‘คิวซี่’ปูทางส่งออกเครื่องสำอาง-อาหารเสริม

‘คิวซี่’ปูทางส่งออกเครื่องสำอาง-อาหารเสริม

ทีเซลส์ผนึก 2 มหาวิทยาลัยเปิดโปรแกรม “คิวซี่' ปี 3 ยกระดับคุณภาพและความปลอดภัยในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและเสริมอาหาร หนุนธุรกิจเอสเอ็มอีและโอท็อปเข้าถึงบริการทดสอบมาตรฐานสากล

‘คิวซี่’ปูทางส่งออก เครื่องสำอาง-อาหารเสริม

ทีเซลส์ผนึก 2 มหาวิทยาลัยเปิดโปรแกรม “คิวซี่' ปี 3 ยกระดับคุณภาพและความปลอดภัยในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและเสริมอาหาร หนุนธุรกิจเอสเอ็มอีและโอท็อปเข้าถึงบริการทดสอบมาตรฐานสากล เพิ่มขีดความสามารถสู่เวทีโลก ระบุช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่าย 70% คาดปีนี้มีเข้าร่วม 18 ราย

QSE หรือโครงการ “การยกระดับคุณภาพ ความปลอดภัย และประสิทธิผลของเครื่องสำอางและเสริมอาหาร” โดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (ทีเซลส์) ร่วมกับมหาวิทยาลัยนเรศวรและและมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้เข้าถึงบริการการวิเคราะห์ทดสอบผลิตภัณฑ์ตามมาตรฐานสากล ผู้บริโภคเกิดความเชื่อมั่นในแบรนด์และผลิตภัณฑ์

มาตรฐานผลิตภัณฑ์ด้านชีววิทย์

นางสาวพิกุลทอง ขอเพิ่มทรัพย์ ผู้อำนวยการโปรแกรมบริหารผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและเสริมอาหาร ทีเซลส์ กล่าวว่า ในช่วง 2 ปีแรกของโครงการได้ให้การสนับสนุนเฉพาะผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ซึ่งมีมูลค่าทางการตลาดถึง 5.7 หมื่นล้านบาท และมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ต่อมาได้ขยายผลสู่ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ซึ่งมีมูลค่า 8.7 หมื่นล้านบาทสูงกว่าเครื่องสำอาง

ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารส่วนใหญ่จำหน่ายผ่านทางออนไลน์ มีผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก 6,000 ราย รายใหญ่ 10 ราย มีส่วนแบ่งตลาดมากกว่า 60% ฉะนั้น จะทำอย่างไรให้ผู้ประกอบการระดับกลางและเล็กสามารถที่จะแข่งขันได้ คำตอบคือ การสร้างมาตรฐานคุณภาพ ความปลอดภัยทั้งในระดับก่อนคลินิกและระดับคลินิกตามหลักเกณฑ์และมาตรฐานสากล

จึงเป็นที่มาของโครงการคิวซี่ โดยผู้ประกอบการจะได้รับสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการทดสอบ 70% แต่ไม่เกิน 500,000 บาท คาดว่าปีนี้จะมีผู้เข้าร่วม 18 ราย (ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและเสริมอาหาร) จะมีผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมกลับคืนมา 2 เท่าจากงบสนับสนุน 7 ล้านบาทภายในระยะเวลา 3 ปี

รศ.เนติ วระนุช ผู้อำนวยการสถานวิจัยเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า ตลาดเครื่องสำอางและเสริมอาหาร รวมกันมูลค่าแสนล้าน อีกทั้งมีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะตลาดเครื่องสำอาง ประกอบกับตลาดเสริมอาหารที่เข้ามาสนับสนุนไม่แค่เพื่อสุขภาพอย่างเดียวแต่เป็นผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพเพื่อความงาม ทำให้เติบโตไปด้วยกัน

ทั้งสองผลิตภัณฑ์ต้องสามารถบ่งบอกถึงความมีประสิทธิภาพ ตอบโจทย์ความคาดหวังให้กับผู้บริโภคได้ จึงต้องมีการตรวจสอบให้เห็นถึงประสิทธิภาพ ฉะนั้น การทดสอบจึงมีความสำคัญมากในการยืนยันว่า แบรนด์ สินค้าหรือผู้ผลิตนั้นมีคุณภาพความปลอดภัยที่สามารถแข่งขันในระดับบริษัทข้ามชาติได้

ทั้งนี้ ม.นเรศวร เป็นหน่วยงานวิเคราะห์ทดสอบผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและเสริมอาหาร อย่างครบวงจร มีบริษัทข้ามชาติเข้ามาใช้บริการ อาทิ พีแอนด์จี แอมเวย์ แบล็คมอร์ เครื่องสําอางคาแรงค์ ยูนิลีเวอร์ ในส่วนของผู้ประกอบการหากเป็นรายใหญ่จะมีความพร้อมครบทั้งด้านความรู้ บุคลากรและเงินทุน ที่จะปรับตัวรับการแข่งขันในทุกรูปแบบ แต่สำหรับเอสเอ็มอีและโอทอปจะมีปัญหาความไม่พร้อม เนื่องจากผู้ประกอบการถนัดขาย แต่ไม่มีความรู้ด้านวิชาการ จึงไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไรในการเข้ารับการทดสอบ จึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจก่อน เพื่อเตรียมความพร้อมว่า ผลิตภัณฑ์ของตนควรต้องทดสอบอะไรบ้าง เพื่ออะไร

ปัญหาที่ผ่านมาคือ การคุยกันระหว่างหน่วยทดสอบกับผู้ประกอบการ เพราะผู้ประกอบการอยากจะทดสอบแต่ไม่มีข้อมูลอะไรให้กับหน่วยทดสอบ ทำให้การทำงานลำบาก แตกต่างจากบริษัทจะมีความพร้อมในการให้ข้อมูล เพื่อให้หน่วยงานทดสอบทำงานได้ทันที ดังนั้น จึงต้องจัดงานสัมมนาให้ความรู้เพื่อเตรียมความพร้อมยกระดับมาตรฐานในประเทศและต่างประเทศ

ฮับวัตถุดิบสมุนไพรออร์แกนิค

ภญ.นีรนารถ จิณะไชย Head Regulatory Affairs บริษัท จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า เครื่องสำอางจากไทยเป็นที่ยอมรับในตลาดอาเซียนและยังเอื้อกับธุรกิจเสริมอาหาร โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่สามารถใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ส่งให้กับผู้ผลิตทั้งในประเทศและต่างประเทศ เนื่องจากปัจจุบันส่วนใหญ่ 99% นำเข้าวัตถุดิบการผลิตจากต่างประเทศ

จึงเป็นโอกาสที่ดีหากผู้ประกอบการไทยจะเข้ามาทำตลาดนี้และสามารถสร้างเป็น “ฮับสมุนไพรออร์แกนิค” ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดโลกโดยเฉพาะยุโรป

“จุดเริ่มต้นที่สำคัญมาจากการทดสอบผลิตภัณฑ์ทั้งด้านคุณภาพ ประสิทธิภาพ ความปลอดภัย ตามที่ทีเซลส์พยายามผลักดันให้ผู้ประกอบการไทยให้ความสนใจ เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับสินค้าที่มีคุณภาพและความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล และเป็นไปตามกฎระเบียบของแต่ละประเทศ ซึ่งสุดท้ายจะทำให้การดำเนินธุรกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืน”