พรรคการเมือง-องค์กรสื่อ เรียกร้อง 'คสช.' ปลดล็อกเสรีภาพสื่อ

พรรคการเมือง-องค์กรสื่อ เรียกร้อง 'คสช.' ปลดล็อกเสรีภาพสื่อ

7 พรรคการเมือง ประสานเสียงให้ยกเลิกประกาศ คสช. ริดลอนสิทธิเสรีภาพปชช.-สื่อ ใกล้เลือกตั้งสื่อสร้างโอกาสปชช.รับรู้ข่าวสาร

ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ถนนสามเสน ดุสิต เมื่อเวลา 10-12.00 น. (23ธ.ค.) สมาคมนักข่าวฯ จัดกิจกรรมราชดำเนินเสวนา หัวข้อ ปลดล็อกสื่อมวลชน คืนเสรีภาพประชาชน โดยเชิญตัวแทนพรรคต่างๆ เข้าร่วมเสวนาแสดงความคิดเห็น

ประกอบด้วย นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) , นายนิกร จำนง ผอ.พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) , นางลาดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย (พท.) , พล.อ.ฐิติวัจน์ กำลังเอก รองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนา (ชพน.) , นายวิโชติ วัณโณ รองหัวหน้าพรรคเพื่อชาติ (พช.) , น.ส.พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) และ นายพงศ์เกษม สัตยาประเสริฐ โฆษกพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ขณะที่ตัวแทนสื่อมวลชนนายจักรกฤษ เพิ่มพูน ที่ปรึกษาอนุกรรมการฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อสมาคมนักข่าวฯ ร่วมเสวนา

lores_20181223144837390

นายจักรกฤษ เพิ่มพูน ผู้แทนสมาคมนักข่าวฯ กล่าวถึงคำสั่งและประกาศ คสช. ที่มีผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพประชาชน และเป็นอุปสรรคการทำหน้าที่สื่อมวลชนว่า ที่ผ่านมาทุกครั้งที่มีการปฏิวัติ คณะปฏิวัติจะมีคำสั่งในลักษณะริดลอนสิทธิเสรีภาพการแสดงความเห็นเพื่อที่จะยืนยันว่าจะไม่มีใครมาวิพากษ์วิจารณ์ หรือทำให้เสถียรภาพหลังจากการปฏิวัติมีคำถามหรือสั่นคลอน

โดยในยุค คสช. ก็มีประกาศสำคัญที่ต้องกล่าวถึงคือ ประกาศ คสช. ฉบับที่ 97/2557 เนื้อหาคือการให้ความร่วมมือต่อการปฏิบัติงานของ คสช. และการเผยแพร่ข้อมูลสารต่อประชาชน และสาธารณะ ซึ่งห้ามเชิญนักวิชาการ ผู้ที่เคยเป็นข้าราชการ ผู้ที่อยู่องค์กรอิสระมาแสดงความเห็นในสื่อที่ก่อให้เกิดความขัดแย้ง และห้ามเสนอข่าวเท็จ ข่าวหมิ่นประมาท หมิ่นสาบันและความมั่นคงที่เน้นย้ำถึง คสช. กับเจ้าหน้าที่ คสช. โดยใครละเมิดก็จะมีอำนาจเจ้าหน้าที่รัฐจัดการอย่างเด็ดขาด , ฉบับที่ 103/2557 และคำสั่ง หัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ข้อ 5 กับ 41/2559 โดยเป็นประกาศและคำสั่งที่ล้อมาจากประกาศคณะปฏิวัติ ปี 2517 และคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 42 ซึ่งมีเนื้อหาลักษณะคล้ายกัน คือการให้อำนาจอย่างเบ็ดเสร็จกับเจ้าพนักงานรัฐในการริดลอนสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน

