จับตา 'สนช.' ผ่านร่างพรบ.สลากฯ หวั่นตัดกองทุนฯทิ้ง

จับตา 'สนช.' ผ่านร่างพรบ.สลากฯ หวั่นตัดกองทุนฯทิ้ง

นักวิชาการกังวลกองทุนสลากกินแบ่งรัฐบาลเพื่อพัฒนาสังคม ถูกตัดทิ้งในร่างครม. จับตา สนช. เตรียมผ่านร่าง พ.ร.บ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ชี้สวนทางสถานการณ์พนันในไทยพร้อมเผยผลงานวิจัยการจัดตั้งกองทุนใน ตปท. ได้ผลบวกกับสังคม วอนรัฐทบทวนใหม่

กรณีร่างพ.ร.บ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล (ฉบับที่ ..) พศ. .... ที่่านการพิจารณาในวาระแรกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 10 มกราคมที่ผ่านมา ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวเป็นการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ. 2517 ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ตัดบทบัญญัติที่ว่าด้วย "กองทุนสลากกินแบ่งรัฐบาลเพื่อพัฒนาสังคม" ออกจากร่างกฎหมายฉบับนี้

แม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 11/2558 กำหนดไว้ชัดเจน ว่าควรจัดตั้ง "กองทุนสลากกินแบ่งรัฐบาลเพื่อพัฒนาสังคม" เพื่อให้การแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิรูปประเทศในด้านเศรษฐกิจและสังคม

โดยวัตถุประสงค์ของกองทุนสลากฯนี้ ตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมการศึกษา และการวิจัยปัญหาเกี่ยวกับการพนัน สาเหตุและผลกระทบจากการพนัน รวมทั้งมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการพนัน รวมไปถึงส่งเสริมการเผยแพร่ความรู้และทัศนคติที่ถูกต้องเกี่ยวกับการพนัน สร้างการรู้เท่าทัน เพื่อป้องกันการติดการพนัน รวมทั้งสนับสนุนกิจกรรมป้องกันและลดผลกระทบจากการพนัน นอกจากนี้ยังเป็นไปเพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการพนัน และ แก้ไขปัญหาที่เกิดจากการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลด้วย โดยใช้งบประมาณจากการจัดสรรในสัดส่วนร้อยละ 3 ของจำนวนยอดจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาล

ขณะที่ร่างใหม่ ที่ครม.ชงให้สนช.นั้น บัญญัติในมาตรา 16 แต่เพียงว่า ให้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลนำเงินกองทุนสลากกินแบ่งรัฐบาล ตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 11/2558 ที่ยังคงเหลืออยู่และไม่มีภาระผูกพันในวันที่คำสั่งดังกล่าวถูกยกเลิกส่งเป็นรายได้แผ่นดินภายใน 30 วัน แม้แนวคิดการจัดตั้ง "กองทุนสลากฯ ที่จะเป็นกลไกลดผลกระทบจากการพนัน" ของไทยจะปิดฉากลง ท่ามกลางความผิดหวังของหลายฝ่าย แต่ในต่างประเทศการจัดตั้งกองทุนในลักษณะเดียวนี้กลับประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี

ผลการศึกษาแนวทางบริหารจัดการกองทุนและมาตรการป้องกันและลดผลกระทบจากการพนันที่ใช้รายได้จากสลากกินแบ่งรัฐบาล โดย "รณวิทย์ สิมะเสถียร" ได้ศึกษาวิจัยมาตรการเพื่อการป้องกันและลดผลกระทบจากการพนันในประเทศต่างๆ ที่ธุรกิจการพนันเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย โดยในสหราชอาณาจักร ได้จัดตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุน ให้เกิดการเล่นพนันอย่างมีความรับผิดชอบ โดยทั้งจากการรับผิดชอบจากผู้ประกอบการ และ การรับผิดชอบตัวเองของผู้เล่น ที่จะต้องควบคุมตัวเองให้เล่นในขอบเขตที่ควรได้ ซึ่ง "รัฐ" จะอยู่ในบทบาทเป็นผู้ควบคุมไม่ให้มีปัญหาเกิดขึ้นจากการพนัน ผ่านแนวทางต่างๆ ที่สร้างผลทางบวก ทั้งการสนับสนุนเงินทุนวิจัย การให้การศึกษา และการบำบัด ในเรื่องเกี่ยวกับการพนันทุกชนิด

