ข่าวดี! ใช้เวลา4ปี 'อียู' ปลดใบเหลืองประมงไทยพ้นไอยูยู

ข่าวดี! ใช้เวลา4ปี 'อียู' ปลดใบเหลืองประมงไทยพ้นไอยูยู

อียูปลดใบเหลืองไอยูยูให้ไทย หลังพยายามแก้ปัญหา 4 ปี "ฉัตรชัย" ลั่นประกาศผลักดันเขตไอยูยูฟรี พร้อมเดินหน้าจัดระเบียบประมงไทย กรรมาธิการอียูชมไทยทำงานหนักแก้กฎหมาย ใช้มาตรการทางปกครอง ชูเป็นต้นแบบการแก้ปัญหาของภูมิภาค สรท.แนะทุกฝ่ายเข้มงวดแก้ปัญหาต่อ

ประเทศไทยถูกสหภาพยุโรป (อียู) ประกาศให้ใบเหลืองหลังจากไทยมีปัญหาประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม (ไอยูยู) มาตั้งแต่วันที่ 21 เม.ย.2558 ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยแก้ปัญหาทั้งการควบคุมการทำประมง การออกกฎหมายและการดูแลแรงงานประมง 

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เดินทางเยือนกรุงบรัสเซลล์ ประเทศเบลเยี่ยม และวานนี้ (8 ม.ค.) ได้หารือกับนายเคอเมนู เวลลา กรรมาธิการยุโรปด้านสิ่งแวดล้อม กิจการทางทะเล และประมง โดยหลังการหารือมีการประกาศแถลงการณ์ผลการพิจารณาปลดใบเหลืองประมงไอยูยูของประเทศไทย ซึ่งเป็นเพียงประเทศเดียวที่ได้รับการพิจารณาในครั้งนี้

4_96

พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวว่า เป็นเรื่องที่น่ายินดีและความสำเร็จที่ทุกภาคส่วนได้ร่วมมือกันพยายามแก้ไขปัญหาการทำประมงไอยูยูมาโดยตลอด เนื่องจากตลอดช่วงเวลาเกือบ 4 ปี นับตั้งแต่ไทยได้ใบเหลืองได้มุ่งมั่นแก้ไขปัญหาไอยูยู จนมีผลเป็นรูปธรรมอย่างครอบคลุมทั้งในด้านกรอบกฎหมาย การบริหารจัดการประมง การบริหารจัดการกองเรือ การติดตาม ควบคุม และเฝ้าระวัง (MCS) การตรวจสอบย้อนกลับ และการบังคับใช้กฎหมาย 

ชี้รัฐบาลมุ่งมั่นแก้ปัญหาประมง

ทั้งนี้ การทำงานที่ผ่านมาทำให้ไทยสามารถแสดงความรับผิดชอบและบทบาททั้งในฐานะรัฐเจ้าของธง รัฐชายฝั่ง รัฐเจ้าของท่าและรัฐตลาด ในระดับของมาตรฐานสากล ส่งผลให้อียูปลดใบเหลืองให้ไทย ซึ่งสะท้อนความสำเร็จที่ไทยได้ยกระดับของการทำประมงเชิงพาณิชย์ ทั้งในและนอกน่านน้ำเข้าสู่มาตรฐานสากล

“นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้ผมมากำกับดูแลเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด และจากนี้ไปรัฐบาลไทยก็ยังมีความมุ่งมั่นทางการเมืองที่แน่วแน่และชัดเจน ที่จะขจัดปัญหาการทำประมงไอยูยู เพราะตระหนักดีถึงความจำเป็นที่จะต้องรักษาความยั่งยืนของทรัพยากรสัตว์น้ำเพื่ออนุชนรุ่นหลัง มิใช่เฉพาะแต่ของไทยแต่ของโลกโดยรวม ส่งผลให้การแก้ไขปัญหาประมงไอยูยูได้ถูกกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ"

3_138

สำหรับการแก้ปัญหาของไทยครอบคลุม 6 ด้าน คือ 1.ด้านกฎหมาย 2.ด้านการบริหารจัดการประมง 3.ด้านการบริหารจัดการกองเรือ 4.ด้านการติดตาม ควบคุม และเฝ้าระวัง 5.ด้านการตรวจสอบย้อนกลับ 6.ด้านการบังคับใช้กฎหมาย

พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวว่า การเจรจากับอียูครั้งนี้ทั้ง 2 ฝ่ายเห็นชอบร่วมกันเกี่ยวกับแผนงานความร่วมมือในอนาคตกับสหภาพยุโรปเพื่อให้ไทยบรรลุการเป็นประเทศปลอดประมงไอยูยู หรือ ไอยูยูฟรีได้โดยสมบูรณ์ต่อไป รวมถึงการส่งเสริมความร่วมมือในระดับภูมิภาคของอาเซียนในการแก้ไขปัญหาการทำประมงไอยูยูร่วมกัน 3 แผน คือ 1.การจัดตั้งคณะทำงานไทย-อียูต่อต้านการทำประมงไอยูยู 2.ตั้งคณะทำงานร่วมอาเซียนเพื่อป้องกันและปราบปรามการทำประมงไอยูยู 3.ส่งเสริมการประมงปลอดจากสัตว์น้ำและสินค้าประมงจากการทำประมงไอยูยู