โดยองค์กรวิชาชีพทั้ง 4 แห่ง เคยพบตัวแทน คสช. เรียกร้องให้ยกเลิกคำสั่งและประกาศ คสช. โดยสื่อมีหน่วยงานที่จะดูแลการปฏิบัติงานของสื่ออยู่แล้วอย่างน้อย 2 องค์กร คือสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติในส่วนที่เป็นสิ่งพิมพ์ และสภาวิชาชีพข่าวและวิทยุโทรทัศน์ไทย และตั้งแต่อดีตจนถึงขณะนี้ยังมีกฎหมายประมาณ 10 ฉบับเกี่ยวกับสื่อมวลชนที่จะดำเนินการกรณีที่สื่อมวลชนกระทำผิด โดยเคยนึกว่าเขาจะฟังแต่ที่ผ่านมา คสช. ก็ได้ออกประกาศต่อเนื่องมาอีก 3 ฉบับดังกล่าวที่มีการขยายความเรื่องการวิพากษ์ คสช. โดยใช้ถ้อยคำว่าต้องเจตนาไม่สุจริต ทำลายความน่าเชื่อถือของ คสช. ด้วยข้อความอันเป็นเท็จ แต่คำถามคือใครจะเป็นคนบอกว่าเจตนาสุจริตหรือไม่สุจริต และข้อความที่เป็นเท็จอยู่ตรงไหน โดยที่ผ่านมามีการใช้ประกาศฉบับที่ 97/2557 อย่างชัดเจนกับผู้จัดการรายสัปดาห์ หลังจากนั้นก็ใช้กับกรณีเฉพาะบุคคลคือมีคำสั่งเรียกสื่อมวลชนที่เห็นว่าอาจจะวิพากษ์วิจารณ์ล้ำเส้น ให้ไปรายงานตัว-สอบถาม กระทั่งร่างรัฐธรรมนูญฯ ปี 2560 ก็มี 2 มาตราที่รับรองสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชน ใน ม.34 เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน และ ม.35 เสรีภาพในการเสนอข่าวสารและแสดงความคิดเห็นของสื่อมวลชน ดังนัจะเห็นได้ว่าคำสั่งและประกาศ คสช. 4 ฉบับดังกล่าว ขัดและแย้งกับ รธน. ที่เป็นกฎหมายสูงสุด

lores_20181223144843028

คำถามคือว่าจะดำเนินอย่างไร เพราะหลังจากการเลือกตั้ง ก.พ.62 แม้จะมีรัฐบาลใหม่เข้ามา ประกาศเหล่านี้ก็ยังไม่สิ้นผลไป ซึ่ง รธน.ใน ม.279 เขียนไว้ชัดเจนว่า บรรดาการกระทำ-คำสั่งและประกาศ คสช.หรือ หน.คสช. ที่ใช้บังคับก่อน รธน.จะประกาศใช้ หรือที่จะออกต่อไปตามอำนาจ ม.44 ของรธน.ชั่วคราว ก็ยังมีผลอยู่ต่อไป และหากจะยกเลิก ต้องออกเป็นพระราชบัญญัติ ( พ.ร.บ.) ซึ่งในอดีตคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 42 ยังถูกใช้มานานถึง 17 ปีโดยสุดท้ายได้ยกเลิกเพราะมีการออกพระราชกำหนดปลายรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ

สุดท้ายเมื่อมีการปลดล็อกนักการเมือง พรรคการเมืองเข้าสู่บรรยากาศประชาธิปไตยแล้วไปสู่การเลือกตั้ง การเลือกตั้งเป็นสัญลักษณ์ของประชาธิปไตยจะเต็มรูปแบบหรือไม่เต็มรูปแบบก็แล้วแต่ สาระสำคัญของการเป็นประชาธิปไตยยังแสดงออกด้วยสิทธิในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนและสื่อมวลชน โดยเฉพาะสื่อมวลชนทำหน้าที่แทนประชาชน ประเทศไหนก็ตามที่พลเมืองหรือคนในสังคมไม่มีสิทธิการแสดงความคิดเห็น หรือมีความระแวดระวัง ไม่มั่นใจในการแสดงความคิดเห็นเพราะมีกฎเหล็กที่สามารถจะใช้ได้ฉับพลันทันที ประเทศนั้นเรียกว่าประชาธิปไตยไม่ได้ ดังนั้นตัวแทนพรรคการเมืองช่วยทำให้บรรยากาศตรงกลางประชาธิปไตย เป็นประชาธิปไตยเต็มรูปแบบขจัดอุปสรรคขัดขวางนี้ออกไป ที่ปรึกษาอนุกรรมการฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อสมาคมนักข่าวฯ กล่าวและว่า ทราบว่ารัฐบาลนี้ได้เปิดให้รับเสนอแก้ไขกฎหมายจนถึงวันที่ 28 ธ.ค.นี้ ดังนั้นถ้ายังไม่มีการเสนอยกเลิกคำสั่งและประกาศ คสช. เหล่านี้ เข้าสู่สภา ก็ต้องอาศัยอีกช่องทางหนึ่งที่อาจจะเป็นไม่ได้ แต่ขอพูดไว้ก็คือ การใช้ ม.44 ยังมี ถ้าจะกรุณาก็ใช้ ม.44 นี้ยกเลิกบรรดาคำสั่งแลประกาศ คสช. ก็จะเป็นกุศลกับประเทศนี้อย่างยิ่ง

