ศธ.สั่งโรงเรียนรับมือพายุปาบึก

ศธ.สั่งโรงเรียนรับมือพายุปาบึก

ศธ.ตั้งศูนย์ป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติพายุโซนร้อน “ปาบึก” ่ส่วนกลาง-ภูมิภาค พร้อมสั่งการสพฐ. กำชับโรงเรียนพื้นที่ภาคใต้ทั้งหมด เตรียมรับมือพายุปาปึก

นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวว่าขณะนี้ทางศธ. ได้มีการจัดตั้งศูนย์ป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติพายุโซนร้อน “ปาบึก” พร้อมทั้งได้สั่งการให้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กำชับไปยังสถานศึกษาในพื้นที่ภาคใต้ทั้งหมด เพื่อเตรียมรับมือกับพายุโซนร้อนปาบึก โดยขอให้ติดตามข่าวสาร สถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด เพราะเรื่องนี้ต้องไว เหมือนตอนที่นายกรัฐมนตรีเคยปรารภไว้ ตอนที่มีเรื่องพายุน้ำท่วมเข้าว่าให้รู้ให้ไว และถ้ารู้ต้องมีการเตือนกัน ซึ่งการเตือนไม่ใช่ตามแต่ประกาศแต่สถานศึกษาต้องเฝ้าระวัง ต้องรู้ว่าพายุเริ่มมีความรุนแรงหรือไม่อย่างไร และขณะนี้กรมอุตุนิยมวิทยาก็ได้มีการแจ้งเขตพื้นที่ไหนสีแดง ต้องเตรียมการอย่างไร
ทั้งนี้ สำหรับศูนย์ป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติพายุโซนร้อน “ปาบึก” มีสถานที่ตั้งของศูนย์ฯ ดังนี้ ส่วนกลาง ตั้งอยู่ที่ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ อาคารราชวัลลภ ถ.ราชดำเนินนอก กรุงเทพฯ และส่วนภูมิภาค มีจำนวน 3 แห่ง ได้แก่ สำนักงานศึกษาธิการภาค 6 ตั้งอยู่ที่ ต.โพธิ์เสด็จ อ.เมืองนครศรีธรรมราช จ.นครศรีธรรมราช รับผิดชอบพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี 2. สำนักงานศึกษาธิการภาค 7 ตั้งอยู่ที่ ต.ตลาดใหญ่ อ.เมืองภูเก็ต จ.ภูเก็ต รับผิดชอบพื้นที่ จ.ภูเก็ต ระนอง พังงา กระบี่ และตรัง และ 3.สำนักงานศึกษาธิการภาค 8 ตั้งอยู่ที่ ต.สะเตง อ.เมืองยะลา จ.ยะลา รับผิดชอบพื้นที่ จ.ยะลา พัทลุง สงขลา ปัตตานี นราธิวาส และสตูล ซึ่งศูนย์ดังกล่าวเหล่านี้ จะเฝ้าระวัง ป้องกัน และบรรเทา ตามมาตรการป้องกันและบรรเทาภัยการป้องกัน


อย่างไรก็ตาม ในส่วนมาตรการป้องกันนั้น จะเป็นการเตรียมรับมือเพื่อลดความเสียหายในชีวิตและทรัพย์สินของครู นักเรียน นักศึกษา ผู้ปกครองและสถานศึกษาในสถานศึกษา ดังนี้ 1. หน่วยงานทางการศึกษาเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ความเคลื่อนไหวของพายุโซนร้อนปลาบึกจากกรมอุตุนิยมวิทยา กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัยและศูนย์ป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติส่วนพายุโซนร้อนปาบึก กระทรวงศึกษาธิการ พร้อมแจ้งเตือนแก่ครู นักเรียน นักศึกษา ผู้ปกครอง และผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดต่อเนื่อง 2.สถานศึกษาจัดทำแผนเผชิญเหตุภัยพิบัติพายุโซนร้อนปาบึก พร้อมทั้ง ให้มีการซักซ้อมเพื่อเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ 3.เคลื่อนย้ายทรัพย์สินของทางราชการให้อยู่ในที่ปลอดภัย 4.สถานศึกษาจัดเตรียมอุปกรณ์ยังชีพ ยา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์สื่อสาร เพื่อช่วยเหลือกรณีฉุกเฉิน 5.สถานศึกษาวิเคราะห์ความเสี่ยงในการเดินทางของนักเรียน นักศึกษา โดยให้เน้นความปลอดภัยในชีวิตเป็นสำคัญ หากมีความจำเป็นต้องสั่งปิดสถานศึกษาให้อยู่ในดุลยพินิจผู้บริหารสถานศึกษา 6.จัดเตรียมที่พักพิงในกรณีจำเป็น ต้องมีการเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัยพิบัติ 7.สำรวจและซ่อมแซมอาคารสถานที่ ระบบไฟฟ้า-ประปา ให้มีความพร้อมต่อการรับสถานการณ์


ส่วนมาตรการบรรเทา จะเป็นการช่วยเหลือเยียวยาและรายงานผลกระทบในระหว่างและหลังเกิดภัยพิบัติต่อศูนย์ป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติพายุโซนร้อนปาบึก กระทรวงศึกษาธิการ ดังนี้ 1.สำรวจความเสียหายในชีวิตและทรัพย์สินของครู นักเรียน-นักศึกษา ผู้ปกครองและสถานศึกษา 2.ประสานความช่วยเหลือจากทุกภาคส่วน 3.จัดศูนย์ซ่อม สร้าง เพื่อชุมชน (Fix it center )เคลื่อนที่ไปให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ ที่ได้รับผลกระทบ 4.จัดอาชีวะอาสา ลูกเสือจิตอาสา ลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ 5.รายงานข้อมูลความเสียหายและผลการดำเนินการให้ความช่วยเหลือตามรูปแบบที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด และ 6.จัดทำข้อมูลเพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณ


นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) กล่าวว่า สำหรับการเตรียมรับมือพายุปาปึกนั้น ขณะนี้สถานศึกษาที่ได้รับผลกระทบต่างรับทราบมีการเฝ้าระวังอยู่แล้ว ซึ่งสพฐ.เองก็ได้มีการรวบรวมข้อมูลข่าวสารจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา แจ้งผ่านช่องทาง OBEC Line 2018 แก่สถานศึกษาว่าพื้นที่ใดเกิดเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นบ้าง และต้องมีการเตรียมตัวอย่างไร ส่วนการตัดสินใจจะปิดโรงเรียน หรือไม่นั้น ได้มีการแจ้งไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และผู้อำนวยการโรงเรียน หากสถานศึกษาอยู่ในพื้นที่เสี่ยง พื้นที่แนวพายุที่จะได้รับผลกระทบ สามารถประเมินสถานการณ์ และดำเนินการตามแนวทาง ดังต่อไปนี้ได้ทันที คือ ควรหยุดเรียนให้นักเรียนอยู่กับผู้ปกครอง ควรเตรียมเก็บวัสดุอุปกรณ์ สิ่งของที่จะเกิดความเสียหายให้อยู่ในที่ปลอดภัย และเตรียมการให้การช่วยเหลือประชาชน โดยถ้าโรงเรียนไหนอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย มีอาคารมั่นคง ขอให้เปิดสถานศึกษาเป็นพื้นที่บริการประชาชนในการอพยพ มาอยู่อาศัย