สหภาพการทางฯ ยื่นหนังสือถึง 'อาคม' ติงยืดสัมปทานทางด่วน 37 ปี

สหภาพการทางฯ ยื่นหนังสือถึง 'อาคม' ติงยืดสัมปทานทางด่วน 37 ปี

สหภาพการทางฯ ยื่นหนังสือถึง “อาคม” ติงยืดสัมปทานทางด่วน 37 ปี แลกค่าโง่ 1.3 แสนล้านบาท ยันควรจ่ายเพียง 4.3 พันล้านบาทตามศาลตัดสิน ฝ่ายบริหารเร่งทบทวนรายละเอียด เตรียมเสนอบอร์ด 23 ม.ค.นี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 10.00 น.ของวันนี้ (16 ม.ค. 2562) ตัวแทนสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (สร.กทพ) รวม 200 คน ได้เดินทางเพื่อเข้ายื่นหนังสือต่อนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และคณะกรรมการกำกับโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 โดยมีนายกฤเทพ สิมลี รองปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน โดยการยื่นหนังสือครั้งนี้สหภาพแรงงานฯ ต้องการคัดค้านเรื่องการต่อสัญญาอายุสัมปทาน 37 ปี ที่เป็นไปตามมติบอร์ด กทพ.อนุมัติให้ดำเนินการแลกสัมปทานกับหนี้สินคดีความ มูลค่ารวม 1.3 แสนล้านบาท

S__75112470

ด้านนายกฤเทพ สิมลี รองปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการกำกับโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 เผยว่า ฝ่ายบริหาร กทพ.ได้มารายงานถึงผลการดำเนินการ พร้อมกับนำข้อมูลที่สหภาพฯ เสนอ รวมไปถึงเรื่องของข้อมูลความเสี่ยง โดยหลังจากนี้ ฝ่ายบริหาร กทพ.จะนำข้อมูลรายละเอียดทั้งหมดไปพิจารณา ก่อนจะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ในวันที่ 23 ม.ค.2562 หากได้ข้อสรุปเรื่องของสัญญาเรียบร้อยก็จะนำเสนอต่อที่ประชุมอีกครั้ง รวมถึงหากมีการปรับแก้เงื่อนไขสัญญาก็จะต้องนำเสนอที่สำนักงานอัยการสูงสุด และคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่มาของวงเงิน 1.3 แสนล้านบาท ที่บอร์ดประเมินเป็นมูลค่าหนี้ที่จะต้องจ่ายให้กับเอกชน จนเป็นเหตุให้เจรจาขยายสัมปทาน 37 ปีเพื่อชดเชยหนี้ดังกล่าว เป็นมูลค่าหนี้ที่มาจากคดีที่ศาลตัดสินแล้ว วงเงิน 4.3 พันล้านบาท คดีที่อยู่ระหว่างการฟ้องร้องเอกชนมีสิทธิ์เรียกร้องหนี้ มูลค่า 6.1 หมื่นล้านบาท รวมมูลค่าหนี้ราว 6.5 หมื่นล้านบาท อีกทั้งยังมีหนี้ที่ยังไม่เกิด แต่เป็นลักษณะคดีที่เอกชนมีสิทธิ์ฟ้อง 7 หมื่นล้านบาท ทำให้บอร์ดรวมหนี้ส่วนนี้ลงไป เพราะต้องการล้างหนี้ทั้งหมดของ กทพ.ให้เป็นศูนย์ เพื่อเดินหน้าพัฒนาโครงการในอนาคตต่อไป

ทั้งนี้ จุดยืนของสหภาพการทางฯ คือการไม่เห็นด้วยกับแนวทางที่จะขยายสัญญาสัมปทาน 37 ปี ให้แก่ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีอีเอ็ม (BEM) โดย กทพ.จะต้องจ่ายหนี้เฉพาะตามคำพิพากษาของศาล จำนวน 4.3 พันล้านบาท เนื่องจากศาลมีคำพิพากษาให้ กทพ. แพ้คดีเพียงคดีเดียวเท่านั้น ดังนั้นหนี้ตามคำพิพากษาจึงมีเพียง 4.3 พันล้านบาท ไม่ใช่ 1.37 แสนล้านบาท