lores_20181223144837998

ขณะที่ นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ จากพรรคประชาธิปัตย์ ได้แสดงความเห็นและจุดยืนว่า การปลดล็อกเพื่อสิทธิเสรีภาพในการข้าสู่ประชาธิไปไตย ก็ต้องพิจารณาว่าเมื่อบ้านเมืองกำลังเข้าสู่บรรยากาศเลือกตั้งอะไรที่ควรจะเป็นสาระสำคัญในการทำให้เกิดบรรยากาศประชาธิปไตยไม่ว่าจะมากหรือน้อยอย่างไร สุดท้ายการเลือกตั้งต้องอยู่บนพื้นฐานที่ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพที่จะดำเนินการในฐานะที่เป็นพลเมืองคนไทย ร่วมแสดงออกต่างๆทางการเมืองได้อย่างเสรี แต่ความจริงที่พบขณะนี้คือยังมีประกาศ-คำสั่ง คสช.และ หน.คสช. ที่ใช้อำนาจ ม.44 ออกมาหลายเรื่องที่กระทบสิทธิเสรีภาพของประชาชนและสื่อมวลชน ตั้งแต่ปี 2557 , 2558 , 2559 เช่น ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 4 เปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ของรัฐไปในเคหสถานใดๆ เพื่อตรวจค้น หรือตรวจค้นบุคคล ยาพาหนะใดเมื่อมีเหตุสงสัยตามสมควรในการทำผิดความมั่นคงหลบซ่อนอยู่ ซึ่งมีผลจะค้นเมื่อใดก็ได้ ดังนั้นคำสั่ง-ประกาศเหล่านี้ต้องถูกแก้ไข

ถ้าปล่อยให้การเลือกตั้งที่จะเป็นประชาธิปไตย เป็นไปในบรรยากาศที่มีเจ้าหน้าที่ของรัฐใครก็ตาม ใช้อำนาจตามคำสั่ง หน.คสช. มาตรวจค้นบ้านเรือน รถยนต์ระหว่างที่มีการเลือกตั้ง โดยหน.คสช.ซึ่งออกคำสั่งนั้นเดิมเราเชื่อว่าจะเป็นกรรมการมาจัดการปัญหาบ้านเมืองในระยะเวลาหนึ่งแต่ปรากฏว่า หน.คสช. กำลังจะไปมีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อเสนอเป็นนายกรัฐมนตรีของพรรคการเมืองที่สนับสนุนให้ หน.คสช. มาเป็นายกฯ ต่อไปหลังการเลือกตั้ง ผมว่าตรงนี้เป็นเรื่องการทับซ้อนอำนาจที่น่าเกลียดมาก

