นโยบายการคลังผ่อนคลายดันหนี้ศก.เกิดใหม่เอเชียพุ่ง

นโยบายการคลังผ่อนคลายดันหนี้ศก.เกิดใหม่เอเชียพุ่ง

ไอเอ็มเอฟคาดการณ์ 40% ของหนี้ที่เพิ่มขึ้นทั่วโลกในช่วง 10 ปีหลังสุดมาจากจีน

สถาบันการเงินระหว่างประเทศ (ไอไอเอฟ) คาดการณ์ว่า ปริมาณหนี้รัฐบาลในบรรดาเศรษฐกิจเกิดใหม่เอเชียแตะที่ 50% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ในไตรมาส 3 ของปีที่แล้ว สะท้อนถึงแนวโน้มที่ว่า ภูมิภาคนี้ใช้นโยบายอนุรักษนิยมด้านการคลังน้อยลง

แต่การเพิ่มขึ้นของปริมาณหนี้สาธารณะบ่งชี้ถึงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต หากเศรษฐกิจโลกประสบภาวะย่ำแย่ลงอย่างฉับพลัน ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์บางรายคาดว่า 2 ปีข้างหน้าถือเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ เนื่องจากมีแนวโน้มที่การเติบโตจะชะลอตัวลง

“การเข้าสู่วิกฤติทางการเงินขณะที่สถานะทางการคลังอ่อนแอทำให้ความรุนแรงและความยาวนานของภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่กำลังจะเกิดขึ้น ยิ่งเลวร้ายลง โดยเฉพาะในบรรดาเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ เนื่องจากนโยบายทางการคลังมีแนวโน้มที่จะเป็นไปในทิศทางเดียวกับเศรษฐกิจ” วิเตอร์ กัสปาร์ ผู้อำนวยการแผนกกิจการการคลังของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) กล่าว

แม้หนี้รัฐบาลในประเทศเกิดใหม่เอเชียอยู่ในช่วงไต่ระดับขึ้น แต่ยังถือว่าต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศอย่างญี่ปุ่น ซึ่งอยู่ที่ 223.1% ของจีดีพี และสหรัฐอยู่ที่ 100.8% ต่อจีดีพี

“หนี้สาธารณะที่อยู่ในระดับค่อนข้างต่ำทำให้ภูมิภาคมีกันชนเพิ่มขึ้นสำหรับป้องกันภาวะขาลงทั่วโลกที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต และทำให้บรรดาผู้กำหนดนโยบายสามารถใช้นโยบายการคลังแบบขยายตัวเพื่อสนับสนุนความต้องการได้” เฟรเดอริก นอยมันน์ หัวหน้าร่วมฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจเอเชียของเอชเอสบีซี ระบุ

นอยมันน์ กล่าวยกตัวอย่างในจีนว่า รัฐบาลกลางกำลังผ่อนคลายการคลังมากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยมาตรการลดภาษีสำหรับครัวเรือนและบริษัทบางกลุ่ม ซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถดำเนินการได้โดยไม่เดือดร้อน เนื่องจากก่อหนี้สาธารณะค่อนข้างน้อย

“หนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อยสะท้อนถึงการรวมเป็นหนึ่งเดียวกันของภาครัฐ และความต้องการก่อหนี้โน้มเอียงไปทางภาคเอกชนมากขึ้น อย่างในประเทศจีน เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย และฟิลิปปินส์” โฮ อี้ คอร์หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ สำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน+3 กล่าว

โฮ เสริมว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกมีความระมัดระวังอย่างมาก เมื่อดูจากการบริหารจัดการการเงินสาธารณะ และว่า ไม่ว่าจะเป็นหนี้รูปแบบใดก็ตาม หากอยู่ในระดับสูงกว่าขอบเขตที่ยั่งยืน อาจสร้างความเปราะบางในหลายด้าน และดูเหมือนบรรดาผู้กำหนดนโยบายในภูมิภาคก็ตระหนักถึงความเสี่ยงนี้

