” เป็นเรื่องที่คนกรุงเทพทั้งในโลกจริงและโลกออนไลน์พูดคุยกันสนั่นเมือง ไม่ต่างจากชาวจีนที่มีปัญหามลพิษเหมือนกัน ผลการวิจัยล่าสุด พบว่า อาการเคืองตาระคายคอจากมลพิษทางอากาศเป็นปัจจัยหลักทำให้ชาวจีนในเมืองใหญ่ไม่มีความสุข

งานวิจัยชิ้นนี้  เชื่อมโยงประเด็นที่ชาวเน็ตคุยกันกับระดับฝุ่นละอองเล็กๆเจิ้ง ซีฉี อาจารย์จากเอ็มไอทีและผู้อำนวยการไชน่าฟิวเจอร์ซิตี้แลบของมหาวิทยาลัย ฟันธงว่าข้อสรุปที่ได้ไม่ได้ซับซ้อนใดๆคือ “ยิ่งระดับมลพิษเพิ่มสูง ความสุขของคนจีน ซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกยิ่งลดลง”

ปกติชาวเมืองแดนมังกรก็ใช้ชีิวิตอย่างยากลำบากกันอยู่แล้ว ทั้งปัญหาราคาบ้านพุ่งสูง กังวลเรื่องอาหารไม่ปลอดภัย แถมบริการสาธารณะยังย่ำแย่ หนำซ้ำต้องมาเจออากาศสกปรก โดยเฉพาะฝุ่นละอองเล็กๆ ที่มาจากโรงไฟฟ้าถ่านหินและโรงงานอุตสาหกรรมที่มีโอกาสเข้าไปฝังในปอด เหล่านี้เป็นเรื่องที่ชนชั้นกลางจีนผู้มั่งคั่งบ่นกันมานานแสนนาน

งานวิจัยจากองค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) และกลุ่มอื่นๆ สรุปตรงกันว่า การสูดมลพิษทางอากาศเป็นสาเหตุให้ชาวจีนเสียชีวิตก่อนวัยอันควรปีละกว่า 1 ล้านคนอนุภาคทั้งขนาดเล็กและที่ใหญ่ขึ้นมาหน่อย ไม่ว่าจะเป็นไนโตรเจนไดออกไซด์ (เอ็นโอทู) ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (เอสโอทู) และโอโซน มีแนวโน้มเกี่ยวข้องกับระดับการรับรู้ ผลิตภาพแรงงาน และสัมฤทธิผลด้านการศึกษา

การวิจัยเชิงสังเกตการณ์พบด้วยว่า ในวันที่มลพิษหนักผู้คนมีแนวโน้มก่อพฤติกรรมก้าวร้าวหุนหันพลันแล่น ชนิดที่ทำลงไปแล้วอาจเสียใจภายหลังมากขึ้น ซึ่งทางการเมืองใหญ่ที่กำลังประสบปัญหาและรัฐบาลปักกิ่งรับรู้เรืื่องนี้และผลเสียที่ตามมาดี

รัฐบาลปักกิ่งเคยหน้าแตกไปแล้วหลายต่อหลายครั้งในปี 2555 เมื่อสถานทูตสหรัฐประจำกรุงปักกิ่งทวีตตัวเลขระดับมลพิษในแต่ละวันสูงกว่าตัวเลขของทางการ สุดท้ายผู้นำจีนต้องประกาศทำสงครามกับอากาศพิษ

ทางการจีนตัดสินใจตั้งสถานีตรวจอากาศหลายร้อยแห่งทั่วประเทศ และใช้มาตรฐานที่เข้มงวดยิ่งขึ้นโดยเฉพาะกับฝุ่นละอองขนาดเล็กเส้นผ่าศูนย์กลางไม่ถึง 2.5 ไมครอน หรือพีเอ็ม 2.5 ที่มีขนาดเล็กมากเทียบกับค่าเฉลี่ยเส้นผมมนุษย์ที่มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 60-90 ไมครอน

