คพ.แจงปัญหาฝุ่น 'PM2.5' เกินมาตรฐาน ส่งผลต่อสุขภาพของประชาชน

คพ.แจงปัญหาฝุ่น 'PM2.5' เกินมาตรฐาน ส่งผลต่อสุขภาพของประชาชน

คพ.แจง 4 ประเด็นปัญหาฝุ่นละอองเกินมาตรฐาน ที่นักวิชาการ ระบุถึงกรณีปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กใน กทม.และปริมณฑล ว่าเป็นเรื่องที่วิกฤติ ส่งผลต่อสุขภาพของประชาชน

เมื่อวันที่ 15 ม.ค.62 นายประลอง ดำรงไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ชี้แจงดังนี้ 1) การป้องกันฝุ่นละอองที่ถูกต้อง สำหรับวิธีป้องกันตัวเองจากฝุ่นละออง PM 2.5 ประชาชนควรทำซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้แนะนำไว้ มี 5 มาตรการ "หลีก ปิด ใช้ เลี่ยง ลด" คือ 1.หลีกการสัมผัสฝุ่นละออง โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ เด็กเล็ก และผู้ป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจ หอบหืด ภูมิแพ้ 2.ปิดประตู หน้าต่างให้มิดชิด ป้องกันฝุ่นละออง หมั่นทำความสะอาดบ้านทุกวัน 3.ใช้หน้ากากที่มีประสิทธิภาพในการกรองอนุภาคที่มีขนาดเล็กกว่า 0.3 ไมครอนได้ 4.เลี่ยงการออกกำลังกายหรือทำงานนานกว่า 12 ชั่วโมงในที่โล่งแจ้ง และ 5.ลดการใช้รถยนต์และการเผาขยะ ถ้ามีอาการผิดปกติ เช่น หายใจติดขัด แน่นหน้าอก วิงเวียนศีรษะ หรือหมดสติ ให้รีบไปรับการตรวจรักษาที่สถานพยาบาลโดยเร็ว

2) วิธีการใช้หน้ากากป้องกัน รวมถึงการควบคุมราคาหน้ากากกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้แนะนำวิธีการใช้หน้ากากอนามัย ดังนี้

1.เลือกใช้หน้ากากอนามัยกันฝุ่นขนาดเล็กกว่า2.5 ไมครอนที่ได้มาตรฐาน
2. ควรสวมหน้ากากให้กระชับกับใบหน้า กดส่วนที่เป็นโลหะให้กระชับแน่นกับสันจมูก
3. เลือกขนาดที่เหมาะ ครอบได้กระชับกับจมูก และใต้คาง ควรแนบกับกับใบหน้า
4. ควรทิ้ง เมื่อพบว่าหายใจลำบาก หรือ ภายในหน้ากากสกปรก
5. หากเป็นไปได้ ควรเปลี่ยนหน้ากากอันใหม่ทุกวัน
6. ถ้าสวมใสแล้วมีอาการมึนงงหรือ คลื่นไส้ควรหลบไปอยู่ที่ที่ปลอดมลพิษอากาศ ถอดหน้ากากออกและปรึกษาแพทย์

ทั้งนี้ กรณีเป็นผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับโรคหัวใจหรือโรคปอด ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้หน้ากาก สำหรับการควบคุมราคาหน้ากากอนามัย กรมการค้าภายใน ได้ให้การค้าภายในจังหวัด ต่างๆ ทั้งเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ตรวจสอบปริมาณหน้ากากอนามัย พร้อมกำชับให้พาณิชย์ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลสอดส่อง หากพบกักตุนเพื่อโก่งราคาในช่วงนี้ จะดำเนินการขั้นเด็ดขาด เพราะถือเป็นการเอาเปรียบสร้างความเดือดร้อนประชาชน โทษกักตุนค่อนข้างสูงจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

3) มาตรการที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการไปแล้ว กรมควบคุมมลพิษ กรุงเทพมหานคร จังหวัดปริมณฑล กองบังคับการตำรวจจราจร กรมการขนส่งทางบก กองทัพ กรมอนามัย กรมอุตุนิยมวิทยา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้มีการประชุมหารือและบูรณาการการดำเนินมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหา PM2.5 อย่างต่อเนื่องดังนี้

