ตัวแทนพรรคการเมืองโชว์วิสัยทัศน์ ต่างเห็นด้วย สร้าง 'สังคมสวัสดิการ'

ตัวแทนพรรคการเมืองโชว์วิสัยทัศน์ ต่างเห็นด้วย สร้าง 'สังคมสวัสดิการ'

ตัวแทนพรรคการเมืองโชว์วิสัยทัศน์ ต่างเห็นด้วยกับ 4 ข้อเสนอของเครือข่ายภาค ปชช.สร้างสังคมสวัสดิการที่รัฐมีส่วนร่วมแก้ปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 10 ม.ค.62 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ร่วมกับสถาบันพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ และเครือข่ายกองทุนสวัสดิการชุมชนทั่วประเทศ ได้ร่วมกันจัดงาน "สวัสดิการชุมชน จากชุมชนปฏิบัติ พัฒนาสู่นโยบายชาติ" ขึ้นที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน โดยกิจกรรมส่วนหนึ่งของงานได้มีการเชิญ 9 ตัวแทนจากพรรคการเมือง มาร่วมกันแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับการสนับสนุนการจัดสวัสดิการชุมชนใน 3 ประเด็น คือ นโยบายของแต่ละพรรค มุมมองที่มีต่อแนวทางของเครือข่ายกองทุนสวัสดิการชุมชนทั่วประเทศ และ ข้อเสนอทั้ง 4 ข้อของเครือข่ายฯ ที่นำเสนอต่อพรรคการเมืองเพื่อให้ตัวแทนของพรรคการเมืองได้นำกลับไปเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายพรรค อันประกอบด้วย

1. สนับสนุนการปรับแก้พระราชบัญญัติส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม พ.ศ. 2550 ให้รับรองสถานะและบทบาทของกองทุนสวัสดิการชุมชนให้เป็นนิติบุคคล สามารถดำเนินงานจัดสวัสดิการชุมชนพัฒนาการบริหารจัดการการเงิน และบริการสมาชิก ได้อย่างมีธรรมมาภิบาล และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

2. เพิ่มประสิทธิภาพการใช้งบประมาณของรัฐด้านสวัสดิการโดยสนับสนุนให้กองทุนสวัสดิการชุมชนเป็นกลไกกลางในการดำเนินการด้านสวัสดิการสังคมในพื้นที่ชุมชนท้องถิ่นทุกมิติ การสนับสนุนงบประมาณด้านสวัสดิการสังคมต่างๆ ของหน่วยงานของรัฐ ไปที่ชุมชนให้มีการเชื่อมโยงกับกองทุนสวัสดิการชุมชนช่วยดำเนินการ เพราะกองทุนสวัสดิการชุมชนรู้ข้อมูลรายละเอียด และอยู่ใกล้ชิดกับประชาชนฐานรากมากที่สุด

3.สนับสนุนการดำเนินงานและสร้างความเข้มแข็งของกองทุน หุ้นส่วนการพัฒนา 4 ฝ่าย คือ ประชาชน รัฐบาล อปท. และภาคเอกชนโดยรัฐบาลและอปท. สมทบงบประมาณให้กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลงบอุดหนุนทั่วไป

4. สนับสนุนให้ระบบสวัสดิการชุมชนพัฒนาเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นฐานของจังหวัด

โดยกำหนดเวลาให้พรรคละ 10 นาที ในการชี้แจงถึงประเด็นดังกล่าว ท่ามกลางตัวแทนชาวบ้าน และผู้แทนกองทุนสวัสดิการทั่วประเทศเข้าร่วมรับฟัง น.พ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล ที่ปรึกษาพรรค และอดีตหัวหน้าพรรคชาติพัฒนา กล่าวถึง ช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจน ว่าสังคมไหนก็ตามที่มีช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนไม่มากปัญหาของสังคมในประเทศนั้นจะน้อย แต่ถ้าประเทศไหนมีช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนมากและกว้างปัญหาของสังคมก็จะมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งประเทศของเราก็มีแนวโน้มจะกว้างขึ้นเรื่อยๆ