โดยงบประมาณมาจากการจัดสรรรายได้จากกิจการลอตเตอรี่ที่นำรายได้ถึงร้อยละ 28 มาใช้ในกิจกรรมสาธารณประโยชน์ โดยงบประมาณจำนวนดังกล่าว ถูกแบ่งไปใช้ในด้านต่างๆดังนี้ งบประมาณจำนวนร้อยละ 50 เพื่อสุขภาพ การศึกษา สิ่งแวดล้อม และการกุศล ที่เหลือถูกแบ่งเป็น 3 ส่วน จัดสรรเท่าๆกัน ใช้ในด้านกีฬา ศิลปะ และเพื่ออนุรักษ์มรดก

ขณะที่ในนิวซีแลนด์นั้น กำหนดให้ผู้ประกอบการ ที่สร้างปัญหาให้กับสังคม รับผิดชอบต่อสังคม โดยรัฐบาลนิวซีแลนด์ เรียกค่าเก็บอากรพิเศษจากผู้ประกอบการเพื่อนำไปเป็นค่าใช้จ่ายในการศึกษา วิจัยรณรงค์ส่งเสริมให้ประชาชนเห็นพิษภัยจากการพนัน พร้อมทั้งการบำบัดรักษานักพนักอย่างเป็นระบบ

สอดคล้องกับความเห็นของภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้อง โดย นายพงศ์ธร จันทรัศมี ผู้จัดการศูนย์ข้อมูลนโยบายสาธารณะเพื่อลดปัญหาจากการพนัน ได้ออกมาแสดงความเป็นกังวลว่า หากร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ผ่านการพิจารณาของสนช. ก็จะเป็นการยกเลิก คำสั่งคสช. ที่ให้มีกองทุนโดยอัตโนมัติ ทั้งนี้เห็นว่าคำสั่งคสช.ที่กำหนดให้มีกองทุน สร้างความรู้สึกยินดีว่าไทยมาถึงจุดที่ก้าวหน้าแล้ว แต่เมื่อมาตัดออกไปไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะรัฐไม่ให้ความสำคัญ หรือ กังวลเรื่องงบประมาณมากจนเกินไป

"การตัดกองทุนออกไป เป็นการสวนทางกับสถานการณ์พฤติกรรมการเล่นพนันของคนไทย ที่เล่นพนันเกินร้อยละ 70 ของจำนวนประชากรทั้งหมด ขณะเดียวกันยังมีพนันรูปแบบใหม่ที่เข้ามา ทั้งพนันฟุตบอลออนไลน์ และคาสิโนออนไลน์ ซึ่งเป็นปัญหาเหล่านี้ รัฐยังแก้ไขไม่ได้ ต้องใช้งานวิจัย การพัฒนามาตรการต่างๆ และการรณรงค์ต่างๆ เพื่อสร้างความตระหนักให้กับประชาชนอย่างต่อเนื่อง " นายพงศธร กล่าว

นายพงศธร ระบุด้วย อีกประเด็นที่น่าเป็นห่วง คือ เมื่อรายได้จากการจำหน่วยสลากเพิ่มขึ้นมาก อาจทำให้รัฐเพิ่มการพิมพ์สลาก หรือ เพิ่มผลิตภัณฑ์อื่นที่มอมเมาประชาชนมากขึ้น ในขณะที่เครืองมือในการป้องกันและแก้ไขปัญหากลับไม่มี ดังนั้นแม้การจัดตั้ง "กองทุนสลากฯ" อาจไม่เกิดขึ้น แต่รัฐบาลจะต้องเดินหน้าผลักดัน "กลไกลดผลกระทบ" นี้ ด้วยการออกกฎหมายอีกหนึ่งฉบับ เพราะเมื่อรัฐเคยเดินหน้าเรื่องนี้แล้ว ไม่ควรที่จะถอยหลังกลับมาสู่จุดเดิมเมื่อ45 ปี