ถก 'ซีพี' 18 ม.ค. ชี้ขาดไฮสปีดเทรน

ถก 'ซีพี' 18 ม.ค. ชี้ขาดไฮสปีดเทรน

รองผู้ว่าฯรฟท. เผยคกก.นัด "ซีพี" เจรจาชิงไฮสปีดเทรน 18 ม.ค.นี้ เผยข้อเสนอเบื้องต้น มี4หมวด ทั้งการเงิน-ส่วนต่อขยายระยอง-ปรับแนวสถานี มั่นใจลงนามสัญญาทัน 31 ม.ค. 2562

นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยภายหลังประชุมคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) วันนี้(15 ม.ค.) โดยระบุว่า คณะกรรมการได้พิจารณาเอกสาาของกลุ่มซีพี หรือกิจการร่วมค้าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร ซึ่งเป็นผู้เสนอขอเงินอุดหนุนจากรัฐต่ำสุด ซึ่งส่งเข้ามาเพิ่มเติมประกอบการพิจารณาซอง 4 ข้อเสนอพิเศษ ซึ่งพบว่ามีข้อมูลกว่า 200 หน้า จัดเป็น 4 หมวดหมู่ อาทิ เรื่องการเงิน การขอปรับแนวสถานี และการก่อส่วนต่อขยายไปจังหวัดระยอง

อย่างไรก็ดี เนื่องจากข้อมูลที่มีจำนวนมาก และจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ คณะกรรมการคัดเลือกจึงเตรียมเชิญกลุ่มซีพี มาชี้แจงข้อมูลและเริ่มต้นขั้นตอนเจรจาในวันที่ 18 ม.ค.นี้ หากได้ข้อสรุปก็จะนำไปสู่ขั้นตอนส่งร่างสัญญาให้อัยการสูงสุดพิจารณา ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อลงนามสัญญาตามกำหนดวันที่ 31 ม.ค.2562 แต่หากไม่สามารถเจรจาได้แล้วเสร็จ รฟท.มีกำหนดประชุมคณะกรรมการคัดเลือกและเจรจาร่วมเอกชนอีกครั้งในวันที่ 25 ม.ค.2562 เพื่อหาข้อสรุป

ทั้งนี้ กลุ่มซีพี ถือเป็นผู้ผ่านการพิจารณาซอง 3 ด้านการเงิน และเข้าสู่ขั้นตอนพิจารณาซอง 4 เป็นรายแรก เนื่องจากกลุ่มซีพี เสนอราคา Net Present Value (มูลค่าปัจจุบันสุทธิ) อยู่ที่ 117,227 ล้านบาท ต่ำกว่าข้อเสนอของทางกลุ่มบีเอสอาร์ ที่เสนอมาในมูลค่า 169,934 ล้านบาท หรือต่ำกว่าราว 52,707 ล้านบาท อีกทั้งยังต่ำกว่ากรอบวงเงิน ครม. มีมติอนุมัติให้รัฐร่วมลงทุนในโครงการ ในวงเงินมูลค่าปัจจุบันไม่เกิน 119,425 ล้านบาท ส่วนข้อเสนอของทางกลุ่มบีเอสอาร์ ขณะนี้ก็ถือเป็นผู้สอบผ่านซอง 3 แต่ยังต้องรอการเจรจาร่วมกับกลุ่มซีพีไม่เป็นผลก่อน คณะกรรมการคัดเลือกจึงจะเชิญกลุ่มบีเอสอาร์เข้ามาเปิดซอง 4 เพื่อเจรจาร่วมกันต่อ

ทั้งนี้ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน เอกชนที่ชนะประมูลจะได้รับสิทธิ์พัฒนา บริหาร เดินรถไฟความเร็วสูง พร้อมทั้งพัฒนาและบริหารที่ดินมักกะสัน 50 ปี โดยมีมูลค่าโครงการลงทุนอยู่ที่ 2.24 แสนล้านบาท แบ่งออกเป็นการลงทุนเริ่มต้นในระบบขนส่งทางรถไฟ 1.68 แสนล้านบาท การพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟ 4.51 หมื่นล้านบาท และสิทธิการเดินรถไฟแอร์พอร์ตลิงก์ 1.06 หมื่นล้านบาท ขณะที่ผลการวิเคราะห์ผลตอบแทนทางด้านเศรษฐกิจตลอดทั้งโครงการประมาณ 7 แสนล้านบาท