ตั้ง กก.ปฏิรูปการเรียนรู้ระดับอุดมศึกษา

ตั้ง กก.ปฏิรูปการเรียนรู้ระดับอุดมศึกษา

ทปอ. ตั้ง กก.ปฏิรูปการเรียนรู้ระดับอุดมศึกษา หวังเป็นศูนย์กลางปฎิรูปการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัย ชี้ปี 62 เป็นปีที่น่ากลัวมากสำหรับมหาวิทยาลัยไทย เด็กมีจำนวนน้อยลง เหตุเทคโนโลยีกว้างไกล รักอิสระมากขึ้น

เมื่อวันที่ 24 ธ.ค.61 นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กล่าวว่าตามที่ประชุม ประชุม ทปอ.ได้หารือถึงประเด็นสถานการณ์ของอุดมศึกษาไทยในปี 2562 ซึ่งสรุปว่า มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งควรจะมีการปรับตัว เนื่องจากจำนวนนักศึกษาลดน้อยลง โดยดูได้จากการรับสมัครผ่านระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา ปีการศึกษา 2561 หรือทีแคส 2561 ที่เปิดรับสมัคร 5 รอบ ได้แก่ รอบที่ 1 แฟ้มสะสมผลงาน รอบที่ 2 โควตา รอบที่ 3 รับตรงร่วมกัน รอบที่ 4 แอดมิสชั่นส์ และรอบที่ 5 รับตรงอิสระ มีจำนวนผู้สมัครเข้าเรียนน้อยกว่าจำนวนที่มหาวิทยาลัยเปิดรับ อีกทั้ง ผลการเปิดรับสมัครลงทะเบียน ของทีแคส 2562 พบว่ามีผู้มาลงทะเบียนในระบบไม่ถึง 300,000 คน ซึ่งจำนวนนี้ถือเป็นจำนวนที่น้อยกว่าปีที่ผ่านมามาก และทปอ.ได้รวบรวมข้อมูลมหาวิทยาลัย คณะ สาขาวิชา องค์ประกอบ เกณฑ์ และจำนวนรับนิสิตนักศึกษา จากมหาวิทยาลัยทั้ง 92 แห่ง พบว่าปีการศึกษา 2562 มีจำนวนรับรวมกัน 390,120 คน ดังนั้น ทปอ.การันตรีได้เลยว่าจำนวนที่นั่ง ที่มหาวิทยาลัยเปิดรับมีมากกว่าจำนวนนักเรียน 2 เท่าแน่นอน

“ปี 2562 จะเป็นปีที่น่ากลัวมากสำหรับมหาวิทยาลัยในประเทศไทย เมื่อก่อนเราไม่ทราบถึงปัญหานี้ เพราะมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งเปิดรับนักศึกษาเอง เมื่อมีระบบทีแคส 2561 ขึ้นมา ทำให้ ทปอ.ทราบปัญหานี้ทันที และในปีหน้าคิดว่ามหาวิทยาลัยมาถึงจุดเผาแล้ว คือเด็กมีจำนวนน้อยลง เด็กไม่สนใจที่จะเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยเพราะเทคโนโลยีกว้างไกล เด็กมีความรักอิสระมากขึ้น ดังนั้น ทปอ.จึงมีมติตั้ง คณะกรรมการปฏิรูปการเรียนรู้ระดับอุดมศึกษา (University Learning Reform Committee) โดยมีนายศักรินทร์ ภูมิรัตน รองประธาน ทปอ. เป็นประธาน ซึ่งทปอ. จะเข้าไปลงทุนทั้งกำลังคน กำลังเงินในการปฏิรูปเรื่องการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัย เพราะการปฏิรูปครั้งนี้หากมหาวิทยาลัยไปทำกันเองจะต้องใช้งบประมาณในการลงทุนมาก ทปอ.จึงเข้ามาช่วยเป็นศูนย์กลางในการปฏิรูปให้"นายสุชัชวีร์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ถึงเวลาที่มหาวิทยาลัยต้องปรับตัว เช่น วิชาเลือกต้องมีมากขึ้นและมีวิชาบังคับน้อยลง หรือการปรับหลักสูตรบางหลักสูตรที่ล้าหลัง ไม่ทันสมัย ไม่มีความยืดหยุ่น หรืออาจจะเปิดให้นักศึกษาที่เรียนจบมาแล้วมีความรู้ทั้งศาสตร์และศิลป์ จบมามีปริญญา 2-3 ใบ อาจจะจูงใจให้เด็กเข้ามาเรียนได้มากขึ้น เป็นต้น ขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยที่มีศักยภาพในการสอน แม้จะมีนักศึกษาเข้ามาเรียนน้อย แต่สามารถนำนักศึกษาที่เรียนจบไปแล้ว หรือคนอายุ 60 -70 ปี ที่ยังมีกำลัง และสติปัญกลับเข้ามาเรียนใหม่ได้หรือไม่