เทคโนโลยี-พลังงานใหม่ ขับเคลื่อนตลาดรถยนต์

เทคโนโลยี-พลังงานใหม่ ขับเคลื่อนตลาดรถยนต์

ปี 2561 นอกจากการเติบโตอย่างร้อนแรงของตลาดรถยนต์ ที่ทำให้ยอดขายรวมกลับมาสู่ระดับล้านคันอีกครั้งหลังจากหมดโครงการรถคันแรก ก็คือ เรื่องราวของเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่แพร่หลายมากขึ้น เรียกว่าเป็นปีที่มีการแข่งขันทางด้านเทคโนโลยีสูงปีหนึ่ง

เทคโนโลยี ไอ-สมาร์ท ของเอ็มจี ที่สร้างเสียงฮือฮาในช่วงปลายปี 2560 กับการใส่เข้ามาในรถเอสยูวีตัวเล็กอย่าง แซดเอส กับจุดขายหลายอย่าง โดยเฉพาะการสั่งการด้วยเสียงภาษาไทยเป็นครั้งแรก

แม้ว่าช่วงแรกระบบจะยังไม่เสถียรนัก และเป็นการดำเนินการของค่ายรถขนาดเล็ก ทำให้ความแพร่หลายไม่มากนัก แต่ก็ได้รับความสนใจของกลุ่มลูกค้าเอ็มจีไม่น้อย และจากนั้น เอ็มจีก็พยายามพัฒนาลดจุดด้อยต่างๆ ลง และเมื่อมีผู้ใช้มากขึ้น ก็ทำให้ความแม่นยำของระบบนั้นเพิ่มขึ้น และหลังจากนั้น เอ็มจี ก็นำไอ-สมาร์ท มาใส่ในเอ็มจี 3 ไมเนอร์เชนจ์ แต่ว่าไม่เต็มระบบเหมือนที่อยู่ใน แซดเอส 

มาสด้า เป็นอีกค่ายที่ประสบความสำเร็จในด้านการตลาด ซึ่งส่วนหนึ่งของความสำเร็จก็ต้องบอกว่าคือ การใช้เทคโนโลยีเป็นจุดขาย

มาสด้า หยิบยก เทคโนโลยี จี เวคเทอริ่ง คอนโทรล เทคโนโลยีที่ช่วยลดแรงจี ทั้งแนวตั้งและแนวนอนขึ้นมาเป็นจุดขายตั้งแต่ปี 2560 และก็ยังใช้เป็นสิ่งที่สื่อสารกับลูกค้าในปีนี้ พร้อมกับขยายเข้าไปยังรถรุ่นต่างๆ ให้ครอบคลุมตลาด

โตโยต้า นำระบบ ที-คอนเนคท์ เทเลเมติคส์ มาใช้ในปี 2560 แต่ว่า ปีนี้เป็นการนำเสนอเต็มรูปแบบ เพราะฝังมาในรถ ซี-เอชอาร์เลย จากที่่ก่อนหน้านั้นเป็นออปชั่นให้ลูกค้าเลือกซื้อ 

ที-คอนเนคท์ เทเลเมติคส์ ครอบคลุมการทำงานเช่น ระบบแจ้งเตือนการบำรุงรักษารถยนต์ ระบบการนัดหมายนำรถเข้าบริการ ระบบตรวจสอบตำแหน่งรถยนต์กรณีถูกโจรกรรม ไปจนถึงการประสานงานความช่วยเหลือฉุกเฉิน เป็นต้น

ด้านฮอนด้า ก็มีระบบที่เรียกว่า คอนเนค ระบบที่มีฟังก์ชันการทำงานหลักๆ เช่น การตรวจสอบการแจ้งเตือนสถานะความพร้อมของรถยนต์ การแสดงข้อมูลลักษณะการขับขี่ และระบบติดต่อช่วยเหลือในกรณีฉุกเฉิน เป็นต้น 

ระบบในลักษณะนี้ยังมีในบีเอ็มดับเบิลยูที่เรียกว่า คอนเนคเต็ด ไดรฟ์ ซึ่งมีฟังก์ชัน การช่วยเหลือฉุกเฉิน การโทรออกฉุกเฉิน ฟังก์ชันผู้ช่วยส่วนตัว 24 ชม. เพื่อสอบถามข้อมูลเช่น หมายเลขติดต่อสถานที่สำคัญ ข้อมูลเที่ยวบิน เวลาเปิดปิดของสถานที่ต่างๆ บริการนัดหมายเข้ารับบริการในศูนย์บริการ เป็นต้น

ในด้านพลังงานก็มีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ เพราะปีนี้ พลังงานไฟฟ้าเริ่มเข้ามามีบทบาทที่ชัดเจนมากขึ้น ทั้งในรูปแบบของลูกผสม หรือว่าไฟฟ้าเต็มรูปแบบ

ลูกผสมมีทั้งไฮบริด และปลั๊กอิน ไฮบริด ซึ่งที่ผ่านมาก็มีคนทำตลาดอย่างจริงจังอยู่แล้ว โดยเฉพาะกลุ่มรถพรีเมียมจากยุโรป ไม่ว่าจะเป็น บีเอ็มดับเบิลยู หรือว่า เมอร์เซเดส-เบนซ์ ที่ยอดขายกลุ่ม ปลั๊กอิน ไฮบริดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าจะเป็นตลาดหลักในอนาคต 

นอกจากนี้ ฝั่งวอลโว่ ก็เริ่มขยับตัวเข้ามาสู่ตลาดนี้มากขึ้นเช่นกัน รวมถึง ปอร์เช่ จากเยอรมนีเช่นกัน 

แต่ที่น่าสนใจสำหรับไฮบริด ก็คือ การขยับตัวในตลาดแมส เมื่อโตโยต้า เริ่มต้นผลิตรถไฮบริดในโครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ และได้รับการตอบรับที่ดีจากตลาดสำหรับ ซี-เอชอาร์ 

ด้านอีวีปีนี้ ก็มีความเคลื่อนไหวหลายค่ายด้วยกัน ทั้งเกีย ที่เปิดตัว โซล อีวี ฮุนได เปิดตัว ไอออนิค และบีวายดี ที่เปิดตัว อี6 แต่เลือกทำตลาดเป็นรถสาธารณะ คือ แท็กซี่ วีไอพี เนื่องจากเห็นว่าโครงสร้างของรถยังไม่เหมาะกับการใช้งานส่วนตัว

ความเคลื่อนไหวที่สร้างความสนใจมากที่สุด คือ การมาของ นิสสัน ลีฟ รถที่ถูกจับตามานาน และเมื่อนิสสันเปิดตัวอย่างเป็นทางการ สิ่งที่เป็นประเด็นให้พูดถึงกันมากก็คือเรื่องของราคาจำหน่าย 1.99 ล้านบาท โดยบางคนก็มองว่าสูงเกินไป แต่หลายคนก็มองว่ามีกลุ่มลูกค้าที่พร้อมซื้อ

พลังงานไฟฟ้าเริ่มเห็นภาพชัดเจนขึ้น และในปี 2562  จะมีความเคลื่อนไหวใหม่ๆ ที่หลากหลาย ซึ่ง กรุงเทพธุรกิจยานยนต์จะติดตามและนำมาเสนออย่างเข้มข้นต่อไป