หนี้สาธารณะที่อยู่ระดับต่ำและหนี้เอกชนที่อยู่ระดับค่อนข้างสูงของเอเชีย เป็นส่วนหนึ่งของภาพกว้างการกู้สินเชื่อทั่วโลก โดยไอไอเอฟ ระบุว่า ระดับหนี้สินทั่วโลกแตะที่ 244 ล้านล้านดอลลาร์ในไตรมาส 3 ของปีที่แล้ว 

ส่วนหนี้เอกชนที่ไม่ใช่ภาคการเงินในเศรษฐกิจเกิดใหม่เอเชียทะยาน 5% จากปีก่อนหน้ามาอยู่ที่ 124% ของจีดีพี เทียบกับ 101.6% ในญี่ปุ่น และ 72.6% ในสหรัฐ

ไอเอ็มเอฟ คาดการณ์ว่า 40% ของหนี้ที่เพิ่มขึ้นทั่วโลกในช่วง 10 ปีหลังสุดมาจากจีน ขณะที่ต้นเหตุที่น่ากังวลที่สุดคือการเติบโตของหนี้เอกชนนอกภาคการเงินในประเทศ ซึ่งคาดว่าแตะที่ 157% ของจีดีพีในไตรมาส 3 ปีที่แล้ว

ศาสตราจารย์เสียง ซ่งโซว อดีตนักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารการเกษตรแห่งประเทศจีน กล่าวเมื่อเดือนที่แล้วว่า การจะแก้ปัญหาหนี้ อันดับแรก รัฐบาลต้องชำระหนี้คืนภาคธุรกิจก่อนรัฐวิสาหกิจต้องใช้หนี้ที่กู้ยืมมาจากบริษัทเอกชน และบริษัทเอกชนรายใหญ่ก็ต้องชำระหนี้คืนบริษัทรายเล็กกว่าด้วย

ฉัว ฮัก บิน นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของเมย์แบงก์ กิมเอ็ง ระบุว่าความวิตกเกี่ยวกับระดับหนี้สินที่เพิ่มขึ้นของจีนไม่ต่างกับความกังวลในพื้นที่อื่น ๆ ของเอเชีย แม้ระดับหนี้รัฐบาลส่วนใหญ่ในเอเชียอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ แต่ระดับหนี้ของฮ่องกง อินเดีย ปากีสถาน และสิงคโปร์ซึ่งอยู่ที่ระหว่าง 67-112% ของจีดีพี ตอกย้ำถึงแนวทางที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนในภูมิภาค

ขณะเดียวกัน หนี้สาธารณะที่สูงขึ้นในมาเลเซีย กระตุ้นให้นายกรัฐมนตรีมหาธีร์ โมฮัมหมัด ต้องระงับโครงการท่าเรือและทางรถไฟที่จีนสนับสนุน ขณะที่ในพื้นที่อื่น ๆ เริ่มมีความกังวลเกี่ยวกับ “กับดักหนี้” ที่เกิดจากการกู้ยืมภายใต้โครงการนำร่องเส้นทางสายไหมใหม่ ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของรัฐบาลปักกิ่ง

ส่วนศรีลังกาได้มอบอำนาจควบคุมท่าเรือฮัมบันโตตาที่ได้รับทุนสนับสนุนจากจีนให้แก่รัฐบาลปักกิ่ง หลังไม่สามารถหาเงินมาชำระหนี้ที่เกิดขึ้นระหว่างการก่อสร้างท่าเรือดังกล่าว ขณะที่ปากีสถานถูกบีบให้ต้องขอเงินช่วยเหลือจากไอเอ็มเอฟเมื่อต.ค. ปีที่แล้วส่วนหนึ่งเพื่อนำไปชำระหนี้ที่เกิดจากโครงการเส้นทางสายไหมใหม่