'กิตติรัตน์' ซัดคสช.สร้างงบผูกพันสูงกว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์

'กิตติรัตน์' ซัดคสช.สร้างงบผูกพันสูงกว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์

"กิตติรัตน์" ชู 3 หลักการแก้ปัญหา เทียบบริหารจัดการงบประมาณรัฐบาลคสช.สร้างงบผูกพัน ก.กลาโหม ทะลุแสนล้านสูงกว่ารัฐบาล "ยิ่งลักษณ์"

เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2562 ที่พรรคเพื่อไทยได้จัดเสวนาเพื่อแสดงวิสัยทัศน์การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งมีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ทีมเศรษฐกิจของพรรค ซึ่งอดีตดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและอดีต รมว.คลัง เป็นผู้บรรยาย โดยมี "คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์" ประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งของพรรค , "นายภูมิธรรม เวชยชัย" เลขาธิการพรรคฯ และนายชูศักดิ์ ศิรินิล ทีมกฎหมายของพรรค และสมาชิกพรรค ร่วมรับฟังข้อมูลและแนวทางการแก้ไขปัญหา

"คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์" ประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้ง กล่าวเปิดการเสวนาว่า วันนี้เราก็จะมาพูดคุยกันในรายละเอียดจากที่เราเคยแถลงไปแล้วในหลักของการทำงาน และหลักคิดของเราว่าเรามีหลักคิดแตกต่างจากที่รัฐบาลในปัจจุบันทำ อย่างไร และเรามองปัญหาเศรษฐกิจอย่างไร โดยเรายังคิดว่ามีงานหลายอย่างที่เป็นอุปสรรคซึ่งรอการแก้ไข โดยวันนี้เราจะมีหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ คือ นายกิตติรัตน์ มาอธิบายให้ฟัง

"นายกิตติรัตน์" กล่าวว่า แนวคิดของพรรคเพื่อไทย เราจะไม่ปล่อยให้ปัญหาความล้าหลัง ล้มเหลว ถดถอย สิ้นหวัง ยืดเยื้อไป แต่เราจะช่วยกันแก้ไขปัญหา โดยทั้งเรื่องการส่งออก ท่องเที่ยว เรื่องการลงทุนภาคเอกชน รายได้เกษตรกร รายได้แรงงาน และการใช้จ่ายงบประมาณ ส่วนสู่ความถดถอย ซึ่งตนขอเปรียบเทียบลักษณะเศรษฐกิจเสมือนเครื่องบินที่จะมีเครื่องยนต์ 4 เครื่อง ประกอบด้วย เครื่องยนต์ที่ 1 เรื่องการส่งออก-การท่องเที่ยวจากต่างประเทศ ที่ 2 อย่างมารวมกันเพราะเป็นกิจกรรมที่สามารถดูดเงินตราต่างประเทศเข้ามาได้ , เครื่องยนต์ที่ 2 การลงทุนภาคเอกชน

โดยที่นักลงทุนเขาไม่มั่นใจในประเทศเราก็จากการที่มีนักลงทุนบางรายถูกปฏิบัติโดยใช้กฎหมายพิเศษจัดการกับเขา ทำให้กังวลว่ารายอื่นจะโดนหรือไม่ ทำให้การลงทุนจึงชะลอลงไป ซึ่งตัวเลขการลงทุนส่วนนี้จะต่ำมากเมื่อเทียบกับช่วงที่เป็นภาวะปกติ , เครื่องยนต์ที่ 3 เรื่องการบริโภคในประเทศ คือกำลังซื้อของผู้บริโภคทั้งหลาย หากประชาชนทั่วไปมีรายได้ที่ดีก็จะกลายเป็นกำลังซื้อจับจ่ายใช้สอย พ่อค้าแม่ค้าก็ขายของได้ , เครื่องยนต์ที่ 4 การบริหารงบประมาณของรัฐบาล ซึ่งปัจจุบันการบริหารงบประมาณอยู่ที่ 3 ล้านล้านบาท การจะดูงบประมาณให้มีกำลังที่ดีถือเป็นเรื่องสำคัญมาก ดังนั้นหากแต่ละส่วนทำงานได้ดีการที่จะนำพาเครื่องบินทะยานไปสู่เป้าหมายอย่างไม่ยากเย็นแม้จะมีภาวะอากาศเป็นอุปสรรคแค่ไหนก็ตาม นี่คือสิ่งที่เราเชื่อว่าหากบริหารจัดการเศรษฐกิจที่ดี ต้องบริหารจัดทั้ง 4 เรื่อง

