ส่องสตอรี่ใหม่ SAAM 3ปีกำลังผลิต100เมกะวัตต์

ส่องสตอรี่ใหม่ SAAM 3ปีกำลังผลิต100เมกะวัตต์

ราคาหุ้นไม่วิ่ง !! แต่แผนธุรกิจ 3 ปี พร้อมออกมาโลดแล่น 'พดด้วง คงคามี' ผู้ก่อตั้ง 'เอสเอเอเอ็ม เอ็นเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์' เรียกเรตติ้งแฟนคับ เล็งพัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียนประเภทอื่นเพิ่ม

บรรยากาศการลงทุน ภาพลักษณ์ต่อหุ้นไอพีโอไม่สวยหรู !! อาจเป็นต้นเหตุที่ทำให้ราคา หุ้น เอสเอเอเอ็ม เอ็นเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ หรือ SAAM ของ 'กลุ่มคงคามี' ในฐานะหุ้นใหญ่สัดส่วน 73.33% ราคาซื้อขายยังต่ำกว่าไอพีโอ 1.80 บาทต่อหุ้น นับตั้งแต่เข้าซื้อขายในตลาดหุ้นเมื่อวันที่ 7 ม.ค. 2562 ปัจจุบันซื้อขายเฉลี่ย 1.65 บาทต่อหุ้น 

เมื่อความฮอตฮิตที่นักลงทุนเคยมีต่อหุ้นไอพีโอกลายเป็นความกังวล (Panic) ที่เหล่านักลงทุนมีต่อหุ้นไอพีโอ 'พดด้วง คงคามี' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการบริหาร บมจ.เอสเอเอเอ็ม เอ็นเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ หรือ SAAM คงต้องเร่งมือเรียกศรัทธากลับคืนมา...

หากย้อนดูประสบการณ์การทำงานที่มีมานานกว่า 10 ปีของ 'พดด้วง' จะพบว่า มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เริ่มตั้งแต่การติดต่อสรรหาที่ดินและระบบสายส่งที่เหมาะสม ตลอดจนดำเนินการขอใบอนุญาตต่างๆ ในการประกอบธุรกิจโรงไฟฟ้ากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง 

'ธุรกิจของเราคล้ายกับนิคมอุตสาหกรรมของผู้พัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าแบบครบวงจร หลังจากที่ได้เงินจากการระดมทุนเข้ามา ประกอบกับการเป็นบริษัทจดทะเบียนจะช่วยให้มีศักยภาพและแข็งแกร่งมากขึ้น ทั้งในแง่ขยายช่องทางดำเนินธุรกิจและฐานะการเงิน ซึ่งเป็นโอกาสการเพิ่มศักยภาพการเติบโตให้รวดเร็ว'  

สำหรับ SAAM ประกอบธุรกิจพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเพื่อจำหน่าย และลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยในปัจจุบันได้ดำเนินธุรกิจ แบ่งเป็น 3 ธุรกิจ ประกอบด้วย 'ธุรกิจจัดหาสถานที่ตั้งและให้บริการที่เกี่ยวข้องภายในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน' คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 75% โดยดำเนินงานโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทยร่วมกับลูกค้า โดยได้รับค่าตอบแทนจากการให้บริการภายใต้สัญญาระยะยาว 20 ถึง 25 ปี จำนวน 17 โครงการ บนพื้นที่กว่า 750 ไร่ 

โดย 50% ของสัญญา 17 โครงการสามารถต่อสัญญากับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคต่อเนื่องครั้งละ 5 ปี โดยอัตโนมัติหลังหมดสัญญาแรก และอีก 50% ที่เหลือเป็นสัญญาที่รัฐบาลกำหนดราคารับซื้อไฟฟ้าแบบคงที่ (Fixed feed-in-tariff–FiT) หลังครบระยะตามสัญญา 20 ปี รัฐบาลไทยกำหนดให้ต้องพัฒนาโครงการขึ้นมาใหม่ ในขณะที่ในประเทศญี่ปุ่นเหมือนครบสัญญา FiT สามารถขายไฟฟ้าต่อได้

'ธุรกิจพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน' คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 25% เพื่อจำหน่ายให้กับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยในปี 2559 บริษัทได้เล็งเห็นโอกาสทางธุรกิจและได้เริ่มเข้าไปศึกษาและพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลในประเทศญี่ปุ่น ปัจจุบันบริษัทมีโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลที่อยู่ระหว่างดำเนินการพัฒนาในประเทศญี่ปุ่นเพื่อการจำหน่ายผ่านบริษัทย่อย จำนวน 8 บริษัท 