1.เพิ่มความถี่ในการกวาดล้างทำความสะอาดถนน และฉีดพ่นน้ำในอากาศตั้งแต่เวลา 18.00-06.00 น. ทุกวัน จนกว่าฝุ่นละอองจะลดลงอยู่ในระดับมาตรฐาน
2. แจกหน้ากากอนามัย N95 ในพื้นที่งานอุ่นไอรัก สวนลุมพินี บางคอแหลม จตุจักร บางกะปิ บางขุนเทียน โดยจะให้ความสำคัญกับกลุ่มเสี่ยง ผู้ป่วย คนชรา เด็ก และผู้ปฏิบัติงานใกล้ชิดกับแหล่งกำเนิด
3.เข้มงวดตรวจจับรถควันดำและบังคับใช้กฎหมายอย่างเค่งครัด ทั้งรถยนต์ขนาดเล็ก รถยนต์ขนาดใหญ่ รวมทั้งรถโดยสารสาธารณะ
4.จัดตั้งคณะกรรมการร่วมในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองจากเส้นทางก่อสร้างรถไฟฟ้า โดยเร่งคืนพื้นผิวการจราจร ณ จุดที่ดำเนินการเสร็จแล้ว สำหรับจุดที่อยู่ระหว่างดำเนินการ จะปรับพื้นที่ผิวถนนให้กว้างขึ้น โดยบีบหรือลดพื้นที่การก่อสร้างบนพื้นผิวการจราจรให้แคบลง
5.จัดตั้งคณะทำงานร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองจากการก่อสร้างอาคารสูงและระบบสาธารณูปโภคโดยจะดำเนินการติดตามตรวจสอบและสำรวจ ให้ผู้ประกอบการดำเนินการตามมาตรการลดฝุ่นละอองให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ
6.การแก้ไขปัญหาการจราจรที่ติดขัด โดยอำนวยความสะดวกในการจราจรให้ดีขึ้น รวมถึงการเข้มงวดมิให้มีการจอดรถริมถนนสายหลัก
7.เข้มงวดมิให้มีการเผาขยะและการเผาในที่โล่ง
8. รณรงค์ไม่ให้ติดเครื่องยนต์ขณะจอดในสถานที่ราชการ โรงพยาบาล โรงเรียน และพื้นที่ ที่มีมลพิษสูง
9. การทำฝนเทียม กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้มีการตั้งหน่วยเคลื่อนที่เร็ว จ.ระยอง เพื่อเตรียมทำฝนเทียมในระหว่าง 15-19 มกราคม 2562

4) มาตรการระยะยาวที่จะดำเนินการป้องกันปัญหาฝุ่นละออง

การแก้ไขปัญหาระยะยาวเป็นการลดการระบายมลพิษจากแหล่งกำเนิด โดย
1.การปรับปรุงคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิง และคุณภาพรถยนต์ให้เป็นไปตามมาตรฐานยูโร 5 / 6
2. ส่งเสริมและผลักดันให้ใช้รถโดยสารที่ใช้แก๊สธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง รถโดยสารไฟฟ้า รวมทั้งรถโดยสารไฮบริด
4. การพิจารณาปรับลดอายุการตรวจสภาพรถยนต์ใช้งาน การเพิ่มภาษีรถยนต์เก่า
5.การพิจารณาจัดโซนนิ่งจำกัดจำนวนรถเข้าเมืองในช่วงเวลาเร่งด่วนเช้าและเย็น
6. การเร่งรัดการก่อสร้างรถไฟฟ้า พร้อมทั้งโครงข่ายการให้บริการขนส่งสาธารณะให้เชื่อมโยงทุกระบบครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพมหานครโดยเร็ว

ทั้งนี้ มาตรการระยะยาวดังกล่าว จะดำเนินการทั้งในช่วงก่อนและหลังที่ เครือข่าย การให้บริการขนส่งสาธารณะ โดยเฉพาะรถไฟฟ้าจะแล้วเสร็จ