‘บล็อกเชน’สานฝัน‘อี-โหวต’ จุดเริ่มเลือกตั้งโปร่งใส

‘บล็อกเชน’สานฝัน‘อี-โหวต’   จุดเริ่มเลือกตั้งโปร่งใส

บล็อกเชน (Blockchain) เทคโนโลยีใหม่ที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงโลก เริ่มมีการพูดถึงและให้ความสนใจในหลายวงการ ซึ่งรวมถึงกิจกรรม “การเลือกตั้ง” ที่หลายคนรออยู่ โดยคาดหวังว่าจะเป็นเครื่องมือที่ทำให้เกิดความโปร่งใสตามที่ทุกฝ่ายให้ความสำคัญ

ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ได้ศึกษาและพัฒนารูปแบบบล็อกเชนที่เหมาะสมกับการเลือกตั้ง และเตรียมขยายผลจับมือภาคการศึกษา สร้างการรับรู้ พร้อมนำร่องทดสอบใช้งานในสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งเป็นองค์กรต้นสังกัด หวังสร้างการรับรู้และยอมรับทั้งในระดับผู้นำและประชาชนทั่วไป

หลักการทำงานอย่างกว้างๆ ของบล็อกเชนคือ การเก็บข้อมูลให้กระจายออกไปไว้หลายๆ ที่ หรือที่เรียกว่า โหนด (Node) แทนที่จะเก็บไว้ในศูนย์กลางที่เดียว และทุกคนสามารถตรวจสอบได้ตลอดเวลา ว่าข้อมูลถูกเปลี่ยนแปลงหรือไม่ด้วยการเปรียบเทียบกับโหนดอื่นๆ จึงเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือ ปลอดภัยจากการโจมตีเปลี่ยนแปลงข้อมูล เนื่องจากฐานข้อมูลมีการเก็บไว้ในหลาย ๆ ที่ ขณะที่การเก็บข้อมูลไว้ที่ศูนย์กลางที่เดียว อาจจะไม่สามารถตรวจสอบหากข้อมูลนั้นถูกเปลี่ยนแปลงโดยผู้ไม่ประสงค์ดี

บล็อกเชนต้านโกง

ชาลี วรกุลพิพัฒน์ หัวหน้าห้องปฏิบัติการวิจัยความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ หน่วยวิจัยเครือข่ายไร้สายและความมั่นคง เนคเทค เปิดเผยว่า การโหวตเลือกตั้งด้วยวิธีอิเล็กทรอนิกส์ หรือที่เรียกว่า e-Vote นั้น สามารถนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ได้เช่นกัน ด้วยการเก็บผลการโหวตกระจายไปในแต่ละโหนดของผู้ที่โหวต ดังนั้น ถ้าข้อมูลถูกแก้ไขในโหนดใดๆ ก็จะสามารถทราบได้ทันที ต่างจากวิธีการแบบดั้งเดิมที่เป็นการเก็บผลโหวตไว้ในที่เดียว ซึ่งหากถูกแก้ไขไปแล้วก็จะตรวจสอบได้ยาก 

"การนำบล็อกเชนมาใช้กับการเลือกตั้ง ก็สามารถเป็นวิธีลดการโกงการเลือกตั้งได้ เมื่อคะแนนจะถูกส่งจากผู้ลงคะแนนถึงผู้ลงสมัครที่ถูกเลือกโดยตรง ทั้งนี้ บล็อกเชนเป็นเทคโนโลยีที่มีมาระยะหนึ่งแล้ว โดยเป็นเทคโนโลยีที่ขจัดตัวกลาง ซึ่งก็คือ ผู้รวบรวมคะแนนและบุคคลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอาจมีส่วนได้ส่วนเสียกับการเลือกตั้ง”

จุดเด่นหลักของบล็อกเชน คือช่วยต้านโกง และลดต้นทุน โดยมีผู้เกี่ยวข้องหลักในระบบ แค่ 3 กลุ่มคือผู้คุมการเลือกตั้ง คือผู้มีหน้าที่ระบุผู้มีสิทธิเข้าร่วมลงคะแนน และกำหนดคุณสมบัติผู้มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง, ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง คือผู้ที่ประสงค์ลงสมัครและมีคุณสมบัติครบตามที่ผู้คุมการเลือกตั้งกำหนด และผู้ลงคะแนน คือผู้ที่มีสิทธิในการลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครรับเลือกตั้ง 

ผู้ลงคะแนนไม่จำเป็นต้องเดินทางไปยังหน่วยเลือกตั้ง สามารถอยู่ ณ จุดใดๆ ก็ได้ในโลกที่มีอินเทอร์เน็ตเข้าถึง จึงสามารถลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ลดขั้นตอนและเวลาเพิ่มความสะดวกให้กับผู้เลือกตั้ง ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้มีจำนวนผู้ใช้สิทธิมากขึ้น จะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการเลือกตั้ง อำนวยความสะดวกและสามารถลดปัญหาต่างๆ ได้หลายด้าน

ระบบยังสามารถป้องกันการแอบอ้างตัวตนเป็นบุคคลอื่นได้ด้วย เพื่อให้ได้สิทธิในการลงคะแนนเพิ่ม, สามารถประมาณการงบประมาณ ค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งล่วงหน้าได้อย่างชัดเจน อีกทั้งงสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการประมวลผลและจัดการข้อมูลคะแนนโหวตได้อย่างเป็นระบบ 