นายองอาจ ยังกล่าวอีกว่า ถ้าจะมาบอกว่าท่านคงไม่ใช้อำนาจเหล่านี้เพราะเข้าสู่บรรยากาศประชาธิปไตย แต่เมื่อยังมีบรรดาคำสั่ง-ประกาศเหล่านี้อยู่ ใครจะไปเชื่อถือได้ การใช้คำสั่งเมื่อใดก็ได้ย่อมอาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ดังนั้นเมื่อจะเข้าสู่การเลือกตั้งแล้วสมควรที่จะคงมีคำสั่งเหล่านี้ต่อไปหรือไม่ ตนคิดว่าเราไม่ควรมีคำสั่งเหล่านี้ในบ้านเมืองอีกต่อไป เพราะตาม รธน. ม.35 ยังระบุรับรองสิทธิสื่อมวลชนไว้ ขณะที่เรากำลังจะมีการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย ไม่ได้อยู่ในภาวะสงครามถึงจะยอมให้มีคำสั่ง หน.คสช. ที่ขัดหรือแย้ง รธน. ดังนั้นถ้าปลดล็อกก็จะเกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติ คือ 1.ทำให้ไม่มีการใช้อำนาจโดยมิชอบเพื่อตนเองและพวกพ้อง 2ทำให้เกิดความเชื่อมั่นว่าการเลือกตั้งจะเป็นไปโดยสุจริต เที่ยงธรรม ไม่มีการใช้อำนาจพิเศษใดๆ ก่อให้เกิดผลกระทบต่อการเลือกตั้งทั้งทางตรงและทางอ้อม 3.จะทำให้เกิดการยอมรับต่อผลการเลือกตั้งอีกทางหนึ่ง

อยากเตือนสติผู้ที่มีอำนาจ คนที่อยู่ในรัฐบาล- คสช. ว่าประเทศไทยไม่ได้อยู่โดดเดี่ยวประเทศเดียวในโลก เราเป็นรัฐภาคีของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งคุ้มครองสิทธิต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในการชุมนุม เสรีภาพการรวมเป็นสมาคม สิทธิที่จะมีชีวิตเสรีภาพ ความปลอดภัย และการมีส่วนร่วมทางการเมือง ตราบใดที่ยังมีคำสั่งเหล่านี้อยู่การที่เราเป็นรัฐภาคระหว่างประเทศจะมีความหมายอย่างไร ถ้าทางปฏิบัติแทบจะไม่ได้ปฏิบัติอะไรเลย ดังนั้นที่เราจะปลดล็อกคำสั่ง หน.คสช. ผมถือว่าเป็นเรื่องควรดำเนินการอย่างยิ่งและช่วยการสนับสุนให้เกิดการปลดล็อก เพราะสิ่งเหล่านี้ยังมีอยู่จะไม่ได้กระทบเพียงสื่อมวลชน ประชาชนเท่านั้น แต่ยังกระทบประเทศชาติบ้านเมืองโดยรวมด้วยคือหากไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งเพราะระหว่างการเลือกตั้งเกิดใช้คำสั่งเหล่านี้ บ้านเมืองก็คงไม่สงบสุขปกติแน่นอน เรื่องนี้จึงเป็นปลดล็อกเพื่อประเทศชาติบ้านเมืองด้วยเพื่อเดินหน้าเข้าสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตยอย่างภาคภูมิ

lores_20181223144840540

ด้าน นายนิกร จำนง จากพรรคพรรคชาติไทยพัฒนา ก็กล่าวว่า เห็นด้วยที่ควรต้องยกเลิกคำสั่ง-ประกาศ คสช. ที่กระทบสิทธิ เพราะเหตุการณ์เปลี่ยนไปแล้ว แต่ว่าในการแก้ไขนั้นควรที่จะดูจากที่มาคำสั่งก่อนว่า เกิดขึ้นมาช่วงยึดอำนาจที่ปกครองแบบพิเศษไม่มีประชาธิปไตยจึงออกมาแบบกวดอยู่แล้วไม่ใช่เพียงเรื่องสื่อ และปัจจุบันอำนาจเหล่านี้ก็ยังอยู่ซึ่งกระทบเทือนทั้งประชาชนและสื่อมวลชน ดังนั้นพรรคการเมืองต้องร่วมกันเรียกร้อง คสช. ถอนคำสั่งเหล่านั้นแบบต้องไม่ให้มีเหลือเลย แบบว่าคำสั่งมาอย่างไรก็ไปอย่างนั้น ซึ่งพรรคการเมืองควรช่วยกันรวบรวมตรวจดูคำสั่ง-ประกาศต่างๆ โดยต้องยอมรับก่อนว่าถ้าจะเรียกร้องให้ยกเลิกทั้งหมดตอนนี้คงไม่มีทาง แต่เราต้องเดินทีละก้าว อย่างในช่วงที่มีการเลือกตั้งนี้จะทำอย่างไรให้สื่อที่จะเชื่อมกับประชาชนไม่ถูกปิดกั้น ซึ่งขณะนี้ กกต.มาแล้ว ไม่ใช่ คสช.ที่คุมอำนาจเบ็ดเสร็จ ดังนั้นอำนาจการควบคุมการเสนอข่าว ก็จะมี พ.ร.บ.เลือกตั้งฯ เป็นกลไก ดังนั้นต้องเปลี่ยนมือเถอะขอร้องกันแบบนี้