กฎใหม่กำหนดว่า ในรอบ 24 ชั่วโมงความเข้มข้นของอนุภาคอันตรายเหล่านี้จะต้องไม่เกิน 35 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ขณะที่คู่มือคุณภาพอากาศของดับเบิลยูเอชโอเข้มงวดยิ่งขึ้นไปอีก กำหนดไว้ไม่เกิน 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

ในเมืองที่มลพิษหนักสุดของจีน รวมถึงกรุงปักกิ่งและเทียนจิน ซึ่งมีประชากรกว่า 35 ล้านคน ค่าพีเอ็ม 2.5 สูงเกินมาตรฐานราว 2, 3 หรือ 4 เท่าอยู่บ่อยคร้ง

เจิ้ง และเพื่อนนักวิจัยวัดว่า อากาศพิษในเมืองส่งผลต่ออารมณ์ผู้คนในแต่ละวันแค่ไหน โดยใช้อัลกอริธึมการเรียนรู้ของเครื่องกลสืบค้นข้อความกว่า 200 ล้านข้อความจากผู้คนใน 144 เมืองที่โพสต์ผ่านเว่ยป๋อเมื่อปี 2557

เว่ยป๋อเป็นไมโครบล็อกรายใหญ่สุดของจีน คล้ายๆ กับทวิตเตอร์ ถึงกลางปี 2561 มีผู้ใช้ที่ใช้งานอยู่เสมอ 455 ล้านคน

คณะนักวิจัยสร้างดัชนีแสดงความสุขจากคีย์เวิร์ดและบริบท เทียบกับระดับพีเอ็ม 2.5 ที่เพิ่มขึ้นหรือลดลง

“เราพบความสัมพันธ์เชิงลบอย่างมีนัยสำคัญ ระหว่างระดับมลพิษกับระดับความสุข เมื่ออันหนึ่งเพิ่มอีกอันก็ลด ผู้หญิงอ่อนไหวกับมลพิษสูงกว่าผู้ชาย” เจิ้งอธิบาย

ใน 144 เมืองความเข้มข้นพีเอ็ม 2.5 รายวันเฉลี่ยที่ 55 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เกินมาตรฐานดับเบิลยูเอชโอกว่าสองเท่า และหลายครั้งก็สูงกว่านี้มากข้อน่าสังเกตคือตอนนี้ชาวจีนกว่าครึ่ง หรือเกือบ 700 ล้านคนล้วนอาศัยอยู่ในเมืองคนที่กังวลมากว่าอากาศแย่ทำให้สุขภาพเสื่อมถอย มีแนวโน้มย้ายไปอยู่ในเมืองที่สะอาดกว่า ส่วนคนที่อยู่ในเขตเมืองสกปรกสุดๆ ก็ตระหนักถึงพิษภัยต่อสุขภาพมากขึ้น

ดัชนีที่ทีมวิจัยของเจิ้งสร้างขึ้นจึงมีโอกาสนำไปใช้เป็นเครื่องมือ ช่วยให้รัฐบาลเข้าใจกับความวิตกกังวลของประชาชนได้ แต่ปกติรัฐบาลจีนก็สอดส่องสิ่งที่ชาวเน็ตโพสต์และคุยกันบนโซเชียลมีเดียมานานแล้ว เพื่อติดตามว่าประชาชนคิดอะไร

หลิว ปิงเจียง เจ้าหน้าที่กระทรวงสิ่งแวดล้อมเผยว่าระหว่างวันที่ 1 ต.ค.2561-31 มี.ค.2562รัฐบาลต้องการลดความเข้มข้นของพีเอ็ม 2.5 ในเขตปักกิ่ง-เทียนจิน-เหอเป่ยลง 3% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า เมืองที่ทำไม่ได้ตามเป้าจะต้องโดนลงโทษด้วยมาตรการแสดงความรับผิดชอบ แต่ตอนนี้รัฐบาลยังไม่ได้ข้อสรุป