โดยบริษัทพัฒนาจนได้รับใบอนุมัติสนับสนุนค่าไฟฟ้าระบบ FiT ที่ 24 เยนต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมงแล้ว จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ โครงการ SAAM Oita 01 Biomass Power และโครงการ SAAM Oita 02 Biomass Power ปริมาณกำลังการผลิตติดตั้งโครงการละ 19.9 เมกะวัตต์ ซึ่งเมื่อบริษัทฯ พัฒนาจนเป็นโครงการที่พร้อมในการก่อสร้างตามเงื่อนไขของสัญญา บริษัทจะทำการโอนขายเงินลงทุนในบริษัทย่อยให้แก่ลูกค้าเพื่อให้ลูกค้าเข้าดำเนินการก่อสร้างและดำเนินกิจการโรงไฟฟ้าภายใต้บริษัทย่อยดังกล่าวต่อไป โดยในปัจจุบันพัฒนาไปกว่า 70% แล้ว และคาดว่าจะสามารถรับรู้รายได้ได้ในช่วงปลายปี 2562 

และ 'ธุรกิจลงทุนในกิจการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน' โดยปัจจุบันเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ภายใต้โครงการ SAAM-SP1 ซึ่งตั้งอยู่ที่ อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี โดยมีปริมาณพลังงานไฟฟ้าเสนอขายตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจำนวน 2.0 เมกะวัตต์ (MW) ในระบบ FiT ที่อัตรารับซื้อ 5.66 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง โดยเริ่ม COD เมื่อเดือนธันวาคม 2558

'พลังงานทดแทนใหม่ๆ' เรือธงสู่ความสำเร็จของ 'เอสเอเอเอ็ม เอ็นเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์' ผู้ก่อตั้งยืนยันกับ 'กรุงเทพธุรกิจ BizWeek' 

เขา ถือโอกาสฉายแผนธุรกิจในช่วง 3 ปีข้างหน้า (2561-2563) ให้ฟังว่า บริษัทจะมุ่งเน้นพัฒนาโครงการธุรกิจพลังงานหมุนเวียนอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในภูมิภาคเอเชียที่มีอัตราการเติบโตย้อนหลัง 10 ปี ในระดับที่สูงมาก โดยตอนนี้บริษัทศึกษาความเสี่ยงในแต่ละประเทศ (Country Risk) ทำให้มีความสนใจประเทศที่มีพื้นที่สีเขียว หรือเป็นประเทศที่มีมั่นคงทางเศรษฐกิจ และมีนโยบายสนับสนุนพลังงานทดแทนจากภาครัฐในประเทศนั้น ๆ 

โดยเฉพาะใน กลุ่มอาเซียน , ญี่ปุ่น และไต้หวัน รวมทั้งไทย แต่ในไทยมองว่าช่วง 2-3 ปีนี้ ทางรัฐบาลได้ยุติการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเนื่องจากได้จำนวนเมกะวัตต์มากกว่าที่คาดการณ์ไว้แล้ว ทำให้ประเทศไทยอาจจะยังไม่มีความน่าสนใจในขณะนี้แต่ก็เตรียมความพร้อมไว้เสมอ ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่เป็นเป้าหมายการลงทุนของเรา !! 

โดยตั้งเป้าหมายภายในปี 2563 จะพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อจำหน่าย จำนวนรวม 100 เมกะวัตต์ (MW) และจะเข้าร่วมลงทุนกับบริษัทอื่น ซึ่งเป็นผู้ดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการดำเนินงานโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน รวมถึงเข้าร่วมลงทุนในธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่กลุ่มบริษัทได้พัฒนาไปแล้ว

'ปัจจุบันบริษัทมีการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน เพื่อจำหน่ายให้กับกลุ่มลูกค้ามีกำลังการผลิตอยู่ในมือแล้วประมาณ 40 เมกะวัตต์ และจะต้องมีการพัฒนาเพิ่มเติมอีกจำนวน 60 เมกะวัตต์ หรือราว 7-8 โครงการ เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ที่ 100 เมกะวัตต์'

อย่างไรก็ตาม จะเป็นการลงทุนในต่างประเทศเป็นหลัก ซึ่งปัจจุบันมีโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลในประเทศญี่ปุ่นที่อยู่ระหว่างพัฒนาจนเป็นโครงการที่พร้อมก่อสร้างเพื่อส่งมอบให้แก่ลูกค้า นั่นคือ โครงการ SAAM Oita 01 Biomass Power และ โครงการ SAAM Oita 02 Biomass Power ปริมาณกำลังการผลิตติดตั้งโครงการละ 19.9 เมกะวัตต์ คาดว่าจะส่งมอบได้ภายในปีนี้  

'หากสามารถส่งมอบโครงการพัฒนาโรงไฟฟ้าชีวมวลในประเทศญี่ปุ่นภายในปีนี้คาดว่ารายได้จะแตะ 100 ล้านบาทขึ้นไป' เจ้าของ SAAM ย้ำเช่นนั้น 