เราต้องเรียงให้ดี และขอให้ดี เราต้องขอเขาในสิ่งที่เขาไม่มีเหตุผลที่จะปฏิเสธ อย่างเวลานี้ในมุมเลือกตั้งถ้าใช้สื่อในการเลือกตั้ง ถ้าขอจะมีอำนาจอะไรที่จะปฏิเสธ ผมก็เห็นด้วยที่จะยกเลิกทั้งหมดนั่นแหละ ไม่ใช่เฉพาะเรื่องสื่อ และฝากไว้ว่าก่อนที่จะหมดอำนาจตรงนี้ไป ขอใช้สักครั้งหนึ่งอำนาจตาม ม.44 ในการรื้อ คำสั่งตาม ม.44 เดิมทั้งหมด เคลียร์ไปเสีย ไม่งั้นจะตกค้างต่อไปแล้วสร้างปัญหาความยุ่งยากในสภาอีกมากมาย และให้สมาคมสื่อทำบันทึกชัดๆ หารือกับ กกต.ไปเลยตรงๆ ในเรื่องการทำหน้าที่

lores_20181223144839056

ขณะที่ นางลาดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ จากพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เราฝ่ายการเมืองก็มีความอึดอัดมากเลยในคำสั่งต่างๆ ที่ลิดรอนการรับรู้ข่าวสารของประชาชน ด้วยการลิดรอนสิทธิสื่อมวลชน ความเป็นกลางก็ไม่มี ดังนั้นคำสั่งต่างๆ ยังค้างอยู่ก็ควรจะปลดล็อกก่อนที่จะมีการเลือกตั้งด้วยซ้ำไป ควรต้องทำ ถ้ารัฐบาลอยากให้ภาพลักษณ์ของประเทศเราสง่างามในสังคมโลกเสรีประชาธิปไตยมีความเชื่อมั่น เชื่อถือ และจะเป็นฐานให้ประเทศไทยสง่างามในการเป็นประธานอาเซียน ก็ต้องปลดล็อกการที่มีลิดรอนสิทธิสื่อมวลชนทันทีเลย ถ้าเปิดให้สื่อมวลชนสามารถเข้าไปทำข่าวในการเลือกตั้ง ตรงไหนมีความสุจริต ตรงไหนไม่สุจริต สื่อมวลชนสามารถเอามาตีแผ่ได้เหมือนทุกครั้งที่ผ่านมาจะดีมากเลย

ตรงนี้ดิฉันขอเรียกร้อง คสช. น่าจะเตรียมให้ประเทศไทยของเราสง่างามในการเป็นประธานอาเซียน ด้วยการให้เสรีภาพ ให้สื่อมวลชนไทยเราโดยเร็ว

