กรมสุขภาพจิต ลงพื้นที่เยียวยาจิตใจผู้ประสบภัยพายุปาบึก

กรมสุขภาพจิต ลงพื้นที่เยียวยาจิตใจผู้ประสบภัยพายุปาบึก

กรมสุขภาพจิต ลงพื้นที่เยียวยาจิตใจผู้ประสบภัยพายุปาบึก แนะพูดคุยให้กำลังใจกัน

วันนี้ (16 มกราคม 2562) นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพจิตประชาชนที่ประสบภัยพายุปาบึกว่า ทางกรมสุขภาพจิตได้ส่งทีมสุขภาพจิตเอ็มแคท (Mental Health Crisis Assessment and Treatment Team : MCATT) ประกอบด้วย โรงพยาบาลสวนสราญรมย์ สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นภาคใต้ และศูนย์สุขภาพจิตที่ 11 ร่วมออกหน่วยลงพื้นที่กับทีมเอ็มแคทเครือข่ายสุขภาพจิตจังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อดูแลจิตใจประชาชนผู้ประสบภัยพิบัติพายุปาบึก โดยได้รับรายงานจากทีมช่วยเหลือเยียวยาจิตใจเอ็มแคท เพื่อประเมินภาวะสุขภาพจิตของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากพายุโซนร้อนปาบึก พบว่า มีอำเภอที่ได้รับผลกระทบ จำนวนทั้งหมด 16 อำเภอ ได้แก่ อ.ปากพนัง อ.หัวไทร อ.ขนอม อ.สิชล อ.ท่าศาลา อ.เมือง อ.นบพิตำ อ.เฉลิมพระเกียรติ อ.ทุ่งสง อ.ร่อนพิบูลย์ อ.ทุ่งใหญ่ อ.พิปูน อ.พรหมคีรี อ.ถ้ำพรรณรา อ.ช้างกลาง อ.ฉวาง จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งผลการดำเนินงานระหว่างวันที่ 7-10 มกราคม 2562 ในการช่วยเหลือเยียวยาจิตใจ พบว่า มีผู้รับการประเมินปัญหาสุขภาพจิต จำนวน 2,232 คน มีภาวะเครียดสูง จำนวน 66 คน เครียดปานกลาง จำนวน 49 คน เสี่ยงซึมเศร้า จำนวน 19 คน เสี่ยงฆ่าตัวตาย 1 คน พบผู้ป่วยจิตเวชรายใหม่ 2 คน และมีการเยียวยาใจครอบครัวที่เสียชีวิต จำนวน 2 คน

นายแพทย์จุมภฎ พรมสีดา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสวนสราญรมย์ กล่าวว่า หลังจากการลงพื้นที่ของทีมเอ็มแคทสุขภาพจิตนั้น ขณะนี้เหตุการณ์ภัยพิบัติได้ผ่านพ้นไปแล้ว ความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆ จะเริ่มค่อยๆลดลง ในช่วงนี้ผู้ประสบภัยจะกลับมาอยู่กับสถานการณ์ความเป็นจริงมากขึ้น ซึ่งหลายคนอาจจะยังปรับตัวไม่ได้กับความเป็นจริงที่ประสบ จึงอยากผู้ประสบภัยพยายามมองตัวเองในเชิงบวก ช่วยดูแลสภาพจิตใจกันและกันของคนในครอบครัว ให้ทุกคนสู้กับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นให้ได้ โดยใช้หลัก 3 ส. ในการปฐมพยาบาลทางใจ คือ ส.1 สอดส่องมองหา (Look) ขอให้ช่วยกันสังเกต มองหาผู้ประสบภัยที่ต้องการความช่วยเหลือ ส.2 ใส่ใจรับฟัง (Listen) ให้เข้าไปพูดคุยให้กำลังใจ พร้อมรับฟัง เพื่อช่วยให้ผู้ประสบภัยคลายความทุกข์ในใจออกมา และ ส.3 ส่งต่อ (Link) หากอาการยังไม่ดีขึ้น เช่น มีอาการซึมเศร้าอย่างรุนแรง ให้ติดต่ออาสาสมัครสาธารณสุขภายในหมู่บ้าน หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้าน เพื่อให้ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม และสามารถโทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง

ทางด้านนายนิตย์ ทองเพชรศรี ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตที่ 11 กล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินงานของทีมเอ็มแคทสุขภาพจิตในพื้นที่ จะมีการคัดกรองปัญหาสุขภาพจิตเบื้องต้น มีการให้คำปรึกษาสุขภาพจิต การพูดคุยให้กำลังใจกัน แจกสื่อแผ่นพับให้ความรู้เกี่ยวกับการคลายเครียดให้กับผู้ประสบภัย เพื่อให้ประชาชนสามารถดูแลสุขภาพจิตตัวเองได้หลังประสบภัยพิบัติ ตลอดจนมีแนวทางการส่งต่อผู้ป่วยให้เข้ารับการรักษาเฉพาะทางจิตเวชในผู้ประสบภัยรุนแรงและผู้ประสบภัยที่เป็นผู้ป่วยจิตเวชขาดยา หากพบกลุ่มเสี่ยงที่มีภาวะซึมเศร้าฆ่าตัวตาย จะให้มีการพูดคุยกับจิตแพทย์หรือพยาบาลจิตเวชโดยตรง ซึ่งจะมีแผนการดูแลผู้ป่วย จิตเวชเฉพาะกลุ่มเสี่ยงนี้ โดยการเฝ้าระวังดูแลปัญหาสุขภาพจิต และส่งต่อการรักษาให้หน่วยที่รับผิดชอบต่อไป