โซนนิ่งทะเล จิสด้าพร้อมสานฝันรัฐบาล

โซนนิ่งทะเล จิสด้าพร้อมสานฝันรัฐบาล

จิสด้าพร้อมสนับสนุนความพยายามของรัฐบาลที่จะจัดทำ “โซนนิ่งพื้นที่ทะเล” ประยุกต์ใช้ประโยชน์เทคโนโลยีดาวเทียมร่วมกับข้อมูลจากสถานีเรดาร์ชายฝั่ง และดึงปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI มาช่วยวิเคราะห์ประมวลผล เพื่อบ่งบอกข้อมูลกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลา

โครงการติดตาม เตือนภัยมลพิษและภัยพิบัติทางทะเล โดยติดตั้งระบบตรวจวัดคลื่นและกระแสน้ำในทะเลด้วยคลื่นวิทยุความถี่สูง หรือเรียกว่า “ระบบเรดาร์ชายฝั่ง” มาตั้งแต่ปี 2555 จนถึงปัจจุบัน โดยติดตั้งไปแล้วกว่า 24 สถานีใน 13 จังหวัด ประกอบด้วย บริเวณรอบอ่าวไทย 22 สถานี และในพื้นที่ทะเลอันดามันที่ จ. กระบี่ 2 สถานี วัตถุประสงค์เพื่อนำข้อมูลกระแสน้ำและคลื่นที่ได้จากระบบเรดาร์ชายฝั่ง มาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการน้ำอย่างครบวงจรครอบคลุมถึงทะเลและชายฝั่ง

นายอานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ จิสด้า กล่าวว่า รัฐบาลที่ผ่านๆ มาสนใจจะทำโซนนิ่งพื้นที่ทะเลแต่เทคโนโลยียังไม่พร้อมจึงยังทำไม่ได้ ยกตัวอย่างในอดีตจิสด้าก็มีเพียงข้อมูลทางกายภาพของทะเล เช่น การไหลของน้ำ ระดับความลึกตื้น สภาพพื้นเป็นทราย หินหรือดินโคลน ชายฝั่งเป็นปะการัง หญ้าทะเลหรือโขดหิน โดยขาดข้อมูลการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น แต่ด้วยข้อมูลจากสถานีเรดาร์ชายฝั่งและดาวเทียม ทำให้เห็นสภาพการเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาล และที่สำคัญทำให้เห็นมิติที่เกี่ยวกับมนุษย์ว่า มีการใช้ประโยชน์อย่างไร จำนวนเรือในทะเลมีกี่ลำ กระจุกตัวอยู่พิกัดใด ความหนาแน่นของนักท่องเที่ยวเป็นอย่างไร ขณะเดียวกันยังสามารถคาดการณ์การเคลื่อนที่ของกระแสน้ำ วิเคราะห์พฤติกรรมของคลื่นและเรือ ข้อมูลเหล่านี้ล้วนเป็นพื้นฐานสำคัญในการกำหนดนโยบายเรื่องการแบ่งเขตพื้นที่ทางทะเล เช่น เขตอนุรักษ์และฟื้นฟูปะการัง เขตจัดวางทุ่นจอดเรือ เขตเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เขตท่องเที่ยวดำน้ำลึก เป็นต้น เป็นความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการ เพื่อสร้างความสมดุลของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมทางทะเล

"การบริหารจัดการทางทะเลมีข้อจำกัดคือ การขาดข้อมูลสารสนเทศแบบเรียลไทม์ การเก็บข้อมูลในอดีตก็จะอาศัยเรือและเก็บข้อมูลเป็นจุดๆ กว่ากระบวนการต่างๆจะแล้วเสร็จก็ใช้เวลานานร่วมเดือน จึงไม่ทันการณ์ที่จะเตรียมรับมือเมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้น จึงเริ่มมีการนำเทคโนโลยีมาช่วยจัดเก็บข้อมูล เช่น ดาวเทียม เครื่องบินติดตามถ่ายภาพ แต่ยังพบบางจุดที่มองไม่เห็นจากที่สูง”