น.พ. วรรณรัตน์ กล่าวอีกว่า พรรคชาติพัฒนาได้ให้ความสำคัญกับการจัดให้มีระบบการจัดสวัสดิการสังคมในทุกมิติเป็นอย่างมาก โดยได้กำหนดไว้เป็นส่วนหนึ่งของอุดมการ์ณทางการเมืองของพรรค เพราะพรรคชาติพัฒนาเล็งเห็นว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมที่ส่งผลก่อให้เกิดช่องว่างระหว่างคนรวยกันคนจนมากขึ้นอยู่ในขณะนี้ เป็นปัญหาที่สำคัญของประเทศที่จะต้องได้รับดูแลแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลให้ทุกคนในสังคมโดยเฉพาะประชาชนในระดับฐานรากมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างสมศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์

นายแพทย์วรรรัตน์ กล่าวอีกว่า ตั้งแต่ได้มีการออกกฏหมายประกันสังคม ขึ้นมาเป็นครั้งแรกในปีพ.ศ. 2533 ในสมัยรัฐบาลของพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ซึ่งต่อมาก็ได้มีการเพิ่มความคุ้มครองและให้สวัสดิการด้านต่างๆแก่ผู้ใช้แรงงานในระบบเพิ่มมากขึ้น เช่น ในสมัยที่ นาย สุวัจน์ ลิปตภัลลภ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานก็ได้ขยายความคุ้มครองไปถึงผู้ที่ออกจากงานให้ได้รับเงินเดือนเป็นระยะเวลาถึง 6 เดือนในระหว่างที่กำลังหางานใหม่ทำด้วย เป็นต้น และรัฐบาลต่อมาก็ได้มีการสร้างระบบประกันสังคมแรงงานนอกระบบเพิ่มขึ้นมาอีก รวมทั้งการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนขึ้นมา เพื่อช่วยให้ทุกคนในชุมชนได้มีโอกาสช่วยเหลือเกื้อกูลและเอื้ออาทรต่อซึ่งกันและกัน ด้วยการพึ่งตนเองอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน รวมทั้งการสร้างสังคมในระดับฐานรากให้เข้มแข็ง เพื่อเป็นพื้นฐานเกื้อหนุนให้สังคมโดยรวมของประเทศสามารถดำรงอยู่ได้ และได้กล่าวยืนยันว่าพรรคชาติพัฒนายินดีรับข้อเสนอของเครือข่ายสวัสดิการชุมชน โดยพร้อมที่จะสนับสนุนและนำไปกำหนดเป็นนโยบายของพรรค

ที่ปรึกษาพรรคชาติพัฒนา กล่าวอีกว่า การแก้ไขกฎหมายส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม เพื่อรับรองสถานะและบทบาทของกองทุนสวัสดิการชุมชนให้เป็นนิติบุคคล ที่สามารถดำเนินงานจัดสวัสดิการชุมชน พัฒนาการบริหารจัดการการเงิน และการบริการสมาชิกได้อย่างมีธรรมาภิบาลและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และพร้อมที่จะสนับสนุนในการใช้งบประมาณของรัฐด้านสวัสดิการโดยให้ กองทุนสวัสดิการชุมชนเป็นกลไกกลางในการดำเนินการด้านสวัสดิการสังคมในพื้นที่ชุมชนท้องถิ่นทุกมิติ และพร้อมที่จะสนับสนุนการดำเนินงานในการสร้างความเข้มแข็งของกองทุนสวัสดิการชุมชนแบบหุ้นส่วนการพัฒนา 4 ฝ่าย อันได้แก่ ประชาชน รัฐบาล องค์กรปกครองท้องถิ่น และภาคเอกชน

น.พ.ระวี มาศฉมาดล หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ เป็นตัวแทนพรรคการเมืองคนแรกที่ได้ขึ้นพูด โดยได้กล่าวถึง 4 ข้อเสนอของเครือข่ายกองทุนสวัสดิการชุมชนทั่วประเทศ ว่าเป็นนโยบายที่มีแนวทางตรงกันกับนโยบายพรรคพลังธรรมใหม่ ที่มุ่งมั่นสร้างประชาธิปไตยที่เป็นธรรมในด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง โดยที่รัฐบาลมุ่งเน้นการสร้างสังคมสวัสดิการที่รัฐมีส่วนร่วม แก้ปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน ตามแนวทางสังคมสวัสดิการ รัฐต้องให้ประชาชนอย่างมีคุณค่า และประชาชนเองต้องรับสวัสดิการจากรัฐอย่างสมศักดิ์ศรี ประชาชนต้องมีส่วนร่วม ใช้ระบบเศรษฐกิจพอเพียงแบบยั่งยืน เช่น โครงการเกษตรอินทรีย์ที่ชุมชนได้สร้างขึ้น โดยนโยบายของพรรคจะปรับเพิ่มสวัสดิการให้กับเครือข่ายตามเป้าหมายที่เหมาะสม และสร้างกองทุนใหม่อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ ตนยังไม่เห็นด้วยกับสวัสดิการที่มีลักษณะเป็นประชานิยม เพราะจะทำให้ประเทศเสียหายย่อยยับ และไม่มีความยั่งยืน

