นักวิชาการแนะใช้ 'ผ้าชุบน้ำ' ป้องฝุ่นพิษพีเอ็ม 2.5

นักวิชาการแนะใช้ 'ผ้าชุบน้ำ' ป้องฝุ่นพิษพีเอ็ม 2.5

หากไม่มีหน้ากากอนามัย "N95" สามารถใช้วิธีไหนทดแทนได้บ้าง หากจำเป็นต้องเดินทางออกนอกอาคารบ้านเรือน ?

ปัญหาฝุ่นละอองพีเอ็ม 2.5 กำลังปกคลุมพื้นที่กรุงเทพฯและพื้นที่รอบนอกอย่างต่อเนื่อง จนทำให้บางพื้นที่กลายเป็นเมืองในหมอกชั่วขณะ มีคำเตือนให้สวมใส่หน้ากาก เอ็น 95 (N95) ที่สามารถป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็กได้ แต่การหาซื้อทำได้ยากเพราะไม่ได้วางขายทั่วไป ประกอบกับหน้ากากที่มีคุณภาพจะราคาสูงหลักเกือบร้อยบาทขึ้นไป และต้องเปลี่ยนชิ้นใหม่เป็นระยะจึงเกิดคำถามว่า หากไม่มีหน้ากากอนามัย “เอ็น 95” สามารถใช้วิธีไหนทดแทนได้บ้าง หากจำเป็นต้องเดินทางออกนอกอาคารบ้านเรือน ?

ผศ.ดร.สุชาติ เกียรติวัฒนเจริญ ผู้เชี่ยวชาญด้านการวัดปริมาณฝุ่นหมอกควัน คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลับเชียงใหม่ กล่าวเตือนว่า ฝุ่นพิษในกรุงเทพฯ เกิดขึ้นในช่วงนี้ของทุกปีเนื่องจากอากาศเย็นในฤดูหนาวทำให้ฝุ่นละออกถูกกักเก็บไว้ได้นานกว่าปกติ เพราะมีความกดอากาศสูง ฝุ่นเหล่านี้ไม่สามารถลอยตัวขึ้นไปสูงเหนือพื้นดินจนถูกลดพัดพาไปได้เหมือนสภาพอากาศปกติ ซึ่งพื้นที่กรุงเทพฯจะมีลมทะเลมาช่วยพัดฝุ่นละอองให้กระจายออกไป

“ฝุ่นละอองในกรุงเทพฯ ถ้าลอยสูงขึ้นไปได้ประมาณ 1-2 กิโลเมตร ก็ถูกลมทะเลมาช่วยพัดไปแล้ว แต่ตอนนี้สภาวะความกดอากาศทำให้ฝุ่นค้างอยู่ด้านล่าง ถ้าเจอสภาวะแบบนี้ที่ต่างประเทศ เช่น เกาหลีใต้ รัฐบาลจะสั่งห้ามรถที่ใช้น้ำมันดีเซลหรือรถที่ปล่อยควันพิษออกวิ่งสักพัก ของกรุงเทพฯหรือจังหวัดใกล้เคียงควรสั่งงดวิ่งอย่างน้อย 3 วัน แต่คงไม่สามารถทำได้ เพราะจะมีคนเดือดร้อนมากพอสมควร เพราะฉะนั้นวิธีที่ดีที่สุดคือพยายามใส่หน้ากากที่สามารถกันฝุ่นขนาดเล็กได้ แต่ถ้าใครไม่มี หรือหาซื้อไม่ได้ ขอให้นำหน้ากากอนามัยธรรมดาไปชุบน้ำ หรือเอาผ้าชุบน้ำหมาด ๆ แล้วปิดปากกับจมูกไว้ช่วงที่ออกจากบ้านจะช่วยได้ในระดับหนึ่ง”

ผู้เชี่ยวชาญข้างต้นกล่าวอธิบายว่า เนื่องจาก การใช้ผ้าเช็ดหน้าหรือผ้าทั่วนำมาชุบน้ำไว้ใส่ปิดจมูกและปาก เป็นวิธีการช่วยให้เกิดความชื้นในระหว่างที่ร่างกายสูดดมอากาศเข้าไป ละอองฝุ่นในอากาศที่โดนความชื้นจะรวมตัวกันเป็นเม็ดใหญ่ขึ้นแล้วไปเกาะติดตามระบบทางเดินหายใจ ไม่เข้าไปโดยตรงที่หลอดลม ทำให้ร่างกายสามารถกำจัดออกได้ง่ายขึ้น ถือว่าเป็นอีกหนึ่งวิธีการที่ช่วยบรรเทาได้

“ความสามารถของร่างกายในการกำจัดฝุ่นพิษขนาดเล็กเหล่านี้ของแต่ละคนไม่เท่ากัน ถ้าใครแข็งแรง ร่างกายมีภูมิต้านทานไปจัดการกำจัดฝุ่นออกทางระบบปัสสาวะ แต่ถ้าใครภูมิคุ้มกันไม่ค่อยดีก็ป่วยได้ทันที วิธีการสังเกตตัวเอง คือ เมื่ออยู่ข้างนอกตึกแล้วมีอาการแสบตาหรือเจ็บคอ แสดงว่าร่างกายไม่ไหวแล้วให้ออกจากถนนหรือพื้นที่ฝุ่นควันเยอะทันที รีบไปพักผ่อนก่อนเพื่อให้ร่างกายค่อย ๆ ขับสารพิษออกมา แต่บางครั้งสารพิษในฝุ่นอาจเข้าไปสะสมระยะยาว ก่อให้เกิดเป็นโรคมะเร็งตามอวัยวะต่าง ๆ ได้” ผศ.ดร.สุชาติกล่าวเตือน

ล่าสุด กลุ่มนักวิชาการและเครือข่ายกลุ่มพิทักษ์สิ่งแวดล้อมพยายามเสนอให้ปิดโรงเรียนและให้ประชาชนหยุดงานสักพัก จนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น เนื่องจากฝุ่นละอองขนาดเล็กเหล่านี้ เมื่อเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจจะเกาะตัวหรือตกเข้าไปสู่ส่วนต่าง ๆ ของระบบทางเดินหายใจ ก่อให้เกิดการระคายเคืองและทำลายเนื้อเยื่อของอวัยวะนั้น ๆ เช่นเนื้อเยื่อปอด หากได้รับในปริมาณมากหรือในช่วงเวลานาน สามารถสะสมจนเกิดเป็นผังผืดหรือแผลขึ้นที่เนื้อเยื่อปอดได้ และทำให้การทำงานของปอดเสื่อมประสิทธิภาพลงทำให้เกิดอาการหลอดลมอักเสบ หอบหืด ถุงลมโป่งพอง และโอกาสเกิดโรคระบบทางเดินหายใจเนื่องจากติดเชื้ออื่น ๆ ได้อีก

ขณะที่ นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสร้างความรู้และความเข้าใจแก่ประชาชนเกี่ยวกับการดูแลป้องกันตัวเองจากฝุ่นละออง พร้อมยืนยันกับสื่อมวลชนว่ายังไม่ถึงขั้นวิกฤติเพราะตัวเลขยังไม่เกิน 90 มคก./ลบ.ม สถานการณ์ดูเหมือนจะไม่รุนแรงเท่ากับปี 2561 ที่ค่าพีเอ็ม 2.5 เคยไปแตะระดับสูงสุดคือ 120 -130 มคก./ลบ.ม. ประมาณ 1-2 วัน