กรุงศรีมองโอกาส! หลังบาทแข็งค่าสุดในรอบ 7 เดือน

กรุงศรีมองโอกาส! หลังบาทแข็งค่าสุดในรอบ 7 เดือน

กรุงศรี มองเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ 31.80-32.10 หลังบาทแข็งค่าสุดในรอบ 7 เดือน เผยมีโอกาสสูงขึ้นที่กระแสเงินทุนจะไหลกลับเข้าสู่ตลาดเกิดใหม่ในปีนี้

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า มีแนวโน้มซื้อขายในกรอบ 31.80-32.10 ต่อดอลลาร์ เทียบกับระดับปิดแข็งค่าที่ 32.07 ต่อดอลลาร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยเงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 7 เดือน ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 4.2 พันล้านบาท แต่ซื้อพันธบัตร 4.1 พันล้านบาท  ส่วนเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเทียบทุกสกุลเงินสำคัญ ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ลดลงในช่วงแรกท่ามกลางความผันผวนของตลาดหุ้น โดยอัตราผลตอบแทนอายุ 2 ปีลดลงต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ เป็นครั้งแรกในรอบกว่า 10 ปี ขณะที่ตลาดกังวลกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและเศรษฐกิจโลก  

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี มองว่า มีโอกาสสูงขึ้นที่กระแสเงินทุนจะไหลกลับเข้าสู่ตลาดเกิดใหม่ในปีนี้ โดยนักลงทุนกลับเข้าซื้อสินทรัพย์เสี่ยง หลังสหรัฐฯ เปิดเผยข้อมูลการจ้างงานแข็งแกร่งเกินคาด และยิ่งไปกว่านั้น ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ให้คำมั่นว่าจะยืดหยุ่นมากขึ้นในการกำหนดทิศทางดอกเบี้ยและจะให้ความสำคัญต่อปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่บั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุน เราประเมินว่า ท่าทีล่าสุดของประธานเฟดเป็นการส่งสัญญาณชะลอการขึ้นดอกเบี้ย นอกจากนี้ ตลาดจะให้ความสนใจการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนในวันที่ 7-8 มกราคมรายงานการประชุมเฟด และตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ในสัปดาห์นี้

สำหรับปัจจัยในประเทศ รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม ระบุว่าการส่งออกมีแนวโน้มชะลอลงตามการค้าโลกและมาตรการกีดกันทางการค้า ขณะที่การย้ายฐานการผลิตมายังไทยจะช่วยบรรเทาผลกระทบได้บ้าง โดยกนง.เห็นว่าแม้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเติบโตในอัตราที่ชะลอตัวลงแต่ยังอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับศักยภาพ ส่วนการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนเริ่มขยายตัว กรรมการส่วนใหญ่เห็นว่าการขึ้นดอกเบี้ยเล็กน้อยไม่เป็นอุปสรรคต่อเศรษฐกิจในระยะต่อไป แต่จะช่วยลดความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงิน และจะช่วยปรับสมดุลต่อพฤติกรรมการบริโภค การออม การกู้ยืม และการลงทุน โดยเราตั้งข้อสังเกตว่าการที่กนง.เห็นว่าดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.75% ยังคงอยู่ในระดับที่ผ่อนคลายนั้นยืนยันแนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยการตัดสินใจในการประชุมแต่ละครั้งจะขึ้นอยู่กับพัฒนาการของข้อมูลและสถานการณ์เป็นสำคัญ