ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดสินเชื่อบัตรเครดิตปี 62 โตทรงตัว

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดสินเชื่อบัตรเครดิตปี 62 โตทรงตัว

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดสินเชื่อบัตรเครดิตปี 62 โตทรงตัวที่ 7% จากปีนี้ กังวลหนี้ครัวเรือน-ภาพรวมเศรษฐกิจไทย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ธุรกิจบัตรเครดิตน่าจะปิดสิ้นปี 2561 ด้วยภาพการเติบโตที่ดีเช่นเดียวกับกันสินเชื่อรายย่อยประเภทอื่นๆ ขณะที่ สถานการณ์การแข่งขันของตลาดบัตรเครดิตธุรกิจในช่วงโค้งสุดท้ายของปียังคงอัดแน่นไปด้วยสีสันของแคมเปญและโปรโมชั่นพิเศษ จากฝั่งผู้ประกอบการที่เป็นธนาคารพาณิชย์และนอนแบงก์ เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านบัตรในช่วงไฮซีซั่นของฤดูกาลจับจ่ายใช้สอยของประชาชน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้เผยผลสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้บัตรเครดิตในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลประจำปี 2561 พบว่า ผู้ใช้บัตรเครดิตประมาณ 70% มีแผนการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเป็นกรณีพิเศษในเดือนธ.ค. 2561 ซึ่งมีวันหยุดยาวและเทศกาลปีใหม่ ในจำนวนนี้ประมาณ 77.7% (ของผู้ถือบัตรเครดิตที่มีแผนการใช้จ่ายเป็นกรณีพิเศษนั้น) ประเมินว่า จะมียอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในช่วงปลายปีสูงขึ้นกว่ายอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเฉลี่ยต่อเดือนราว 1.8-2.5 เท่า โดยกิจกรรมสำคัญที่ผู้ใช้บัตรเครดิตวางแผนใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเป็นกรณีพิเศษในช่วงท้ายปี 3 อันดับแรก ได้แก่ การรับประทานอาหารนอกบ้าน (30.6%) การซื้อของขวัญปีใหม่ (30.4%) การท่องเที่ยวในประเทศ (27.9%) และอื่นๆ (11.1% อาทิ ซื้ออุปกรณ์สื่อสาร/เครื่องใช้ไฟฟ้า และการท่องเที่ยวต่างประเทศ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตทั้งระบบ จะเติบโตได้ไม่ต่ำกว่า 12.0% ในปี 2561 เทียบกับที่เติบโต 6.0% ในปี 2560 ขณะที่ ยอดคงค้างสินเชื่อทั้งระบบ อาจเติบโตต่อเนื่องที่ประมาณ 7.0% (จากที่เติบโต 9.4% ในปี 2560) แม้แรงหนุนจากมาตรการช้อปช่วยชาติในช่วงปลายปี 2561 จะมีรายละเอียดของมาตรการที่แตกต่างไปจากมาตรการช้อปช่วยชาติปี 2559-2560 ก็ตาม

การเติบโตของปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรปี 2561 นอกจากจะมีแรงหนุนจากภาวะเศรษฐกิจโดยรวมที่ยังประคองทิศทางการขยายตัวได้ดีใยช่วงเวลาส่วนใหญ่ของปีแล้ว ยังน่าจะเป็นผลมาจากแรงผลักดันจากฝั่งผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิต ซึ่งสะท้อนผ่านการแข่งขันของแคมเปญ/โปรโมชั่น/ส่วนลดตามที่กล่าวข้างต้น  ควบคู่ไปกับการเร่งสร้างพันธมิตรทางธุรกิจใหม่ๆ เพื่อนำเสนอสิทธิประโยชน์พิเศษสำหรับผู้ถือบัตร การขยายร้านค้า/จุดบริการรับชำระเงินผ่านบัตรเครดิต และการปรับฟีเจอร์ของ Mobile Application เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการทำรายการต่างๆ ผ่านมือถือ โดยในช่วงครึ่งหลังของปี 2561 ผู้ให้บริการรายหลักๆ ในธุรกิจบัตรเครดิต ต่างทยอยเปิดตัวฟีเจอร์การสแกนชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ด (QR Code) ผ่านบัตรเครดิต ซึ่งเป็นลูกเล่นใหม่ในการชำระเงินค่าสินค้าและบริการ

เมื่อต่อภาพไปในปี 2562 โจทย์ท้าท้ายสำคัญที่รออยู่ในปี 2562 ของภาพรวมสินเชื่อรายย่อยเกือบทุกประเภท น่าจะเป็นเรื่องความกังวลต่อสถานการณ์หนี้ครัวเรือนและสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในภาพรวม ซึ่งจะมีผลต่อเนื่องต่อบรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน

แม้ผู้ถือบัตรเครดิตส่วนใหญ่ประมาณ 71.2% ในผลสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้บัตรเครดิตโดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย จะประเมินว่า แผนการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตของตนในปี 2562 ไม่น่าจะน้อยลงไปกว่ายอดการใช้จ่ายผ่านบัตรในปี 2561 (ผู้ถือบัตรเครดิตที่มีแผนใช้จ่ายเพิ่มขึ้น และเท่าเดิมมีสัดส่วนประมาณ 22.6% และ 48.6% ตามลำดับ) อย่างไรก็ดี มุมมองอีกด้านหนึ่งจากผู้ถือบัตรเครดิตประมาณ 28.8% ของผู้ตอบแบบสอบถาม เริ่มสะท้อนภาพที่ระมัดระวังมากขึ้น โดยเหตุผลหลักๆ จะมาจากความกังวลต่อรายได้ในอนาคต (36.7%) ต้องการรัดเข็มขัด (23.5%) และมีภาระค่าใช้จ่ายอื่นๆ เพิ่มขึ้น (12.7%) ตามลำดับ

สถานการณ์ที่ผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่ายดังกล่าว สอดคล้องกับมุมมองของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ที่คาดว่า ยอดคงค้างสินเชื่อบัตรเครดิตของธนาคารพาณิชย์ในปี 2562 อาจจะเติบโตในลักษณะประคองตัวที่ประมาณ 7.0% ใกล้เคียงกับปี 2561 (กรอบคาดการณ์ 6.0-8.5%) ขณะที่ ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตอาจเติบโตประมาณ 8.0% (กรอบคาดการณ์ 7.5-10.0%) โดยจะยังคงเห็นกลยุทธ์การแข่งแคมเปญ/โปรโมชั่น ทั้งเพื่อขยายฐานลูกค้า เพิ่มความประทับใจในการใช้งานผ่านบัตรเครดิต ตลอดจนกระตุ้นยอดใช้จ่ายผ่านบัตรและการใช้วงเงินในบัตรเครดิตอย่างเข้มข้น