สภาพัฒน์ห่วง3ปัจจัย ฉุดขีดแข่งขันแรงงาน

สภาพัฒน์ห่วง3ปัจจัย ฉุดขีดแข่งขันแรงงาน

“สภาพัฒน์” เสนอแก้ 3 ปัจจัย กระทบความสามารถแรงงานไทย ชี้ต้นทุนนายจ้างจ่ายชดเชยออกจากงานสูง การกำหนดค่าแรงถูกคุยจากส่วนกลาง สหภาพแรงงานของไทยลดลง 2 ปี ต่อเนื่อง

เวิลด์ อิโคโนมิก ฟอรัม (ดับเบิลยูอีเอฟ) 2018 ได้เผยแพร่รายงานดัชนีความสามารถในการแข่งขันระดับโลก 4.0 (Global Competitiveness Index: GCI 4.0) ในปี 2651 โดยเป็นการจัดอันดับความสามารถของแรงงานใน 140 ประเทศทั่วโลก ซึ่งประเทศไทยถูกจัดอันดับให้อยู่ในอันดับที่ 38 ปรับตัวดีขึ้นจากอันดับ 40 ในปี 2560 และเมื่อพิจารณาในกลุ่มประเทศอาเซียนไทยอยู่ในอันดับที่ 3 รองจากสิงคโปร์และมาเลเซีย

นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) กล่าวว่า ในส่วนของปัจจัยทั้ง 3 ด้านที่ต้องปรับปรุงตามรายงานของดับเบิลยูอีเอฟ ได้แก่ 1.ด้านต้นทุนในการออกจากงาน ซ่ึ่งดับเบิลยูอีเอฟ พิจารณาจากจำนวนสัปดาห์ที่มีการจ่ายค่าชดเชยต่อสัปดาห์ให้กับลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้าง โดยประเทศไทยนายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยให้ลูกจ้างเฉลี่ยประมาณ 36 สัปดาห์ ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ซึ่งค่าเฉลี่ยดังกล่าวค่อนข้างสูง เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆส่งผลให้ต้นทุนการจ้างงานของผู้ประกอบการในไทยอยู่ในระดับสูง

2.ด้านความยืดหยุ่นในการกำหนดค่าจ้างแรงงาน ที่ปัจจุบันไทย มีความเป็นอิสระในระดับหนึ่ง โดยผู้ประกอบการแต่ละรายสามารถกำหนดค่าจ้างให้แตกต่างกันได้ แต่การกำหนดค่าจ้างดังกล่าวยังคงอยู่ภายใต้อิทธิพลของส่วนกลาง ซึ่งสะท้อนให้เห็นความไม่ยืดหยุ่นของระบบการกำหนดค่าจ้าง แต่ระบบดังกล่าวก็เพื่อคุ้มครองให้แรงงานสามารถดำรงชีพอยู่ได้ภายใต้ภาวะค่าครองชีพตามพื้นที่ที่ตนทำงานอยู่เท่านั้น

3.ด้านสิทธิของแรงงานดับเบิลยูอีเอฟ พิจารณา จากรายงานของ International Trade Union Confederation (ITUC) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ให้ความสำคัญกับสิทธิแรงงาน และประเด็นที่ ITUC พิจารณา ประกอบด้วยเสรีภาพของแรงงานสิทธิในการจัดตั้งและเข้าร่วมสหภาพแรงงาน การดำเนินกิจกรรมของสหภาพแรงงาน และสิทธิในการประท้วงหรือนัดหยุดงาน ซึ่งในกรณีของประเทศไทยมีการให้สิทธิตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายแรงงานให้ดำเนินการได้ แม้ว่าจะมีกฎหมายส่งเสริมก็พบว่า จำนวนสหภาพแรงงานในประเทศไทย ในปี 2560 ที่มีเพียง 1,365 แห่ง ลดลงเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน และมีลูกจ้างในสหภาพแรงงานเพียง 4.4 แสนราย

ทั้งนี้ สภาพัฒน์รายงานภาวะสังคมไทยในไตรมาสที่ 3 ปี 2651 ว่า ความสามารถทางการแข่งขันของประเทศไทยในมิติแรงงานนั้นภาพรวมความสามารถแข่งขันของประเทศไทยในมิติแรงงานว่าปัจจัยที่มีการปรับตัวดีขึ้นจากปีที่ผ่านมาในมิติสำคัญ เช่น ปัจจัยเชิงสถาบัน (Institution) เสถียรภาพทางเศรษฐกิจมหภาค (Macroeconomic stability) และการปรับตัวทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (ICT adoption) เป็นต้น

นอกจากนี้ ด้านมิติด้านตลาดสินค้าและตลาดแรงงานประเทศไทยมีคะแนนและอันดับลดลงอย่างชัดเจน โดยเฉพาะตลาดแรงงานลดลงกว่า 6 อันดับ จากอันดับที่ 38 ในปี 2560 มาอยู่ที่ 44 ในปี 2561 เมื่อเปรียบเทียบกับในอาเซียนด้วยกันประเทศไทยถูกจัดอยู่ในอันดับ 5 รองจากสิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และบรูไน

ส่วนปัจจัยที่ไทยได้รับการจัดอันดับต่ำและได้รับคะแนนน้อยจนควรต้องเร่งแก้ไขและเฝ้าระวังได้แก่ ต้นทุนการออกจากงาน (Redundancy Cost) โดยอยู่อันดับที่ 128 ความยืดหยุ่นในการกำหนดค่าจ้างแรงงาน (Flexibility of Wage determination) อยู่ที่อันดับ 111 และคะแนนในด้านสิทธิแรงงาน (Worker s’ Right) อันดับที่ 88 จาก 140 ประเทศทั่วโลก