ภท.ผุดไอเดีย 'เศรษฐกิจ 5G' แก้ไขปัญหาปากท้องปชช.

ภท.ผุดไอเดีย 'เศรษฐกิจ 5G' แก้ไขปัญหาปากท้องปชช.

"เศรษฐพงค์" แจง 6 แนวคิดสู่ "เศรษฐกิจ 5G" แนะเร่งอัพเกรดโครงสร้างอินเทอร์เน็ต-ปรับปรุงกฎหมาย เพื่อเข้าสู่ระบบ "5G economy"

นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงแนวนโยบายด้านเศรษฐกิจของพรรคว่า ทีมเศรษฐกิจดิจิทัลของพรรคภูมิใจไทย ที่มีพ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ โฆษกพรรคฯ และอดีตรองประธาน กสทช. ร่วมอยู่ในทีมด้วยนั้น ได้เสนอแนวคิด “เศรษฐกิจ 5G” เพื่อขับเคลื่อนประเทศสู่ยุคใหม่ ซึ่งกำลังวิ่งเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ โดยเป้าหมายหลักคือ การแก้ไขปัญหาปากท้องพี่น้องประชาชน ด้วยการขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ โดยเราไม่สามารถหลีกเลี่ยงที่จะพัฒนาประเทศให้สู่ระบบเทคโนโลยี 5G ได้ ซึ่งทีมยุทธศาสตร์ดิจิทัลได้ชู “5G economy” เป็นธีมหลักของแนวคิดด้าน “ดิจิทัลเวิลด์” ของพรรคภูมิใจไทยด้วย

พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าวว่า แนวคิด “เศรษฐกิจ 5G” ของพรรคภูมิใจไทยเกิดขึ้นเนื่องจากปัจจุบันเทคโนโลยีสื่อสารโทรคมนาคมและเทคโนโลยีดิจิทัลมีการพัฒนาก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว จนทำให้อุตสาหกรรมในทุกเซกเตอร์เปลี่ยนแปลงไปสู่กระบวนการทำงานแบบอัตโนมัติ จึงทำให้โครงสร้างและทักษะแรงงานที่อุตสาหกรรมต้องการในระบบเศรษฐกิจใหม่ มีรูปแบบการสร้างและผลิตบุคคลากรที่เปลี่ยนไปอย่างกะทันหันในยุคที่เทคโนโลยีกำลังเปลี่ยนผ่านจาก 4G ไปสู่ 5G ซึ่งทำให้ผู้นำและผู้บริหารระดับประเทศทั่วโลก ต้องเตรียมพร้อมเพื่อเปลี่ยนผ่าน ซึ่งหากประเทศใดไม่สามารถเปลี่ยนผ่านทั้งด้านเทคโนโลยีและด้านทักษะแรงงานได้สำเร็จ ก็จะทำให้ขีดความสามารถของประเทศเสื่อมถอยลงอย่างรวดเร็ว

โฆษกพรรคภูมิใจไทย กล่าวต่อว่า พรรคภูมิใจไทยจึงเสนอแนวคิดยุทธศาสตร์ดิจิทัลในธีม “เศรษฐกิจ 5G” ดังนี้ 1) การปฏิรูประบบการศึกษาให้มีทางเลือกใหม่ด้วยการเรียนผ่านระบบมหาวิทยาลัยออนไลน์ฟรี (Thailand Sharing University) เพื่อให้ระบบการศึกษามีความทันสมัยสามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงทักษะของแรงงาน 2) การปฏิรูประบบสาธารณสุขด้วยการใช้เทคโนโลยีแพทย์ทางไกลหรือ Telemedicine และใช้ AI และ Big data ตั้งศูนย์ Smart Health ของกระทรวงสาธารณสุขให้เชื่อมโยงไปยังโรงพยาบาล แพทย์และหมอประจำหมู่บ้าน (อสม.)ทั่วประเทศ 3) การปฏิรูปด้านการเกษตรโดยใช้แนวคิด ฟาร์มอัจฉริยะ (Smart farming)

4)การให้บริการภาครัฐทุกรูปแบบด้วยแอพพลิเคชั่นเดียว “One App” บนมือประชาชน เพียงนิ้วสัมผัสโดยไม่ต้องเดินทาง ด้วยการสร้างประตูเชื่อมระหว่างการให้บริการภาครัฐและประชาชน (Government Service Gateway) ซึ่งประชาชนจะเข้าถึงบริการภาครัฐทั้งหมดได้ในที่เดียวด้วยความง่ายดาย 5) เร่งการอัพเกรดและขยายโครงสร้างอินเทอร์เน็ตของประเทศเพื่อเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจใหม่ “เศรษฐกิจ 5G” หรือ “5G economy” และ 6) แก้ไขปรับปรุง พรบ. ที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น พรบ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ของ กสทช. และคณะกรรมการดีอีแห่งชาติ ในประเด็นการจัดสรรคลื่นความถี่ให้มีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี 5G และการจัดสรรงบประมาณจากกองทุนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสารโทรคมนาคม ซึ่งต้องมีการกำหนดไว้อย่างชัดเจนว่าเงินที่ได้มาจะต้องใช้เพื่อการสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางด้านใด เช่น ระบบสาธารณสุข ระบบการศึกษา และการเกษตร