อย่างไรก็ดีนอกจากประกาศคำสั่ง คสช. ที่สมาคมสื่อฯ กล่าวถึงแล้ว ก็ยังมีประกาศ คสช. ตั้งกรรมการกำกับสื่อออนไลน์ ให้สั่งบล็อกเว็บไซต์ได้โดยไม่ต้องขอหมายศาล อันนี้ก็รุนแรงมาก และยังมีคำสั่ง คสช. ที่ไม่เผยแพร่ต่อสาธารณะโดยมีอยู่ฉบับหนึ่งที่ให้ตั้งคณะทำงานติดตามการทำงานของสื่อซึ่งทำงานแข็งขันจะนั่งมอนิเตอร์ทีวีแต่ละรายการว่าพูดอะไร วิพากษ์วิจารณ์อะไรบ้าง ถอดเทปแล้วก็ส่ง กสทช. รับเรื่องไปพิจารณา และดำเนินการตามขั้นตอนเลยว่าจะลงโทษแบบไหน ซึ่งแม้สื่อไม่ได้ทำผิดตามประกาศนั้น แต่ทำผิด MOU ที่ทำไว้กับ กสทช. ก็เรียกว่าล็อกสื่อไว้หลายจุดมากทำให้สื่อทำงานลำบากมาก เป็นการคุกคามเสรีภาพสื่ออย่างชัดเจน

โดยนักสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติในขณะนี้ก็ยังเห็นพ้องกันว่าการคุกคามการแสดงความคิดเห็นหลากหลายของสื่อนานาประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มสื่อออนไลน์ จนมีการสรุปเป็นข้อความอย่างน่าสนใจว่า สื่อมวลชนอิสระ และไม่ขึ้นกับใครนั้น ส่งเสริมประชาธิปไตย และภาระรับผิดชอบของผู้มีอำนาจ ขณะที่การโจมตีสื่อมวลชนและการรายงานข่าวนั้นก็บั่นทอนการมีส่วนร่วมของประชาชน และยังมีแนวคิดที่ว่ารัฐบาลต้องรับผิดชอบในสิ่งที่ตนเองทำลงไปโดยสิ้นเชิง โดยสื่อเรียกว่ามีความสำคัญมากในโลกเสรีประชาธิปไตย แต่ในยุคที่รัฐบาลเผด็จการนั้นเขาจะเหยียบสื่อ กดสื่อไว้ ปิดหู ปิดตา ปิดปากประชาชน ก็จะกลายเป็นความโชคร้ายของประชาชน ขณะที่ก็มีเสียงเรียกร้องจากองค์กรสิทธิมนุษยชนจากต่างประเทศ ที่ขอให้ยกเลิกคำสั่งที่จำกัดเสรีภาพแสดงความคิดเห็นของประชาชน เพราะการเลือกตั้งวันที่ 24 ก.พ.62 เขาไม่เชื่อว่า การเลือกตั้งจะน่าเชื่อถือหากพรรคการเมือง สื่อและประชาชนยังถูกคุกคามอยู่

lores_20181223144840690

ด้าน น.ส.พรรณิการ์ วานิช จากพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งอดีตเป็นผู้ดำเนินการรายการและผู้สื่อข่าวต่างประเทศของวอยซ์ ทีวี ก็ระบุว่าการออกคำสั่งและประกาศ คสช.เกี่ยวกับสื่อดังกล่าวทั้ง 4 ฉบับนั้น ก็นำมาสู่การล็อก 4 ชั้น 1.การห้ามนำเสนอข่างทางลบ คสช. จะถือว่าเป็นภัยความมั่นคงของประเทศ 2.เป็นการใช้อำนาจเถื่อนซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐได้รับมอบอำนาจจาก คสช.ให้มาควบคุมสื่อ เช่น การให้ทหารอาวุธครบมือเข้าไปนั่งคุมสื่อในสตูดิโอที่กำลังออกอากาศสด การไปแวะเยี่ยมเยียนห้องข่าวด้วยอาวุธครบมืออีกเช่นกันโดยไม่มีสาเหตุใดๆเรียกว่าเป็นการข่มขู่ ไปแบบไม่เตือนล่วงหน้า สิ่งเหล่านี้สื่อหลายสำนักเคยเผชิญ และการใช้ กสทช.บังหน้า ใช้อำนาจ กสทช. ปิดสื่อ ซึ่งไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่ตนเคยอยู่ในสื่อที่ถูกปิดมากที่สุดในประเทศไทย 19 ครั้ง ตอนนี้ไม่รู้ว่าจะถูกปิดอีกหรือเปล่าในช่วงใกล้เลือกตั้งและการเมืองก็เข้มข้นขึ้น ทั้งที่การปิดสื่อในอารยะประเทศที่พัฒนาแล้วไม่ว่าจะปิดสื่อแบบชั่วคราวหรือถาวรสัก 1 ครั้งจะเป็นเรื่องใหญ่มาก แต่สื่อในประเทศไทยสื่อถูกปิดเป็น 10 ครั้งโดยที่ทุกคนเริ่มชินชาและเห็นว่าเป็นเรื่องปกติ