นอกจากนี้ บริษัทยังมองหาโอกาสขยายการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยงเนื่อง อาทิ การเป็นผู้รับจ้างผลิตวัตถุดิบให้กับโรงไฟฟ้า หรือลงทุนในธุรกิจจัดหาเชื้อเพลิงให้กับโรงไฟฟ้าเพื่อให้ครบวงจรมากขึ้น ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาคาดว่าจะได้ข้อสรุปราวปี 2563 

'พดด้วง' เล่าต่อว่า สำหรับธุรกิจจัดหาสถานที่ตั้งและให้บริการที่เกี่ยวกับภายในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นธุรกิจแรกในการดำเนินธุรกิจของบริษัทลักษณะการทำธุรกิจเป็นการดำเนินการร่วมกันกับ บริษัท บางกอกโซลาร์พาวเวอร์ จำกัด (BSP) ซึ่งบริษัทจะเป็นผู้จัดหาที่ดินและสายส่งที่เหมาะสม และ BSP จะมาลงทุนก่อสร้างและดำเนินกิจการโรงไฟฟ้าในที่ดินของบริษัทโดยจัดเก็บค่าบริการเป็นรายเดือนภายใต้สัญญาระยะยาว 20-25 ปี

อย่างไรก็ตาม โมเดลในการทำธุรกิจของตนเองนั้น เขาบอกว่า ตนเองมีเป้าหมายจะพยายามจะทำงานใน 1 งาน เพื่อให้เกิด 3-4 ธุรกิจ อาทิ ธุรกิจที่ 1 ที่จะเกิดจากงานงานเดียว คือ การพัฒนาโครงการเอง ซึ่งผมได้รับสิทธิใบอนุญาตขายไฟฟ้า หรือ PPA และจำหน่ายไปก่อน ทำให้ผมมีกำไรจากการจำหน่าย และนำกำไรนี้ไปซื้อที่ดินจากก่อนหน้านี้ที่ไปจับจองสิทธิไว้ เพื่อให้คนที่จะลงทุนมาลงทุนบนที่ดินผม ซึ่งใบ PPA ที่ผูกกับที่ดินผม ทำให้ไม่สามารถทำบนที่ดินแปลงอื่นได้ 

ฉะนั้น จะได้ธุรกิจที่ 2 คือ ธุรกิจจัดหาสถานที่ตั้งและให้บริการ เขาจะมาลงทุนบนที่ดินของเรา และก็จะเก็บค่าเช่าไป และธุรกิจที่ 3 บางโรงไฟฟ้าที่มีความเกี่ยวข้องกับชีวมวล จะต้องซื้อเชื้อเพลิงเป็นวัตถุดิบ บริษัทก็จะขอสิทธิในการจัดหาและจัดส่งเชื้อเพลิงให้เขา และธุรกิจที่ 4 บริษัทมีสิทธิขอซื้อหุ้น ในสัดส่วนที่เล็กน้อย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเราก็ต้องดูว่าอันไหนที่มีผลตอบแทนจากการลงทุนดีที่สุด ซึ่ง 'ธุรกิจที่ผมชอบทำมากที่สุด คือ  1 และ 2 หรือ 3 บ้าง เนื่องจากได้มาร์จิ้นดี'  

สำหรับผลประกอบการปี 2562 คาดว่ารายได้จะยังคงเติบโตต่อเนื่องจากปีก่อน เป็นไปตามการเติบโตของธุรกิจจัดหาสถานที่ตั้งและให้บริการและการจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ กำลังการผลิต 2 เมกะวัตต์ รวมถึงการรับรู้รายได้จากธุรกิจใหม่ ธุรกิจพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเพื่อจำหน่าย ที่คาดจะส่งมอบงานให้กับลูกค้าและรับรู้รายได้ในช่วงปลายปีนี้ 

ขณะเดียวกันก็คาดหวังว่าอัตรากำไรสุทธิปีนี้จะกลับมาอยู่ในระดับเดิม เหมือนกับในปี 2559 ที่อยู่ที่ 41.8% จากปี 2560 ที่ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 26% เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายจากการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ ขณะที่ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2561ปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ 33% แล้ว และเชื่อว่าจะกลับขึ้นในอยู่ในระดับดังกล่าวได้ จากไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมแล้ว และจะพยายามรักษาระดับอัตรากำไรขั้นต้นไว้ให้อยู่ในระดับใกล้เคียงกับปีที่ผ่านๆ มาเฉลี่ยอยู่ที่ 73%

ท้ายสุด 'พดด้วง' ฝากไว้ว่า อยากให้นักลงทุนมั่นใจถึงแผนธุรกิจของบริษัทที่ไม่เหมือนใคร หรือเรียกว่าเป็น Passive income อย่างแท้จริง และธุรกิจลักษณะนี้ก็จะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากการพัฒนาโครงการฯ เพื่อจำหน่าย และนำกลับมาซื้อที่ดิน โดยมีการผูกขาดการให้เช่าที่ดินเป็นสัญญาระยะยาวทำให้ไม่เกิดความเสี่ยง มีรายได้และกำไรที่แน่นอน