สนช.หนุน‘เบญจเมธา’เซรามิกจากแดนใต้

สนช.หนุน‘เบญจเมธา’เซรามิกจากแดนใต้

“เบญจเมธา” ผลิตภัณฑ์เซรามิกของปัตตานี พัฒนาเนื้อดินพื้นบ้านและสูตรน้ำเคลือบด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์จากผู้เชี่ยวชาญในมหาวิทยาลัย ผสมผสานกับดีไซน์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

“เบญจเมธา” ผลิตภัณฑ์เซรามิกของปัตตานี พัฒนาเนื้อดินพื้นบ้านและสูตรน้ำเคลือบด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์จากผู้เชี่ยวชาญในมหาวิทยาลัย ผสมผสานกับดีไซน์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการโอเพ่นอินโนเวชั่น สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ หวังต่อยอดสู่ตลาดโลก

จากพื้นฐานความชอบงานสร้างสรรค์ ของ โซเฟียน เบญจเมธา ผู้ก่อตั้งบริษัท เบญจเมธา เซรามิก จำกัด หลังจากจบการศึกษาจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม เดินทางไปศึกษาต่อด้านศิลปะประยุกต์และด้านออกแบบเฟอร์นิเจอร์จาก ประเทศฝรั่งเศส กลับมาทำงานเป็นนักออกแบบอิสระและมีโอกาสได้เริ่มสัมผัสกับงานเซรามิก จึงตัดสินตัดสินใจกลับปัตตานีเพื่อทำโรงงานเซรามิกแห่งแรกในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ภายใต้แบรนด์ “เบญจเมธา” มากกว่า 7 ปี

ยกระดับภูมิปัญญาท้องถิ่น

โซเฟียนมีแนวคิดที่จะนำอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมในพื้นที่ภาคใต้ มาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ให้มีความน่าสนใจ เริ่มจากการออกแบบให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว กระทั่งเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น จึงเกิดไอเดียนำดินพื้นบ้านที่เรียกว่า “ดินจึงงา” ซึ่งเป็นชื่อ ต.ตันหยงจึงงา มาใช้ทดแทนวัตถุดิบที่สั่งซื้อมาจาก อ.แม่ริม จ. เชียงใหม่

“เหตุผลที่สนใจพัฒนาดินในพื้นที่ ส่วนหนึ่งเพราะต้นทุนค่าขนส่งสูงและต้องการสร้างอัตลักษณ์ให้กับสินค้า จากการศึกษาดินในพื้นที่น่าจะใช้ได้แต่ด้วยความที่ไม่มีพื้นฐานด้านเซรามิก จึงนำโจทย์เข้าปรึกษานักวิจัยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี”

สุธินี อินทนี อาจารยประจำสาขาวิชาศิลปะประยุกต์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ กล่าวว่า “ดินจึงงา” มีแคลเซียมเป็นส่วนประกอบทำให้มีความแข็งแรง สีของเหล็กในตัวดินมีลักษณะเฉพาะ ทั้งยังศึกษาหาสูตรเคมีที่เข้ามาช่วยเสริมคุณสมบัติด้านความแข็งแรงและทนไฟ พร้อมทั้งหาวิธีลดอุณหภูมิการเผาจากเดิมดินแม่ริมซึ่งใช้อุณหภูมิ 1,270 องศาเซลเซียส

ความร้อนที่ใช้เผามีส่วนสำคัญเพื่อทำให้ดินสุก เพราะเป็นคุณสมบัติของเซรามิกที่ต้องใช้กับน้ำและต้องไม่ขึ้นรา งานวิจัยเริ่มจากการพัฒนาเนื้อดินพื้นบ้านที่สามารถหาได้จากพื้นที่ มีลักษณะสีขาวครีมปนทราย มีความเหนียว สามารถขึ้นรูปได้ง่าย และมีสารจำพวกเหล็กออกไซด์ปนในปริมาณมาก ส่งผลให้หลังจากเผาแล้วผลิตภัณฑ์ที่ได้มีสีที่สามารถบ่งบอกถึงอัตลักษณ์เฉพาะตัว โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ เอ็นไอเอ ในโครงการโอเพ่น อินโนเวชั่น

การพัฒนาแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1. การพัฒนาเนื้อดิน เป็นการศึกษาและพัฒนาเนื้อดินพื้นบ้านให้มีความเหมาะสมสำหรับการนำมาขึ้นรูปผลิตภัณฑ์เซรามิก ทั้งในลักษณะของงานปั้น งานหล่อและงานรากุ โดยอาศัยการศึกษาคุณสมบัติของธาตุและลักษณะทางกายภาพของเนื้อดิน เพื่อนำข้อมูลมาใช้ในการทดลองผสมให้ได้ส่วนผสมที่เหมาะสมในการผลิตจริง

2. การพัฒนาสารเคลือบผลิตภัณฑ์เซรามิก เป็นการศึกษาและพัฒนาเพื่อหาอัตราส่วนผสมของวัตถุดิบในการผลิตน้ำเคลือบเซรามิกจากเนื้อดินพื้นบ้านของปัตตานี และดำเนินการวิเคราะห์คุณสมบัติทางกายภาพของส่วนผสมสูตรน้ำเคลือบหลังการเผาที่อุณหภูมิ 1,250 องศาเซลเซียส เพื่อให้ได้น้ำเคลือบที่มีความเหมาะสมสำหรับผลิตภัณฑ์เซรามิก

ดีไซน์สะท้อนอัตลักษณ์

นอกจากนี้มีแนวคิดในการพัฒนาน้ำหล่อที่ใช้กับพิมพ์จากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้สามารถผลิตชิ้นงานจำนวนมากขึ้นจากปัจจุบันต้องขึ้นรูปด้วยมือทั้งหมด ทำให้ใช้เวลานาน ต้นทุนผลิตภัณฑ์ต่อชิ้นสูง แม้จะเหมาะกับตลาดนิชแต่หากจะทำให้ธุรกิจเติบโตไปได้อย่างยั่งยืน จำเป็นต้องพัฒนาให้โรงงานสามารถผลิตได้ในปริมาณมากขึ้น เพื่อรองรับออเดอร์ทั้งในประเทศและต่างประเทศได้ในอนาคต

ส่วนแนวคิดในการออกแบบลวดลายของโซเฟียน เกิดจากจินตนาการใกล้ตัว อาทิ หัวหอมแดง ที่ดีไซน์ออกมาเป็นแจกัน เกิดจากแรงบันดาลใจเป็นหลัก ลวดลายไม่มีความหมายเกี่ยวกับศาสนา แต่จะเป็นการเขียนลวดลายให้สวยงามและมีเอกลักษณ์

ปัจจุบันมีลูกค้าโรงแรม ธนาคาร เข้าใช้บริการเพื่อให้ผลิตเป็นของที่ระลึกเป็นหลัก เนื่องจากชิ้นงานเซรามิกที่ออกแบบได้นำอัตลักษณ์ในพื้นที่และวัฒนธรรมต่างๆ มาผสมผสานและสะท้อนตัวตนของเซรามิกจาก จ.ปัตตานี ที่มีความแตกต่างจากชิ้นงานของราชบุรี เชียงรายและลำปาง ออกมาอย่างชัดเจน

“เนื่องจากไม่มีพื้นฐานขององค์ควมรู้เรื่องเซรามิกมาก่อน จึงต้องสร้างขึ้นมาใหม่ แต่ด้วยพื้นฐานความรู้ด้านงานออกแบบและแรงบันดาลใจ ส่งผลให้เซรามิกของเบญจเมธาได้รับรางวัลจากการประกวดมากมาย พร้อมกันนั้นยังได้ใช้พื้นที่ในโรงงานเป็นศูนย์การเรียนรู้ของชุมชน เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนและบุคคลทั่วไป ทำให้เกิดรายได้ในพื้นที่และมีการกระจายรายได้ไปยังพื้นที่ใกล้เคียงด้วย”