3.ขณะนี้ทหารเริ่มอัพเดท มีการอัพเกรดซอฟท์แวร์แล้วรู้ว่าสงครามที่แท้จริงอยู่ในออนไลน์ สื่ออย่างวิทยุ ทีวี หนังสือพิมพ์ ทหารคุมได้ด้วยกลไกของรัฐ แต่สื่อออนไลน์คุมยาก จึงใช้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ โดยเฉพาะมาตรา 14(2) มาใช้ ซึ่งหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และกรรมการบริหารพรรคอีก 2 คนก็ถูกกฎหมายดังกล่าวเล่นงาน เป็นการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือปิดปากสื่อรวมถึงประชาชนทั่วไป 4.ล็อกที่ใหญ่ท่าสุดที่เราไม่อาจหนีพ้น คือ ล็อกที่อยู่ใน รธน. นั้นคือ บทบัญญัติ ม.279 ที่มีปัญหามากที่สุด โดยระบุแบบครอบจักวาลว่า ประกาศ-คำสั่ง คสช.ถือว่าชอบด้วย รธน.ทั้งหมด ดังนั้นการใช้อำนาจไม่ว่าจะตีความกฎหมายกว่างหรือแคบ ก็ถูก ม.279 คุ้มครองทั้งหมดว่าสิ่งที่คุณทำนั้นไม่ผิด อันนี้นำไปสู่ภาวะว่าไม่มีขื่อมีแปแล้ว

เวลาเราเรียกร้องเสรีภาพสื่อ สื่อถูกปิดทำไมมีปัญหา สื่อถูกแทรกแซงทำไมมีปัญหา สื่อถูกปากล้วยใส่ขู่ว่าจะทุ่มโพเดี้ยม หรือขู่จะเอาไปยิงเป้าทำไมถึงมีปัญหา ไม่ใช่เพราะว่าสื่อมีศักดิ์ศรีมากหรือน้อยกว่าอาชีพอื่น ทุกอาชีพมีศักดิ์ศรีเท่ากัน แต่เสรีภาพของสื่อและการเป็นอิสระของสื่อหมายถึงเสรีภาพของประชาชนที่จะรับรู้ข่าวสารที่เที่ยงตรงและเป็นธรรม ซึ่งเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง ในการที่อีก 2 เดือนกว่าๆที่เราจะเดินหน้าไปสู่การเลือกตั้ง

ดังนั้นการจะปลดล็อกคำสั่ง-ประกาศ คสช.ที่ลามคอสื่อเอาไว้เพื่อจะนำไปสู่การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม ก็ต้องแบบยาแรงเลย คือการจะปลดอำนาจเถื่อน จะเอาอำนาจ ม.44 ที่เถื่อนกว่า ปลดทุกอย่างให้หมดทีเดียว แต่ถ้าถามใจว่าจะเดินหน้าไปสู่การเลือกตั้งที่เราทุกคนอยากให้เสรีและเป็นธรรมที่สุดเพราะว่าไม่ได้เลือกตั้งกันอย่างมีนัยยะสำคัญมา 8 ปีแล้วโดยไม่นับการเลือกตั้งปี 2557 ที่ถูกทำให้เป็นโมฆะไป เราอยากเดินเข้าสู่การเลือกตั้งต้องอาศัยอำนาจเถื่อนแบบนี้ปลดล็อกพวกเราจริงหรือ และถ้าไม่ใช้ยาแรงแบบนั้นจะทำอย่างไรก็ต้องบอกว่ามี โดยสิ่งที่ควรจะต้องคือ 1.พรรคการเมืองและสื่อมวลชน ร่วมกันเรียกร้อง คสช. ยุติการใช้อำนาจในการออกประกาศคำสั่งใหม่ และยุติ ระงับการใช้อำนาจตมคำสั่งเดิมที่ผ่านมาทั้งหมดในทันทีที่มีการประกาศพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งออกมา ต้องระงับการใช้อำนาจเถื่อนของตัวเองในยุคที่กำลังจะเข้าสู่การเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตย

2.ต้องเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออก และดำรงตำแหน่งเพียงรัฐบาลรักษาการ ซึ่งนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ เคยยอมรับเองว่ารัฐบาลนี้มีอำนาจเต็มจนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่ ไม่เหมือนรัฐบาลปกติที่เข้าสู่การเลือกตั้งแล้วจะเป็นเพียงรัฐบาลรักษาการ 3.เมื่อผ่านการเลือกตั้งแล้ว ก็ขอเรียกร้องให้พรรคการเมืองทุกพรรคที่เคารพในระบอบประชาธิปไตย ร่วมกันแก้ไข รธน. ไมว่าจะเขียนใหม่ทั้งฉบับ หรือแก้ไขใน ม.279 และ4.หลังการเลือกตั้ง ควรต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุด เพื่อจำแนก แยกแยะคำสั่ง-ประกาศ คสช.ทั้งหมด เพื่อดูว่าคำสั่งที่มีประชาชนได้รับประโยชน์โดยสุจริต ไม่ใช่เอื้อประโยชน์พวกพ้องกันเอง ก็จำเป็นต้องเปลี่ยนคำสั่ง คสช.นั้นให้เป็น พระราชบัญญัติ พระราชกฤษฎีกา หรือคำสั่งทางปกครองให้เป็นกฎหมายปกติ ส่วนคำสั่งที่เป็นอำนาจเถื่อนใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ละเมิดสิทธิมนุษยชนเหล่านี้ต้องถูกยกเลิก แล้วกลับมาเยียวยาผู้เสียหายด้วย กระบวนการเหล่านี้ต้องเกิดขึ้น และสำคัญที่สุด คือ พรรคการเมืองจำเป็นต้องส่งเสริม สนับสนุน และให้กำลังใจสื่อในทุกทางที่จะเป็นไปได้ ให้ทำหน้าที่สื่ออย่างดีที่สุด โดยสื่อมวลชนเป็นเสาหลักหนึ่งของประชาธิปไตย ต้องนำเสนอข้อมูลเที่ยงตรง เป็นธรรม เพื่อให้ประชาชนมีข้อมูลมากที่สุด จริงที่สุดในการตัดสินใจ เสรีภาพของสื่อที่นำไปสู่การรับรู้ข่าวสารของประชาชนจะนำไปสู่การเลือกตั้งเป็นธรรม ที่จะนำสู่ทางออกของประเทศด้วย

lores_20181223144841304

ขณะที่ นายวิโชติ วัณโณ จากพรรคเพื่อชาติ (พช.) , พล.อ.ฐิติวัจน์ กำลังเอก จากพรรคชาติพัฒนา และ นายพงศ์เกษม สัตยาประเสริฐ อดีตสื่อสารมวลชน ซึ่งเป็นผู้แทนจากพรรคไทยรักษาชาติ ก็ต่างมีความเห็นในทิศทางเดียวกันว่า

lores_20181223144836403

ในอนาคตที่จะเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตย ต้องร่วมมือกันสร้างระบอบประชาธิปไตยให้มีพื้นที่เสรีภาพของประชาชน และปลดล็อกสื่อมวลชน

lores_20181223144839715

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังพรรคการเมืองต่างๆ แสดงความคิดเห็นแล้ว นายปราเมศ เหล็กเพชร์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้ยื่นจดหมายเปิดผนึก ผ่านพรรคการเมืองที่มาร่วมเสวนาวันนี้ด้วย เพื่อเสนอไปยังหัวหน้าพรรคต่างๆ ในการนำข้อเสนอองค์กรสื่อไปพิจารณาด้วย