ดุสิตธานี กรุงเทพฯ ‘ปิดเพื่อเปิด’ สู่ตำนานบทใหม่

ดุสิตธานี กรุงเทพฯ ‘ปิดเพื่อเปิด’ สู่ตำนานบทใหม่

เวลาเคลื่อนเร็ว นับถอยหลังอีกไม่กี่ชั่วโมง “โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ” ถึงคราวต้องปิดให้บริการ เพราะทันทีที่เข็มนาฬิกาแตะเวลา 14.00 น.ของวันพรุ่งนี้ (5 ม.ค.) คือเวลาที่ประตูทุกบานของตำนานโรงแรมไทยอายุเกือบ 5 ทศวรรษแห่งนี้จำต้องปิดสนิท

ปิดเพื่อเปิด เพื่อก้าวสู่ตำนานบทใหม่ !

นั่นคือโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์แบบผสมผสาน หรือ “มิกซ์ยูส ที่บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) ร่วมทุนกับบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอ็น เมื่อราว 1 ปีกว่า มูลค่ารวมกว่า 3.67 หมื่นล้านบาท บริเวณหัวมุมถนนพระราม 4 ตัดกับสีลม หวังสร้างความคึกคักในฐานะ แลนด์มาร์กแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ ด้วยเอกลักษณ์และตัวตนในแบบฉบับดุสิตธานี

แน่นอนว่าหนึ่งในโครงการมิกซ์ยูสนี้ ย่อมมีชื่อของโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯแห่งใหม่รวมอยู่ด้วย ผนึกกำลังกับศูนย์การค้า เรสซิเดนส์ และอาคารให้เช่าสำนักงาน โดดเด่นด้วยโลเกชันซึ่งตั้งอยู่จุดศูนย์กลางการเดินทางทุกระนาบ

ย้อนไปเมื่อวันที่ 27 พ.ย.ปีที่แล้ว ในงานประกาศความร่วมมือโครงการบันทึกการเปลี่ยนผ่านหน้าประวัติศาสตร์ของโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ ระหว่างบริษัท ดุสิตธานีฯ และมหาวิทยาลัยศิลปากร ชนินทธ์ โทณวณิก รองประธานกรรมการและประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ดุสิตธานีฯ เล่าถึงเรื่องราวและความผูกพันของผู้คนที่มีต่อโรงแรมซึ่งถือกำเนิดขึ้นเมื่อปี 2513 ว่า หลังจากผู้คนมากมายทราบข่าวการปิดให้บริการชั่วคราวเพื่อรื้อถอนโรงแรมแห่งนี้ ใจหาย และ เสียดายคือคำสั้นๆ ที่นิยามความรู้สึกเหล่านั้นได้ดีที่สุด

ตามมาด้วยคำพูดทำนอง “ไม่น่าทุบเลย” และ “น่าจะอนุรักษ์เอาไว้” แน่นอนว่าคนที่โดนตำหนิมากที่สุดหนีไม่พ้นผู้เป็นเจ้าของอย่างชนินทธ์ ผ่านทุกช่องทาง ทั้งจดหมาย อีเมล และต่อหน้า จนชนินทธ์คิดว่าช่วงปีกว่าๆ นับตั้งแต่ประกาศว่าจะรื้อถอนโรงแรม น่าจะเป็นช่วงที่เขาถูกต่อว่ามากที่สุดในชีวิต!

“ผมถูกว่ามาตลอด พวกอีเมลและต่อหน้าจะเบาหน่อย แต่ที่หนักๆ คือทางจดหมาย มีทั้งชาวไทยและต่างชาติ ผมจะเก็บจดหมายและอีเมลเหล่านี้ไว้หมด เผื่อวันหนึ่งจะนำไปติดกำแพงตรงไหนสักแห่ง เพราะเมื่อมองมุมกลับ นี่คือเรื่องดี สะท้อนให้เห็นว่าทั้งคนไทยและต่างชาติเขาผูกพันและเห็นความสำคัญของโรงแรมนี้ เพราะถ้าไม่เห็นความสำคัญ เขาคงไม่มาด่าผม บางคนถึงกับบอกเลยว่าคุณทำแบบนี้ได้อย่างไร โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯไม่ใช่ของบริษัทดุสิตธานีฯ แต่เป็นของประเทศไทย

แม้จะผูกพันและเสียดายเพียงใด แต่ในฐานะเจ้าของและผู้บริหาร ชนินทธ์ จำต้อง “กัดฟัน ตัดสินใจทุบโรงแรมเดิมเพื่อสร้างขึ้นใหม่!

เพราะเมื่อเวลาผ่านไป การแข่งขันของธุรกิจโรงแรมเปลี่ยนไป ความต้องการของนักท่องเที่ยวสมัยก่อนกับปัจจุบันแตกต่างกัน ห้องของดุสิตธานี กรุงเทพฯมีขนาด 29-32 ตารางเมตรเท่านั้น ต่างจากห้องของโรงแรมหรูในปัจจุบันซึ่งมีขนาดกว่า 40-50 ตารางเมตร ขนาดมันสู้กันไม่ได้ แม้ว่าจะพยายามเอาสองห้องมารวมเป็นห้องเดียวแล้ว แต่ติดปัญหาเรื่องโครงสร้างโรงแรมที่แก้ลำบาก

ทำให้กลุ่มดุสิตธานีต้องทำในสิ่งที่ต้องทำ นั่นคือการเลือกว่าจะอยู่ตรงไหน ระหว่างความทรงจำกับความสำเร็จ

โดยจุดที่ทำให้ ชนินทธ์ ตัดสินใจได้หลังใช้เวลาคิดอยู่นาน นั่นคือการคิดถึงสิ่งที่สำคัญที่สุดของบริษัท ดุสิตธานีฯ นั่นคือ ความตั้งใจและเป้าหมายของท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งและคุณแม่ของชนินทธ์ ที่อยากให้โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯสามารถแข่งขันได้ในระดับโลกในอีกหลายสิบปีข้างหน้า

ควบคู่ไปกับการเป็นโรงแรมสไตล์ไทย บริหารโดยคนไทย บริการแบบคนไทย และมีชื่อไทย

ในงานเลี้ยง “ผูกพันด้วยใจ ก้าวไปกับดุสิต” ที่ทางบริษัท ดุสิตธานีฯ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 20 ธ.ค.ปีที่แล้ว เพื่อย้อนรำลึกความทรงจำและร่วมเป็นส่วนหนึ่งในประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ ชนินทธ์ กล่าวย้ำบนเวทีว่า งานในครั้งนี้ ไม่ได้จัดขึ้นเพื่ออำลาโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ แต่เป็นการจัดขึ้นเพื่อขอบคุณที่ทุกคนให้การสนับสนุนอย่างดีมาโดยตลอด

โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯจะยังไม่ไปไหน เป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคทั้งในด้านการตลาดและผู้แข่งขัน โดยใน 4 ปีข้างหน้าจะได้พบกับโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯโฉมใหม่ ที่ยังคงใช้ปรัชญาในการบริหาร ออกแบบ และการดูแลเรื่องการบริการเหมือนเดิม ชนินทธ์กล่าวทิ้งท้ายอย่างเรียบง่าย

และนี่คือความยิ่งใหญ่และก้าวใหม่ของโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ

เหมือนกับความหมายของเพลงดังระดับตำนาน “My Way” ที่ถูกขับขานในงานเลี้ยงคืนนั้น ‘…I did it my way’