"นายกิตติรัตน์" ได้ตั้งข้อสังเกตถึงการบริหารงบประมาณช่วงปี 2557 ซึ่งเป็นงบประมาณปีสุดท้ายช่วงที่รัฐบาลซึ่งมาจากประชาธิปไตยภายใต้การนำของอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร บริหารจัดการ และ ปี 2561 ที่ผ่านมาว่า รายรับในปี 2557 เมื่อเทียบกับปี 2561 แม้จะพบว่าปี 2561 รายรับรัฐบาลนี้จะเพิ่มขึ้นมา 2 แสนล้านบาท แต่ก็เพิ่มขึ้นจากรายการภาษีน้ำมันถึง 130,000 ล้านบาท ขณะที่กระทรวงยอดนิยมอย่างกระทรวงกลาโหม ก็มีงบผูกพัน โดยในอดีตเมื่อปี 2557 ผ่านงบแล้วมีอยู่ที่ 76,000 ล้านบาท แต่ในปี 2561 และ 2562 ยอดงบผูกพันทะลุ 1 แสนล้านบาท

นอกจากนี้ในงบประมาณปี 2562 ความผูกพันก็ไม่ได้ผูกพันแค่ 4 ปีแต่ดูจากข้อมูลคือ 4 ปีขึ้นไปซึ่งยาวนานกว่ากำหนด และถ้าดูจากมติ ครม. บางครั้งที่มีการใช้จ่ายงบประมาณ เช่น เมื่อวันที่ 4 ธ.ค.61 บอกว่าจะช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมัน กรอบวงเงิน 3,375 ล้านบาท โดยให้ความช่วยเหลือพื้นที่ที่ปลูกจริงไร่ละ 1,500/ครัวเรือน ที่ให้ใช้จากเงินทุน ธกส. สำรองจ่ายก่อน แล้วให้ ธกส. จัดทำรายละเอียดเสนอขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามความจำเป็นและเหมาะสมต่อไป แปลว่าเงินที่เอามาช่วยไม่ใช่งบประมาณที่มาช่วย

"นายกิตติรัตน์" กล่าวย้ำตอนท้ายว่า หลักคิดที่พรรคเพื่อไทยจะนำมาแก้ปัญหา คือหลักคิด 3 ข้อ 1.การบริหารจัดการที่ดี ด้วยโครงสร้างที่มีบูรณาการของระดับนโยบายและระดับบริการต่างๆ เช่น ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลภายใต้กำกับของนายกฯ หรือรองนายกฯ ดูแลกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการคลัง , กระทรวงอุตสาหกรรม , กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ , กระทรวงพลังงาน , กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อย่างใกล้ชิด ก็จะมีการดำเนินการสนับสนุนซึ่งกันและกันแบบครบวงจร

2.กฎและระเบียบต่างๆ ที่เรามี ซึ่งที่ผ่านมา สนช.ภูมิใจว่าช่วงปีของท่านได้ผ่านกฎหมายต่างๆ มากมายหลายฉบับ แต่จริงๆ ก็น่าเสียดายว่าบางฉบับไม่น่าผ่านออกมาเพราะผ่านออกมาแล้วก็ใช้ปฏิบัติไม่ได้ เช่นเรื่องแรงงานต่างด้าว ที่ภายหลังต้องใช้ ม.44 มาระงับยับยั้งการใช้ หรือเช่นการนั่งท้ายรถกระบะ ดังนั้นถ้ากฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการบริหารประเทศจะเป็นอุปสรรคการดำเนินธุรกิจในประเทศ ดังนั้นการแก้ไขก็จ้เป็นทำให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนไปได้

3.ที่สำคัญมาก คือ รัฐบาลไทยต้องตระหนักในหน้าที่ว่า เรายังมีกลไกตลาดที่ไม่สมบูรณ์ การจะปล่อยให้สิ่งต่างๆ ดำเนินไปตามกลไกตลาดจะเป็นเรื่องที่ไม่เอื้อต่อการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ และการรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจ การที่ราคาพืชผลเกษตรตกต่ำลงมา อาจไม่ใช่ความผิดของรัฐบาล แต่ที่สำคัญเมื่อราคาลดลงมาแล้วรัฐบาลไม่แก้ไข ดังนั้นต้องตระหนักรู้ว่าหน้าที่แก้ไขเป็นของรัฐบาล ซึ่งการบริหารภาพใหญ่ในเรื่องการดูแลพืชผลทางการเกษตร การดูแลรายได้ ค่าแรง ค่าจ้างแรงงาน ล้วนเป็นหน้าที่รัฐบาลที่ต้องเข้าไปกำกับส่วนที่เป็นกลไกตลาดที่ไม่สมบูรณ์นั้น

"หากละเลยแนวคิด 3 เรื่องนี้ไป การจะทำให้เศรษฐกิจดีได้ดั่งหวัง ก็จะเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากเพราะหน่วยงานไม่สอดประสานกัน เพราะกฎระเบียบต่างๆ ขัดขวางการลงทุนธุรกิจภาคเอกชนซึ่งพร้อมจะทำโดยสุจริต และเพราะกลไกตลาดไม่ทำงานทำให้เกิดผู้ได้ประโยชน์และผู้ที่เสียประโยชน์อย่างรุนแรง ไม่มีการเฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุข" นายกิตติรัตน์ กล่าว