ขณะที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้กล่าวถึงความเข้มแข็งของสังคมและสวัสดิการของชุมชน ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์สนับสนุนเรื่องนี้มาโดยตลอด มีการอนุมัติกองทุนงบประมาณตามเกณฑ์การบริหารงบประมาณอย่างมีคุณภาพจากผู้นำชุมชน และยังมีมติให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ อปท. เข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลกองทุนงบประมาณ

"ดังนั้นจากข้อเสนอทั้ง 4 ข้อของเครือข่าย ทางพรรคประชาธิปัตย์จึงพร้อมที่จะสานต่อในข้อเสนอ และพร้อมเดินหน้าร่วมกับพี่น้องเครือข่ายสวัสดิการชุมชน เพราะตนเชื่อในแนวทางของเครือข่ายที่อยู่ในความเชื่อในหลักการณ์และมีอุดมการณ์เดียวกัน ที่ต้องการให้สวัสดิการชุมชนเริ่มจากสังคมสวัสดิการ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน ส่งเสริมการออมและการกระจายอำนาจ จึงมั่นใจว่าจะเป็นหลักประกันให้ชุมชนอุ่นใจ โดยนโยบายจะเพิ่มงบประมาณให้สูงขึ้นตามหลักเกณฑ์ และส่งเสริมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงการยกระดับและสถานะทางกฏหมาย โดยจะไม่ยอมให้นโยบาย หรือสวัสดิการชุมชนต้องถูกแปรเปลี่ยนไปเป็นสวัสดิการประชานิยมอย่างแน่นอน และจะไม่ให้ระบบราชการเข้ามาควบคุมสวัสดิการชุมชน เพราะแต่ละพื้นที่มีความต้องการกับปัญหาที่ต่างกัน จะต้องมีอิสระในการบริหารจัดการตนเอง"

ด้าน ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยเห็นถึงความสำคัญของสวัสดิการทั้งที่มาจากภาครัฐ และสวัสดิการที่มาจากชุมชน และทั้งสองระบบจะต้องเดินคู่กันไปแบบคู่ขนาน โดยพรรคเพื่อไทยจะใช้ระบบสวัสดิการแบบผสม ระหว่างสวัสดิการที่สามารถสร้างศักยภาพในการผลิตและผลสัมฤทธิ์ทางอุตสาหกรรม กับสวัสดิการที่สามารถสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม จะใช้จุดเด่นทางด้านความเป็นประชาธิปไตยที่เห็นทุกคนเท่ากัน เป็นหลักประกันที่ทำให้พี่น้องประชาชนได้รัฐสวัสดิการที่ครอบคลุม จะใช้ความสามารถทางด้านการหารายได้ของเราอย่างที่เคยทำมาในอดีต ไม่จำเป็นต้องขึ้นภาษี ไม่จำเป็นต้องไปกู้มามากมาย เพียงแต่เราสามารถทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ ซึ่งเป็นการเพิ่มฐานภาษีโดยอัตโนมัติ พร้อมระบุว่าเชื่อในการกระจายอำนาจ การกระจายทรัพยากร เพราะ อำนาจการตัดสินใจควรจะอยู่กับพี่น้องประชาชน จึงเห็นด้วยกับข้อเสนอของเครือข่ายฯ และจะผลักดันเรื่องสวัสดิการชุมชนอย่างแน่นอน

