รบ.อนุมัติ 'ลดหย่อน-ยกเว้นภาษี' เงินบริจาคหรือทรัพย์สินช่วยผู้ประสบภัย

รบ.อนุมัติ 'ลดหย่อน-ยกเว้นภาษี' เงินบริจาคหรือทรัพย์สินช่วยผู้ประสบภัย

รัฐบาลอนุมัติ "ลดหย่อน-ยกเว้นภาษี" เงินบริจาค ซ่อมแซมอาคาร รถยนต์ พร้อมบูรณาการ 7 สถาบันการเงิน ช่วยผู้ได้รับผลกระทบ "ปาบึก"

เมื่อวันที่ 8 ม.ค.62 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอนุมัติมาตรการหักลดหย่อนภาษีและยกเว้นภาษี สำหรับการเงินบริจาคหรือทรัพย์สินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากพายุโซนร้อนปาบึก โดยประชาชนสามารถนำเงินบริจาคไปหักลดหย่อนในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้เท่าจำนวนบริจาคแต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้สุทธิ ส่วนบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สามารถนำไปหักลดหย่อนในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล เท่าจำนวนที่บริจาคแต่ไม่เกินร้อยละ 2 ของกำไรสุทธิ โดยจะต้องเป็นการบริจาคผ่านหน่วยงานราชการ องค์การของรัฐบาล สถานสาธารณกุศล หรือผ่านเอกชนที่เป็นตัวแทนรับบริจาคที่ขึ้นทะเบียนกับกรมสรรพากร ส่วนผู้ประสบภัยที่ได้รับเงินบริจาค เงินชดเชยจากรัฐบาล หรือ เงินหรือทรัพย์สินที่ได้รับบริจาคนอกเหนือจากเงินชดเชยรัฐบาลจะไม่นำมาคำนวณเป็นเงินได้ แต่จะต้องไม่เกินกว่ามูลค่าความเสียหายที่ได้รับ

นายณัฐพร กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมยังอนุมัติ หลักการร่างกฎกระทรวงตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นภาษีสำหรับค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมอสังหาริมทรัพย์ และรถในพื้นที่ที่ราชการประกาศให้เป็นพื้นที่ประสบภัยพายุโซนร้อนปาบึก โดยประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินได้เท่าที่จ่ายเป็นค่าซ่อมแซมอสังหาริมทรัพย์ อาคาร ห้องชุด ไม่เกิน 2 แสนบาท และค่าซ่อมรถ ไม่เกิน 3 หมื่นบาท โดยจะต้องมีการใช้จ่ายระหว่างวัน 3 ม.ค.62 ถึงวันที่ 31 มี.ค.62 ทั้งนี้ เบื้องต้นประเมินว่า รัฐอาจสูญเสียรายได้จากมาตรการภาษีด้านอสังหาริมทรัพย์กว่า 60 ล้านบาท และมาตรการภาษีด้านรถกว่า 820 ล้านบาท

นายณัฐพร กล่าวอีกว่า ส่วนมาตรการทางด้านการเงินของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) 19 มาตรการ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพายุโซนร้อนปาบึก ประกอบด้วย ธนาคารออมสิน พักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย 3 เดือน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. ขยายเวลาชำระหนี้และให้สินเชื่อ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉินและฟื้นฟูการประกอบอาชีพ

ธนาคารอาคารสงเคราะห์ หรือ ธอส. ลดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0 ต่อปีเป็นเวลา 4 เดือน สำหรับลูกหนี้ที่หลักประกันเสียหาย และให้สินเชื่อเพื่อซ่อมแซมหรือทดแทนอาคารเดิม วงเงินกู้ไม่เกิน 1 ล้านบาท อันตราดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อปี เป็นเวลา 3 ปี หากลูกหนี้เสียชีวิตหรือทุพพลภาพ คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.01 ต่อปี ตลอดอายุสัญญา ประนอมหนี้ที่หลักประกันเสียหายและกระทบรายได้ของลูกหนี้ หากที่อยู่อาศัยได้รับความเสียหายทั้งหลัง ให้ปลอดหนี้อาคารและผ่อนชำระต่อเฉพาะที่ดินเท่านั้น

ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ ธพว. พักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยสำหรับเงินกู้ยืมแบบมีระยะเวลา (Term Loan) และสัญญาเบิกเงินทุนหมุนเวียนประเภทตั๋วสัญญาใช้เงิน (P/N) เป็นเวลา 6 เดือน

ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย พักชำระหนี้เงินต้นและกำไร 3 เดือน และพักชำระหนี้เงินต้นสูงสุด 36 เดือน โดยให้วงเงินสินเชื่อตามความจำเป็น อัตรากำไรร้อยละ SRPP-3.5 ต่อปี / ให้สินเชื่อฉุกเฉินเพื่อพี่น้องมุสลิม วงเงินไม่เกิน 5 หมื่นบาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ SRPP-3.5 ต่อปี ไม่มีค่าธรรมเนียมและไม่ต้องมีหลักประกัน

ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย พักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยสำหรับผู้ประกอบการเป็นเวลา 6 เดือน ลดอัตราดอกเบี้ยสำหรับผู้ประกอบการ ร้อยละ 1 เป็นเวลา 6-12 เดือน ให้สินเชื่อเพื่อซื้อ ซ่อมแซมเครื่องจักร อาคารโรงงาน ที่ได้รับความเสียหาย เป็นเวลา 5 ปี ปลอดชำระเงินต้นไม่เกิน 1 ปี อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปีในปีแรก

บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม ขยายระยะเวลาชำระค่าธรรมเนียมค้ำประกันเป็นเวลา 6 เดือน และโครงการค้ำประกันสินเชื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอี วงเงินค้ำประกันสูงสุดไม่เกินรายละ 5 ล้านบาท และค่าธรรมเนียมการค้ำประกันร้อยละ 0 สูงสุด 2 ปี