'สศก.' เผยดัชนีรายได้เกษตรกรปีนี้ เพิ่มขึ้น 0.19%

'สศก.' เผยดัชนีรายได้เกษตรกรปีนี้ เพิ่มขึ้น 0.19%

สศก. เผยดัชนีรายได้เกษตรกรปีนี้เพิ่ม 0.19% คาดดัชนีรายได้เกษตรกรปี 62 แนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปี 61 ตามปริมาณผลผลิตเพิ่ม

เมื่อวันที่ 24 ธ.ค.61 น.ส.ทัศนีย์ เมืองแก้ว รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) คาดแนวโน้มดัชนีรายได้เกษตรกรทั้งปี 62 จะเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 61 จากผลผลิตสินค้าเกษตรสำคัญที่เพิ่มขึ้น อาทิ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และผลไม้ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากสภาพอากาศยังคงเอื้ออำนวยต่อการผลิตทางการเกษตร และการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพ ประกอบกับการดำเนินนโยบายและมาตรการด้านการเกษตรเพื่อปฏิรูปภาคเกษตรอย่างต่อเนื่อง โดยปี 62 เน้นความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม และการวางแผนการผลิตที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ส่งผลให้ดัชนีรายได้ภาคเกษตรในปีหน้ายังคงขยายต่อเนื่อง

สำหรับภาพรวมภาวะเศรษฐกิจการเกษตร ปี 61 โดยวัดจากดัชนีเศรษฐกิจการเกษตร ประกอบด้วย ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ดัชนีราคาสินค้าเกษตร และดัชนีรายได้เกษตรกร พบว่า ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น 6.43% เมื่อเทียบกับปี 60 สินค้าสำคัญที่ผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อยโรงงาน สับปะรด ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ผลไม้ อาทิ ทุเรียน เงาะ และลำไย และปศุสัตว์ คือ สุกร ไก่เนื้อ ไข่ไก่ และโคเนื้อ ด้าน สินค้าสำคัญที่ผลผลิตลดลง ได้แก่ มันสำปะหลัง และมังคุด

ดัชนีราคาสินค้าเกษตรลดลง 5.86% เมื่อเทียบกับปี 60 สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง ได้แก่ ยางพารา อ้อยโรงงาน ปาล์มน้ำมัน สับปะรด และปศุสัตว์ คือ สุกร ไก่เนื้อ และโคเนื้อ และกุ้งขาวแวนนาไม ส่วนสินค้าสำคัญที่ราคาเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ทุเรียน ลำไย และ ไข่ไก่

ส่วนดัชนีรายได้เกษตรกรทั้งปี 61 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ 0.19% เมื่อเทียบกับปี 60 โดยที่ดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ลดลง และเมื่อพิจารณาถึงรายได้เกษตรกรในแต่ละหมวดสินค้า พบว่า หมวดพืชผล รายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้น 2.46% โดยสินค้าพืชสำคัญที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าว อ้อยโรงงาน มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และผลไม้ คือ ทุเรียน เงาะ และลำไย

หมวดปศุสัตว์ รายได้เกษตรกรลดลง 3.04% เนื่องจากผลผลิตสินค้าปศุสัตว์หลักทั้งไก่เนื้อ สุกร ไข่ไก่ และโคเนื้อ ออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น ทำให้ราคาส่วนใหญ่อ่อนตัวลง และหมวดประมงลดลง 22.11% เนื่องจากราคากุ้งขาวแวนนาไมลดลง ซึ่งสอดคล้องกับราคาในตลาดโลกที่ลดลงตามภาวะอุปทานส่วนเกิน

"แม้ดัชนีรายได้เกษตรกรของสาขาปศุสัตว์และประมงจะลดลง แต่ภาพรวมรายได้ของเกษตรกรยังเพิ่มขึ้นจากการขยายตัวของสาขาพืชเป็นหลัก รวมทั้งเป็นผลมาจากการขับเคลื่อนนโยบายและมาตรการทางด้านการเกษตร ประกอบกับส่งเสริมเกษตรกรผลิตสินค้าเกษตรให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ด้วยหลักการตลาดนำการผลิตอย่างต่อเนื่อง และมีการขยายพื้นที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากมากขึ้น" น.ส.ทัศนีย์ กล่าว