'แอมเนสตี้' ร้องทางการไทยอย่าส่งตัวกลับหญิงชาวซาอุฯ ไปที่เสี่ยงภัย

'แอมเนสตี้' ร้องทางการไทยอย่าส่งตัวกลับหญิงชาวซาอุฯ ไปที่เสี่ยงภัย

"แอมเนสตี้" ร้องทางการไทยอย่าส่งตัวกลับหญิงชาวซาอุฯ ไปที่เสี่ยงภัย

จากกรณีรายงานข่าวว่า ราฮาฟ โมฮาเหม็ด แอล-คูนูน 18 ปี หญิงชาวซาอุฯ เสี่ยงต่อการถูกส่งตัวกลับ จากบริเวณที่พักผู้โดยสารรอการเปลี่ยนเครื่องที่สนามบินสุวรรณภูมิ กรุงเทพฯ (ประเทศไทย)

ซามาห์ ฮาดิด ผู้อำนวยการฝ่ายรณรงค์ตะวันออกกลาง แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า ราฮาฟเสี่ยงจะได้รับอันตรายอย่างใหญ่หลวง หากทางการไทยส่งตัวเธอกลับไปซาอุดิอาระเบียผ่านคูเวต เป็นที่น่ากังวลอย่างยิ่งกับรายงานที่ระบุว่า เจ้าหน้าที่ซาอุฯ ได้ยึดหนังสือเดินทางของเธอช่วงที่เดินทางมาถึงกรุงเทพฯ นอกจากนั้นการยึดหนังสือเดินทางโดยพลการยังละเมิดสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการเดินทางอีกด้วย

“เธอได้แสดงออกอย่างชัดเจนถึงความกลัวด้านความปลอดภัยของตนเอง หากเธอต้องเดินทางกลับไปหาครอบครัวอาจทำให้เธอถูกดำเนินคดีอาญาในซาอุดิอาระเบีย เนื่องจากขัดขืนกฎหมายที่บังคับให้ผู้หญิงต้องอยู่ใต้การกำกับดูแลของญาติที่เป็นผู้ชาย (male guardianship) โดยสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UN High Commissioner for Refugees) ได้ร้องขอที่จะเข้าพบราฮาฟ ทางการไทยยังไม่ยินยอมตามคำขอ ทางการไทยต้องดำเนินการตามคำขอโดยทันที และประกันให้มีการเคารพต่อสิทธิที่จะแสวงหาที่ลี้ภัย

S__91086855

“ทางการไทยจำเป็นต้องปฏิบัติตามข้อห้าม ไม่ให้ส่งตัวบุคคลไปยังสถานที่ใดๆ ที่มีความเสี่ยงอย่างแท้จริง ว่าจะถูกปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ราฮาฟมีสิทธิเข้าถึงหลักประกันที่เป็นธรรมและเป็นผล เพื่อคัดค้านการส่งตัวกลับไปประเทศตนเอง และเข้าถึงการคุ้มครองระหว่างประเทศ”

ข้อมูลพื้นฐาน
ราฮาฟ โมฮาเหม็ด แอล-คูนูน เดินทางถึงสนามบินสุวรรณภูมิวันที่ 5 มกราคม 2562 ระหว่างการเดินทางจากคูเวตไปออสเตรเลีย ราฮาฟบอกว่า เธอหลบหนีมาจากการปฏิบัติมิชอบ การทุบตี และการขู่ฆ่าจากครอบครัวของตนเอง เมื่อมาถึงกรุงเทพฯ ราฮาฟบอกว่า เจ้าหน้าที่สถานทูตซาอุฯ ได้ยึดหนังสือเดินทางของเธอเอาไว้ ส่วนหน่วยงานตรวจคนเข้าเมืองของไทยบอกว่า ถูกขัดขวางไม่ให้เดินทางต่อไปยังออสเตรเลีย และได้มีการติดต่อกับ “สถานเอกอัครราชทูตซาอุดิอาระเบียเพื่อประสานงาน” ในเรื่องนี้ ปัจจุบันเธอถูกกักตัวที่โรงแรมในสนามบิน และมีการทวิตสดเพื่อรายงานความคืบหน้าสถานการณ์ของตนเอง

ที่มา AMNESTY