อียูชี้ไทยทำงานหนักแก้ประมง

นายเคอเมนู เวลลา กล่าวว่า ไทยและอียูจะมีความสัมพันธ์กันมากขึ้น โดยอียูเป็นผู้นำในระดับสากลในการต่อต้านการทำประมงไอยูยู และเป็นตัวอย่างที่ทันสมัยในการใช้การเข้าถึงตลาดเป็นข้อต่อรองเพื่อนำมาสู่มาตรฐานด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น และหากการทำประมงผิดกฎหมายเป็นสิ่งที่แพร่หลายในประเทศต่าง ๆ จะมีการออกใบเหลือง นี่จะให้เวลาในการพัฒนามาตรฐานเพื่อหลีกเลี่ยงใบแดง ซึ่งจะเป็นการหยุดการเข้าถึงตลาดอียู

ทั้งนี้ เดือน เม.ย.2558 อียูเตือนไทยว่า ไทยมิได้ดำเนินการเพียงพอสำหรับการต่อต้านการทำประมงไอยูยูทำให้ไทยได้รับใบเหลือง แต่จากการพยายามของไทยที่ต้องการแก้ไขปัญหาทุกด้านของอุตสาหกรรมประมง ทำให้ในวันนี้อียูตัดสินใจปลดใบเหลืองนั้น ส่วนหนึ่งเพราะไทยได้ดำเนินการด้านกฎหมายและด้านปกครองตรงตามข้อบังคับสากลในการต่อต้านการทำประมงไอยูยู

“นี่อาจจะฟังดูไม่น่าสนใจ แต่ผมยืนยันว่า นี่เป็นผลของการทำงานอย่างหนักและตรงไปตรงมาอย่างที่ทุกท่านทราบ นโยบายด้านไอยูยูไม่ได้เกี่ยวกับการลงโทษประเทศต่าง ๆ หรือเกี่ยวข้องกัยทางการเมือง แต่เกี่ยวกับความร่วมมือ โดยในระยะสามปีครึ่งที่ผ่านมา เราได้ทำงานร่วมกันอย่างหนักกับเจ้าหน้าที่ของไทย เพื่อทำให้การปฏิรูปการประมงของไทยเสร็จสมบูรณ์”

นอกจากนี้ การยกเครื่องกฎหมายด้านการประมงของไทยจะนำไปสู่การพัฒนากติการด้านการตรวจสอบย้อนกลับและเครื่องมือการติดตาม ควบคุม และเฝ้าระวัง รวมถึงการจัดการกองเรือไทยยังได้พัฒนาความเข้มแข็งด้านการควบคุมเรือประมงต่างชาติที่เข้ามาที่ท่าเรือของไทย ไทยได้พัฒนาความร่วมมือกับรัฐเจ้าของธงในมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก และได้ปฏิบัติตามระเบียบแห่งรัฐเจ้าท่า ของ FAO ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการต่อต้านการทำประมงไอยูยูในระดับสากล โดยอียูและไทยได้ร่วมมือกันอย่างแน่นแฟ้นในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และสภาพการทำงานของแรงงานประมง

“ผมขอเน้นย้ำถึงความก้าวหน้าในประเด็นนี้ โดยเฉพาะการเข้าเป็นภาคี ILO Convention C188 ซึ่งเป็นการนำร่องที่ตะส่งผลให้ประเทศอื่น ร่วมเป็นภาคีตาม”

สรท.แนะเข้มงวดกฎหมายต่อ

นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า ผู้ส่งออกสินค้ามองว่าภาครัฐควรเร่งบังคับใช้กฎหมาย คุมเข้มผู้ประกอบการให้ปฏิบัติตามกฎหมายไทยเรื่องแรงงานอย่างเข้มงวดต่อ โดยการที่อียูประกาศใบเหลืองไทยยังไม่ได้กระทบต่อการส่งออก แต่หากไทยถูกลดระดับอีกหรือไปอยู่ระดับใบแดงจะกระทบต่อการส่งออกแน่นอน

“ตอนนี้เราไม่ได้โฟกัสที่จะปรับระดับเป็นใบเขียวหรือคงใบเหลือง เพราะเรื่องที่เราควรทำคือการบังคับใช้กฎหมายแรงงาน เพราะที่ผ่านมาสิ่งที่ผู้นำเข้าให้ความเห็นมา คือ ทำไมภาครัฐไม่บังคับใช้กฎหมาย ดังนั้นในตอนนี้หากเราถูกลดมาที่ใบเหลืองอีกรอบจะแย่กว่าการที่เราคงใบเหลืองไว้ และมุ่งแก้ไขปัญหาตรงนี้ แต่ก็ต้องรักษาใบเหลืองแบบนี้ อย่าให้เป็นใบแดง”