วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน (14 ม.ค.62)

วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน (14 ม.ค.62)

ราคาน้ำมันดิบปรับลด จากความกังวลต่อเศรษฐกิจโลกชะลอตัว

- ราคาน้ำมันดิบเบรนท์และเวสต์เทกซัสปรับลดลงเกือบ 2% เนื่องจากนักลงทุนกังวัลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง โดยจีนปรับลดเป้าหมายอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ลงเหลือ 6.0-6.5% สำหรับปี 2562 ซึ่งลดลงจากเป้าหมายของปีก่อนหน้าที่ 6.5% โดยมีสาเหตุจากการเตรียมรับมือกับการขึ้นภาษีการนำเข้าของสหรัฐฯ และความต้องการใช้ภายในประเทศที่ปรับตัวลดลง

+/- ตลาดยังคงได้รับแรงหนุนจากการปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่มผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปค รวมถึงรัสเซีย โดยรัสเซียได้ปรับลดกำลังการผลิตลงสู่ระดับ 11.38 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นระดับเฉลี่ยของวันที่ 1-10 ม.ค. 62 และต่ำกว่าระดับการผลิตในเดือน ธ.ค. 61 ที่ 11.45 ล้านบาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ตาม กำลังการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดมาอยู่ที่มากกว่า 12 ล้านบาร์เรลต่อวัน

+ Baker Hughes รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์ ณ วันที่  11 ม.ค. 62 ได้ปรับลดลง 4 แท่น ซึ่งเป็นการปรับลดลง 2 สัปดาห์ติดต่อกัน มาสู่ระดับ 873 แท่น โดยมีสาเหตุจากผู้ผลิตน้ำมันดิบมีความกังวลต่อความไม่แน่นอนของราคาน้ำมันดิบในปีนี้

ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ อย่างไรก็ตาม ราคายังคงถูกกดดันจากปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังในสิงคโปร์ สหรัฐฯ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ยังคงอยู่ในระดับสูง

ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากปริมาณน้ำมันดีเซลคงคลังในสิงคโปร์ปรับตัวลดลง 1.8% เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม ปริมาณน้ำมันดีเซลคงคลังยังอยู่ในระดับสูงที่ 11 ล้านบาร์เรล

ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้

          ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 49-54 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

          ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 57-62 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ปัจจัยที่น่าจับตามอง

  • หลังการเจรจาระหว่างสหรัฐฯ และจีน เพื่อหาข้อสรุปของข้อพิพาทการค้าระหว่างสองประเทศ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-9 ม.ค. 62 ณ กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ส่งสัญญาณดีต่อตลาด เนื่องจาก นักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้าระหว่างสองประเทศมหาอำนาจ
  • ปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของซาอุดิอาระเบียมีแนวโน้มปรับลดลง โดยคาดว่าปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบจากซาอุดิอาระเบียในเดือน ก.พ. 62 จะอยู่ที่ระดับ 7.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งลดลงจากปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบในเดือน ม.ค. 62 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 7.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน
  • ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ คาดปรับเพิ่มขึ้น จากอัตราการกลั่นของโรงกลั่นในสหรัฐฯ ที่ปรับตัวลดลง สวนทางกับกำลังการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ซึ่งกลับมาอยู่ที่ระดับสูงสุดในประวัติการณ์ หรือ 11.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน

-----------------------------------

ที่มา : บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน)          

        โทร.02-797-2999