กระทั่งปี 2554 ที่เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ ซึ่งมวลน้ำจืดไหลลงอ่าวไทยได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงโดยไม่สามารถเตือนผู้ที่เกี่ยวข้อง รัฐบาลจึงอนุมัติงบประมาณให้ติดตั้งเรดาร์ชายฝั่งอ่าวไทย โดยโฟกัสอ่าวไทยตอนบนรวมพื้นที่ประมาณ 1 หมื่นตารางกิโลเมตร มีความสำคัญที่สุดทางเศรษฐกิจและสังคม สินค้ากว่า 90% ขนส่งผ่านจุดนี้ ประกอบกับพื้นที่นี้รองรับแม่น้ำสำคัญ 4 สายของประเทศ จึงตัดสินใจเลือกให้เป็นพื้นที่นำร่องติดตั้งเรดาร์ จากนั้นขยายไปยังอ่าวบ้านดอนที่สุราษฎร์ธานี และปากพนัง จ.สงขลา ซึ่งมีปัญหาการกัดเซาะ ปีนี้ยังได้ขยายไปฝั่งอันดามัน 2 สถานีที่ จ.กระบี่ และจะขยายเพิ่มในจุดอื่นๆ ต่อไป

“เราพยายามเชื่อมโยงเครือข่ายข้อมูลให้ครอบคลุมทั่วภูมิภาค เนื่องจากมลพิษหรือปัญหาทางทะเลเป็นปัญหาข้ามพรมแดน เมื่อเหตุเกิดที่หนึ่งก็สามารถส่งผลกระทบไปยังพื้นที่ห่างไกล จิสด้าพยายามทำให้ประเทศไทยเป็นแกนนำในเรื่องนี้”

ประโยชน์จากสถานีเรดาร์ชายฝั่งหลังจากติดตั้งใช้งานได้ประมาณ 5 ปี แบ่งได้ 2 ประเภทที่เห็นได้ชัดเจน คือ การติดตามและตรวจสอบย้อนหลังเพื่อหาแหล่งที่มากรณีน้ำมันรั่วไหล แพขยะในทะเลและมลพิษต่างๆ พร้อมทั้งคาดการณ์ถึงเส้นทางล่วงหน้า ช่วยให้หน่วยงานปฏิบัติทำงานได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ถัดมาคือประโยชน์การเตือนภัยที่เกี่ยวกับคุณภาพน้ำ ไม่ว่าจะเป็น น้ำจืด ตะกอน แพลงตอนบูม สาหร่าย ที่กระทบต่อการท่องเที่ยว ประมงชายฝั่ง โดยสามารถแจ้งเตือนล่วงหน้าเพื่อให้หามาตรการรองรับ นอกจากนี้ยังมีที่จิสด้าเตรียมจะทำแต่ยังไม่ได้ทดลองจริง คือ การกู้ภัยทางทะเล เนื่องจากระยะห่างเพียง 1-2 กิโลเมตรในทะเลจะมองหาไม่พบ ไม่รู้ทิศทางการไหลของกระแสน้ำซึ่งมีความเร็วและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แม้แต่การคำนวณโดยใช้แบบจำลองทางคอมพิวเตอร์ยังคลาดเคลื่อน ฉะนั้น เรดาร์ที่วัดค่าในทะเลจริงจะให้ข้อมูลที่แม่นยำและเร็วกว่า

“บิ๊กดาต้าจากฐานข้อมูลเรดาร์และเทคโนโลยีเอไอ จึงเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมเชิงพื้นที่ เพื่อการสร้างความเชื่อมั่นทางด้านการท่องเที่ยวของทะเลและชายฝั่ง ทำให้ส่งผลดีต่อภาพลักษณ์และเศรษฐกิจของประเทศ บนพื้นฐานการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม” นายอานนท์ กล่าว