คสช.จวกกลุ่มอยากลต. ชี้วุฒิภาวะ 'ประชาธิปไตยบกพร่อง'

คสช.จวกกลุ่มอยากลต. ชี้วุฒิภาวะ 'ประชาธิปไตยบกพร่อง'

โฆษก คสช. จวกกลุ่มอยากเลือกตั้ง ชี้วุฒิภาวะ "ประชาธิปไตยบกพร่อง" ย้ำผบ.ทบ.สะท้อนให้เห็นภาพด้วยความห่วงใย

พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษก คสช. เปิดเผยว่า จากการที่สมาชิกพรรคการเมืองบางท่าน ได้ออกมากล่าวถึงการแสดงความคิดเห็นของ พล.อ.อภิรัตช์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ) ในฐานะเลขาธิการ คสช. ต่อการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ว่า เชื่อว่าประชาชน เข้าใจในสาระสำคัญที่ ผบ.ทบ.สะท้อนให้เห็นภาพด้วยความห่วงใย ในฐานะที่รับผิดชอบดูแลความสงบเรียบร้อย ที่กองทัพบกประสงค์ให้ในช่วงเวลาสำคัญนี้ วาระสำคัญของประเทศ โดยเฉพาะการเตรียมพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ที่เป็นมหามงคลยิ่งของพสกนิกร ที่ในตลอดห้วงชีวิตนี้จะมีโอกาสได้มีส่วนร่วมเพียงครั้งหนึ่ง ควรจะเป็นช่วงเวลาที่สังคมไทยมีบรรยากาศที่มีความสุขสงบเรียบร้อย 

พ.อ.วินธัย กล่าวว่า ในขณะนี้ ภาคส่วนต่างๆ ส่วนใหญ่รับข่าวสารเรื่องการเลือกตั้งด้วยวิจารณญาณ มีความเข้าใจในเหตุและผล และเฝ้าดูการทำหน้าที่ของหน่วยงานที่รับผิดชอบ มีความพร้อมที่จะร่วมสร้างบรรยากาศแจ่มใสให้ประเทศไทย เพื่อเตรียมสำหรับพระราชพิธีที่เป็นมหามงคลยิ่งและสามารถจัดการเลือกตั้งได้ตามที่ รัฐธรรมนูญกำหนด อย่างไรก็ตาม กองทัพบกเชื่อในความตั้งใจจริงของทุกฝ่าย ที่กำลังหารือเพื่อให้ได้การปฏิบัติที่เหมาะสมที่สุด สง่างามที่สุด ประชาชนเห็นด้วยที่สุด และเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ในความเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข 

พ.อ.วินธัย กล่าวอีกว่า หากสังคมไทยจะมองการตั้งใจเคลื่อนไหว อย่างมีนัยที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ ด้วยความรู้สึก กังขาและมองว่าไม่เหมาะ ไม่ควรก็คงไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะเป็นอารมณ์ประชาธิปไตยที่ใครๆ ก็มีสิทธิจะเกิดความรู้สึกแบบนั้นขึ้นได้ และถ้ามองอย่างพิจารณา อาจตั้งข้อสังเกตได้ไหมว่าความเคลื่อนไหวบางอย่าง ได้กลายเป็นอาชีพหนึ่งไปเสียแล้ว และยังเป็นวิธีการเดิมๆ ที่บางกลุ่มบางส่วนนำมาใช้ โดยที่บางครั้งก็ไม่ได้สนใจบริบททางสังคมโดยรวม 

 "การเคลื่อนไหวแบบมีนัยยะและการวิจารณ์ด้วยอารมณ์ ที่เต็มไปด้วยทัศนคติเชิงลบ ไม่น่าจะเป็นการแสดงออกทางประชาธิปไตยที่งดงาม และยังไม่เกิดประโยชน์อันใดต่อสังคมไทย เลยแม้แต่น้อย ส่วนการให้ความเห็นของสมาชิกกลุ่มคนอยากเลือกตั้งนั้น คงไม่ต่างจากความเห็นเก่าที่ได้เคยประกาศไว้ตั้งแต่อดีต แต่ระยะหลังมีความกราดเกรี้ยวในถ้อยคำยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นวาทะที่สังคมคงจะต้องไตร่ตรองให้ชัดเจน โดยเฉพาะการชูประเด็นว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตยแล้วผลักผู้อื่นให้ไปอยู่ตรงข้าม อาจมองได้ถึงวุฒิภาวะทางประชาธิปไตยที่กำลังบกพร่องก็เป็นได้" พ.อ.วินธัย กล่าว.