นายนิกร จำนง ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ได้กล่าวถึงข้อเสนอทั้ง 4 ข้อที่ทางเครือข่ายฯ เสนอต่อพรรคการเมืองว่า เห็นด้วยกับการสนับสนุนให้มีการปรับแก้พระราชบัญญัติส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม พ.ศ. 2550 แต่มีประเด็นที่จะขอติง คือ ต้องระวังถ้าจะเขียนกฎหมาย เพราะจากที่เราสามารถทำมาหากินได้อย่างอิสระ แล้วจะมาสร้างคอกให้ตนเองต้องพึงระมัดระวัง ต้องมีการพิจารณาเป็นอย่างดีและอย่างยิ่ง พร้อมจะต้องปรึกษาพรรคการเมืองโดยทั่วไป ทั้งยังระบุว่า ตนนั้นเชื่อในหมวด16 เรื่องของการปฏิรูปประเทศ แต่ไม่เชื่อในมาตรา65 เรื่องยุทธศาสตร์ชาติซึ่งตนแย้งเรื่องนี้มาโดยตลอด สู้มาโดยตลอด ก่อนกล่าวว่าทางพรรคจะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุดเกี่ยวกับการจัดทำนโยบายสวัสดิการชุมชน

ส่วนทางด้านนายนพดล แก้วสุพัฒน์ รองหัวหน้าพรรคพลังท้องถิ่นไทย กล่าวว่า หลายคนในวันนี้จะมีความรู้สึกว่าท่านอยากมีกองทุนสวัสดิการ ท่านอยากมีสภาองค์กรชุมชนที่แข็งแรง มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีประสิทธิภาพ ทั้งหลายทั้งปวงไม่อาจเกิดขึ้นได้บนข้อเท็จจริง นั่นก็เพราะ ปัญหาที่ซ่อนอยู่ในแต่ละห้วงแต่ละประเด็น ที่เป็นเรื่องของการจัดบริการสาธารณะเพื่อพี่น้องประชาชนที่อยู่ในสังคมฐานล่าง นั้นไม่ได้รับการแก้ไขให้จบกระบวนการ แนะให้เริ่มต้นที่การปรับสมดุลอำนาจรัฐใหม่ สร้างเครื่องมือขึ้นมาสักชิ้นนึง ที่มีชื่อว่าสภาพลเมือง เป็นพื้นที่ในการควบคุมนักการเมือง และหน่วยราชการ ที่ให้หน่วยงานภาคสังคมไปใช้พื้นที่ในการพูดคุยหรือทักท้วงไต่สวนตัวแทน เพื่อประโยชน์ของประชาชน พร้อมจะต้องคิดทบทวนให้ดีว่า เราจะเป็นรัฐสวัสดิการภายใต้ภาวะที่ประเทศของเราไม่ได้เป็นประเทศที่ร่ำรวย เราคิดซะเลิศหรูว่าจะสร้างสวัสดิการ ทำไมเราไม่คิดคู่ขนานว่าซีกหนึ่งจะทำอย่างไรให้รายได้ชุมชนท้องถิ่นนั้นเติบโต แล้วมีสวัสดิการที่สมดุลกันแทน

พันตรีประวีร์ จินดาวรรณ กรรมการบริหารพรรคเพื่อแผ่นดิน เห็นด้วยกับบุคคลและพรรคที่จะผลักดันเรื่องของสวัสดิการชุมชน และบอกว่ารัฐจะต้องช่วยเหลือชุมชนโดยหน้าที่ ไม่ใช่เพียงการมาเรียกร้องจากชุมชนเท่านั้น ทั้งยังเห็นด้วยกับข้อเสนอทั้ง 4 ที่ทางเครือข่ายเสนอมา เชื่อว่าคนในพื้นที่คนในชุมชนย่อมเข้าใจและเข้าถึงในแต่ละปัญหาได้เป็นอย่างดี คิดว่าเป็นเรื่องที่ควรสนับสนุนในการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งบประมาณของรัฐด้านสวัสดิการ พร้อมสนับสนุนให้กองทุนสวัสดิการชุมชนเป็นกลไกกลางในการดำเนินการ เพราะกองทุนสวัสดิการชุมชนรู้ข้อมูลรายละเอียด และอยู่ใกล้ชิดกับประชาชนในชุมชนมากที่สุด และในเรื่องของการสนับสนุนการดำเนินงานและสร้างความเข้มแข็งของกองทุน กับการสนับสนุนให้ระบบสวัสดิการชุมชนพัฒนาเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นฐานของจังหวัด ตนก็เห็นด้วยและอยากให้คนไทยร่วมพัฒนาประเทศชาติไปด้วยกัน