ที่สำคัญผลโหวตมีความโปร่งใส น่าเชื่อถือ สร้างการยอมรับให้กับทุกๆ กลุ่ม เมื่อเปรียบเทียบกับการโหวตด้วยวิธีแบบเดิม

ศึกษาเทคโนโลยีเพื่ออนาคต

การเลือกตั้งด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชน (e-Voting System) ที่ทีมวิจัยเนคเทคกำลังพัฒนาอยู่นั้นเริ่มต้นมาราว 6 เดือน โดยวางแพลตฟอร์มการทำงานตามทฤษฎีของบล็อกเชน แต่เป็นสเกลเล็กที่สามารถใช้ได้ในการเลือกตั้งท้องถิ่น องค์กร บริษัท ชมรม สมาคม ฯลฯ และใช้กับอุปกรณ์ที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น สมาร์ทโฟน แทบเล็ต คอมพิวเตอร์ ฯลฯ ขึ้นอยู่กับความต้องการและความเหมาะสม

"เราตั้งเป้าที่จะจับมือกับภาคการศึกษาเพื่อวิจัยและทดสอบระบบการเลือกตั้งด้วยบล็อกเชนนี้ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีสำหรับอนาคต ดังนั้น เยาวชนคนรุ่นใหม่จะยอมรับเทคโนโลยีใหม่ได้ง่ายกว่าคนที่อายุมากและยึดติดกับรูปแบบเดิมที่คิดว่า ดีอยู่แล้ว ในขณะที่เด็กๆ หากได้รู้จักและคุ้นเคยกับระบบ เมื่อโลกเปลี่ยน การเลือกตั้งเปลี่ยนมาสู่ระบบอิเล็กทรอนิกส์ ก็สามารถจะปรับตัวและยอมรับได้ง่าย” ชาลี กล่าว

การทดสอบระบบในสถานศึกษา อาจจะเริ่มจากการเลือกตั้งหัวหน้าชมรม หรือการเลือกตั้งสโมสรนักศึกษาก่อน แต่ในช่วงไตรมาส 2 ปี 2562 จะเริ่มทดสอบระบบในองค์กรที่ใหญ่ขึ้นในเชิง Private Blockchain นำร่องที่ สวทช. เอง อาจจะเป็นการเลือกประธานกรรมการสหกรณ์, ประธานตัวแทนพนักงาน หรือหัวหน้าห้องปฏิบัติการต่างๆ

ส่วนในอนาคต หากจะทำในสเกลใหญ่ขึ้น ก็สามารถใช้เทคโนโลยีต่างๆ เช่น เทคโนโลยีการระบุตัวตนอย่างการจดจำใบหน้า มาตอบโจทย์ความโปร่งใสได้ หรือใช้ปัจจัย 4 คือ รหัสถูกต้องไหม, อุปกรณ์ตรงกับที่ลงทะเบียนไว้ไหม, ใบหน้าตรงไหม และโลเคชั่นตรงไหม

อี-โหวตไทย ใครต้องพร้อม?

ยกตัวอย่างการใช้บล็อกเชนในไทย เมื่อเม.ย.ที่ผ่านมากรมพลศึกษาได้นำเทคโนโลยีสารสนเทศ เข้ามาสนับสนุนกระบวนการทำงานในการขอใบอนุญาตเป็นผู้ฝึกสอนกีฬาและผู้ตัดสินกีฬา และการเลือกตั้งคณะกรรมการส่งเสริมมาตรฐานผู้ฝึกสอนกีฬาและผู้ตัดสินกีฬา เพื่อความสะดวก ถูกต้อง โปร่งใส และรวดเร็ว และลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนโดยมีที่ปรึกษาจากสำนักงานศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นผู้พัฒนาระบบออกใบอนุญาตผู้ฝึกสอนกีฬาและผู้ตัดสินกีฬา

ส่วนการจะใช้บล็อกเชนกับการเลือกตั้งใหญ่ของประเทศอาจต้องใช้เวลา เพราปัจจัยหลักคือ“คน”ที่การใช้งานอุปกรณ์ดิจิทัลยังไม่ครอบคลุม มีความเหลื่อมล้ำทั้งในเชิงรายได้และการศึกษา ซึ่งหากจะเกิดการเปลี่ยนแปลงต้องทำให้ ”ทุกคน“ รู้หนังสือและใช้งานอินเทอร์เน็ตเป็นซึ่งตอนนี้ไม่ได้ทั้ง 2 เรื่อง ในขณะเดียวกัน อินเทอร์เน็ตต้องครอบคลุมทุกพื้นที่และราคาถูกให้ทุกคนเข้าถึงได้ส่วนปัจจัยสุดท้ายคือ ผู้นำประเทศและประชาชนทุกคนต้องยอมรับ

อย่างไรก็ตาม เรื่องของเทคโนโลยี ถือว่ามีความพร้อมในระดับหนึ่งแล้วโดยนักวิจัยไทยสามารถทำได้ หากเริ่มจากการใช้ 2 ระบบไปพร้อมๆ กันคือ การเลือกตั้งแบบเดิม และอี-โหวต ด้วยเงื่อนไขเดียวคือ ระบบต้องดี ไม่มีการเลือกซ้ำซ้อน โดยให้คนส่วนใหญ่ใช้การเลือกตั้งระบบเดิม