ความเชื่อใจในหมู่อาเซียน หัวใจสำคัญหนุน‘เศรษฐกิจดิจิทัล’

ความเชื่อใจในหมู่อาเซียน  หัวใจสำคัญหนุน‘เศรษฐกิจดิจิทัล’

ในฐานะประธานสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ปี 2561 ที่กำลังจะหมดวาระสิงคโปร์ควรได้รับคำชมจากการเดินหน้าประชาคมอาเซียนที่มีความยืดหยุ่นและนวัตกรรม รวมทั้งบรรลุข้อตกลงหลายฉบับที่มีจุดประสงค์เพื่อทำให้เศรษฐกิจดิจิทัลของภูมิภาคคึกคัก

หนึ่งในข้อตกลงสำคัญคือ “เครือข่ายเมืองอัจฉริยะอาเซียน” ซึ่งถือเป็นแพลตฟอร์มที่เกิดจากความร่วมมือของเมืองต่าง ๆ ทั่วอาเซียนที่ทำงานร่วมกันเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาชุมชนเมืองที่มีความอัจฉริยะและยั่งยืน

นอกจากนั้น อาเซียนยังลงนามข้อตกลงอีคอมเมิร์ซฉบับแรกของภูมิภาคในปีนี้ ซึ่งตั้งเป้าที่จะกระตุ้นการใช้อีคอมเมิร์ซให้เป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ข้อตกลงนี้จะช่วยอาเซียนกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจอินเทอร์เน็ตในภูมิภาคให้เป็นไปตามการคาดการณ์ที่ 2 แสนล้านดอลลาร์ภายในปี 2568

อาเซียน อาจเพิ่มเสาหลักประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ใหม่ เพื่อมีส่วนร่วมกับการเพิ่มบทบาทของเทคโนโลยีดิจิทัลในการค้าและอุตสาหกรรม การพัฒนากลยุทธ์ให้สอดคล้องกันอาจจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับนโยบายที่จำเป็นสำหรับการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของอาเซียน

มีกรอบการทำงานและกฎเกณฑ์ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลในอาเซียน ตัวอย่างเช่น แผนแม่บท “เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) อาเซียน2563” เน้นเรื่องบทบาทของไอซีทีในด้านการสนับสนุนการเชื่อมโยงและการพัฒนาในภูมิภาค

“แผนพิมพ์เขียวเออีซี 2568” ครอบคลุมถึงอีคอมเมิร์ซภายใต้เสาหลักของอาเซียน เกี่ยวกับการเชื่อมโยงกันมากขึ้นและความร่วมมือกันในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ

นอกจากนั้น แผนพิมพ์เขียวนี้ยังระบุถึงความสำคัญของการเร่งให้เกิดความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในกระบวนการการผลิต การค้า และการลงทุนระหว่างประเทศ และเรียกร้องให้มีการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี)ดำเนินการในโลกออนไลน์มากขึ้น

อาเซียนจะสามารถดำเนินการกรอบการทำงานและข้อกำหนดที่มีอยู่ในปัจจุบันอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น หากกรอบการทำงานและข้อกำหนดเหล่านี้รวมอยู่ในเสาหลักเออีซีใหม่ ซึ่งจะช่วยให้เชื่อมโยงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับการสร้างความก้าวหน้าแก่เศรษฐกิจดิจิทัลของภูมิภาค

เสาหลักใหม่ของอาเซียนจะมีเป้าหมายเพื่อทำให้อาเซียนเป็นมหาอำนาจของโลกด้านเศรษฐกิจดิจิทัล ด้วยการกำหนดวัตถุประสงค์สำคัญที่หลากหลาย วัตถุประสงค์แรกน่าจะเป็นการทำให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ทั่วภูมิภาค

อย่างไรก็ตาม การสร้างความเชื่อใจในหมู่ผู้บริโภคของภูมิภาคถือเป็นภารกิจสำคัญที่สุด การขาดความเชื่อใจและการตระหนักรู้น้อยของผู้บริโภคเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของบริการด้านดิจิทัล ผลสำรวจของบริษัทจีเอสเอ็มเอ อินเทลลิเจนซ์ พบว่า 89% ของชาวมาเลเซีย และ 79% ของชาวอินโดนีเซียมีความกังวลเกี่ยวกับการแบ่งปันข้อมูลส่วนตัวบนโลกออนไลน์และผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่

การพัฒนาโครงการเพิ่มความชำนาญด้านดิจิทัลสำหรับผู้บริโภคและนโยบายคุ้มครองความเป็นส่วนตัวด้านดิจิทัลสำหรับภาคธุรกิจ อาจช่วยบรรเทาปัญหานี้ได้

ทั้งนี้ การส่งเสริมความชำนาญด้านดิจิทัลและการสร้างฐานบุคลากรดิจิทัลของอาเซียน ต้องเป็นหนึ่งในวัตถุประสงค์ของเสาหลักใหม่อาเซียน ภาคเอสเอ็มอีสนับสนุนผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของทั้งอาเซียนได้กว่า 50% และคิดเป็น 99% ของบริษัททั้งภูมิภาค

อย่างไรก็ตาม 45% ของบริษัทเหล่านี้ขาดความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีดิจิทัล การมีทักษะดิจิทัลที่จำเป็นจะเพิ่มผลการดำเนินงานของเอสเอ็มอี และสร้างโอกาสที่เอื้อต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคได้ในระดับสูงสุด

ขณะเดียวกัน เทคโนโลยีดิจิทัลยัช่วยให้ภาคธุรกิจในภูมิภาคเข้าถึงตลาดขนาดใหญ่กว่าสำหรับผลิตภัณฑ์และบริการของตน แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซชื่อดังอย่าง “ลาซาด้า” และ “ช้อปปี้” กลายเป็นช่องทางยอดนิยมสำหรับผู้บริโภคทั่วภูมิภาคในการเข้าถึงผลิตภัณฑ์หลากหลายประเภทในคลิกเดียว