คุณศิริกัญญา ตันสกุล ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบาย และว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. บัญชีรายชื่อของพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า ทางพรรคมีความมุ่งมั่นที่จะผลักดันเรื่องของรัฐสวัสดิการให้เกิดขึ้นจริงในสังคมไทย สวัสดิการควรเป็นสิทธิพื้นฐานที่ทุกคนควรจะได้รับ และเชื่อว่าสามารถที่จะดำเนินการได้โดยไม่เสียวินัยทางการคลัง แม้จะมีการเก็บภาษีบางส่วนก็จะเป็นภาษีที่เราเก็บจากคนรวย เก็บจากส่วนที่มีการให้สิทธิประโยชน์กับคนรวย แล้วนำมาเฉลี่ยให้กับทุกคน พร้อมระบุว่ามีความเชื่อที่ไม่ต่างกันกับทางเครือข่ายฯที่ได้ยื่นข้อเสนอมา เพราะทางพรรคเชื่อในสวัสดิการที่จะให้ตั้งแต่เกิดจนถึงตาย ทางพรรคเชื่อว่าสวัสดิการควรได้รับอย่างถ้วนหน้า ไม่ต้องมาพิสูจน์ความรวยความจน พร้อมบอกว่า ทางพรรคและเครือข่ายฯต่างฝันถึงปลายทางเดียวกันที่ทุกคนมีหลักประกันที่มั่นคง มีรายได้ที่มั่นคง อยู่ในชุมชนที่เข้มแข็ง และมีอำนาจในการกำหนดชีวิตของตนเองได้ พรรคเชื่อว่ารัฐสวัสดิการและสวัสดิการชุมชนจะต้องเดินหน้าไปคู่กัน และยินดีผลักดันกองทุนสวัสดิการชุมชนให้เป็นนิติบุคคล

ด้านนางลลิตา ฤกษ์สำราญ รองหัวหน้าพรรคเพื่อชาติ ตัวแทนพรรคการเมืองคนสุดท้ายที่ขึ้นพูด ระบุว่า พรรคเพื่อชาติเองก็มีนโยบายในการสนับสนุนและยกระดับ ปรับปรุงคุณภาพชีวิตของทรัพยากรมนุษย์ตั้งแต่แรกเกิดจนกระทั่งถึงสิ้นลมหายใจอยู่ พร้อมระบุว่า การจัดการเรื่องของสวัสดิการชุมชน สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การบริหารจัดการ เพราะฉะนั้นบุคลากรที่จะเข้ามาตรงนี้ จะต้องเป็นคนที่มีความรู้และเป็นคนเก่ง เพื่อจะได้ดูแลจัดการบริหารได้ดี ทั้งจัดการบริหารการเงินได้ดีด้วย ส่วนเรื่องข้อเสนอที่จะให้ยกระดับกองทุนสวัสดิการชุมชนให้เป็นนิติบุคคล ทางพรรคเพื่อชาติเสนอให้ทางกองทุนสวัสดิการชุมชนนั้นยกระดับมาเป็นธนาคารชุมชน ซึ่งจะพัฒนาให้กลายเป็นธนาคารของชุมชน คือเป็นนิติบุคคล โดยไม่ได้ไปอยู่ภายใต้การกำกับของรัฐ แต่เป็นองค์การมหาชน โดยขณะนี้เรากำลังดูว่าจะมีเรื่องของการจัดการทางกฎหมาย ที่เข้ามาทำการจัดตั้งนี้อย่างไร

ทั้งนี้ในภาพรวมของตัวแทนแต่ละพรรคการเมืองที่มาโชว์วิสัยทัศน์ ต่างก็เห็นด้วยกับ 4 ข้อเสนอของเครือข่ายฯ ที่จะร่วมกันสร้างสังคมสวัสดิการที่รัฐมีส่วนร่วม พร้อมแก้ปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน และไม่เห็นด้วยกับสวัสดิการแบบประชานิยม แม้จะมีข้อที่ติงถึงเรื่องของการแก้กฎหมาย แต่ทุกพรรคต่างก็มีแนวทางที่จะแก้ไขปัญหาในเรื่องดังกล่าวที่ได้รับการนำเสนอมาอย่างมีวิสัยทัศน์ ตามแนวทางและจุดยืนของแต่ละพรรคการเมืองที่แตกต่างกันออกไป