กรมศุลฯ จับลอบนำเข้า 'ปลาไหลแก้ว' มูลค่ากว่า 40 ล้านบาท

กรมศุลฯ จับลอบนำเข้า 'ปลาไหลแก้ว' มูลค่ากว่า 40 ล้านบาท

กรมศุลกากร แถลงจับกุมผู้ลักลอบนำเข้าปลาไหลแก้ว สายพันธุ์ยุโรป น้ำหนักรวม 800 กก. มูลค่ากว่า 40 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2561 ที่ฝ่ายสืบสวนและปราบปราม ส่วนควบคุมทางศุลกากร สำนักงานศุลกากรตรวจสินค้าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ชั้น 3 ตึก BC เขตปลอดอากรท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ อธิบดีกรมศุลกากร นายสรศักดิ์ มีนะโตรี รองอธิบดีกรมศุลกากร นายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ ผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากรตรวจสินค้าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ นายเชาวน์ ตะกรุดเงิน ผู้อำนวยการส่วนควบคุมทางศุลกากร นายสุรพัศ สิขเรศ หัวหน้าฝ่ายสืบสวนและปราบปราม และนายกิตติพงศ์ กิตติขจร รองผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ร่วมกันแถลงข่าวจับกุมผู้ลักลอบนำเข้าปลาไหล ยุโรป สายพันธุ์ Anguilla anguilla ซึ่งเป็นชนิดพันธุ์ที่อยู่ในบัญชีหมายเลข 2 ของอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) และชนิดสัตว์น้ำตามบัญชีแนบท้ายประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดชนิดสัตว์ป่า ซากของสัตว์ป่าที่ห้ามนำเข้าหรือส่งออก พร้อมของกลางปลาไหลแก้ว สายพันธุ์ยุโรป (The European eel species Anguilla anguilla) น้ำหนัก 800 กิโลกรัม รวมมูลค่าประมาณ 40 ล้านบาท

นายกฤษฎา กล่าวว่า กรมศุลกากรได้มีนโยบายสำคัญในการปราบปรามสินค้าลักลอบ หลีกเลี่ยงอากร ข้อห้าม ข้อจำกัด เพื่อความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษี ปกป้องสังคมและสิ่งแวดล้อม และเข้มงวดพิเศษในการสกัดกั้นป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำเข้า ส่งอออก นำผ่านสัตว์น้ำใกล้สูญพันธุ์ ภายใต้พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 พระราชบัญญัติการประมง พ.ศ.2558 และอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) จึงได้สั่งการให้จับกุมผู้กระทำความผิด โดยเฝ้าติดตามข้อมูลข่าวสาร สำนักงานข่าวทั่วโลกและพยายามแกะรอยพฤติกรรมกลุ่มผู้ค้าที่มีความเสี่ยงจะนำเข้ามายังประเทศไทย พร้อมทั้งสืบสวนหาข่าวเชิงลึกจนพบว่ามีขบวนการลักลอบส่งออกปลาไหลยุโรป สายพันธุ์ Anguilla anguilla ซึ่งเป็นชนิดพันธุ์ที่อยู่ในบัญชีหมายเลข 2 ของอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) และชนิดสัตว์น้ำตามบัญชีแนบท้ายประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดชนิดสัตว์ป่า ซากของสัตว์ป่าที่ห้ามนำเข้าหรือส่งออก จึงได้สั่งการให้เข้มงวดเฝ้าระวังตรวจสอบสินค้าประเภทปลาไหลยุโรปเป็นพิเศษ

นายกฤษฎา กล่าวว่า จนกระทั่งเมื่อวันที่ 19 ธ.ค. เจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวนและปราบปราม ส่วนควบคุมทางศุลกากร สำนักงานศุลกากรตรวจสินค้าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ ด่านตรวจสัตว์น้ำท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ กรมประมง ได้ตรวจสอบข้อมูลบัญชีสินค้าทางอากาศยาน (Manifest) ซึ่งบรรทุกมากับอากาศยานเที่ยวบินที่ QR830 พบว่ามีสินค้าต้องสงสัยสำแดงชนิดสินค้าเป็น COOL SHRIMPS จำนวน 3 หีบห่อ น้ำหนัก 357 กิโลกรัม โดยส่งจากประเทศต้นทางคือประเทศโรมาเนีย ส่งมายังผู้รับในประเทศไทย จึงได้ขอความช่วยเหลือจากหัวหน้าด่านตรวจสัตว์น้ำท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ในการนำตัวอย่างสินค้าไปตรวจสอบผลการตรวจสอบพบว่าสินค้าเป็นปลาไหลยุโรป สายพันธุ์ Anguilla anguilla และวันที่ 20 ธ.ค. ยังพบว่ามีข้อมูลการนำเข้าสินค้าตามบัญชีสินค้าทางอากาศยาน (Manifest) สำแดงชนิดสินค้าเป็น COOL SHRIMPS จำนวน 3 หีบห่อ น้ำหนัก 352 กิโลกรัม นำเข้ามาทางสายการบินกาต้าร์แอร์เวย์ เที่ยวบินที่ QR838 ขนส่งจากประเทศต้นทางโรมาเนีย ปลายทางท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ประเทศไทย ตรวจสอบพบว่าสินค้าเป็นเป็นปลาไหลยุโรป สายพันธุ์ Anguilla anguilla เช่นเดียวกัน รวมมูลค่าสินค้าทั้งหมด 40 ล้านบาท

สำหรับปลาไหลยุโรป สายพันธุ์ Anguilla anguilla หรือ ปลาไหลแก้ว (Glass eels) กระจายพันธุ์อยู่ตามแถบชายฝั่งแม่น้ำในทวีปยุโรป และใกล้ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน โดยที่ปลาพ่อพันธุ์แม่พันธุ์จะว่ายน้ำไปวางไข่ในทะเลซาร์กัสเพียงแห่งเดียว และเมื่อปลาวางไข่แล้วจะตาย สำหรับลูกปลาเมื่อฟักเป็นตัวอ่อน จะมีลักษณะโปร่งแสงใสเหมือนวุ้นเส้น และจะเดินทางกลับสู่แม่น้ำทางทวีปยุโรป โดยลอยไปตามกระแสน้ำอุ่นกัลฟ์สตรีม ซึ่งอาจจะเสี่ยงต่อการถูกสัตว์น้ำชนิดอื่นจับกินเป็นอาหาร โดยตัวอ่อนใช้เวลานานถึง 2-3 ปี ในการเดินทางมาถึงชายฝั่งแม่น้ำในทวีปยุโรป และใช้เวลา 8-15 ปี ในการเจริญเติบโตเต็มวัย ปลาไหลยุโรปจัดเป็นปลาเศรษฐกิจที่มีความสำคัญชนิดหนึ่งของทวีปยุโรป โดยใช้บริโภคกันมาอย่างยาวนาน สามารถปรุงได้หลายวิธีและจัดเป็นอาหารราคาแพง จนกระทั่งกลางปี พ.ศ.2552 รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ได้ออกกฎหมายห้ามล่าปลาไหลยุโรปเพื่อการค้าระหว่างเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน เพราะเกรงว่าจะสูญพันธุ์ ทั้งนี้มีจำนวนประชากรปลาไหลยุโรปลดลงกว่าร้อยละ 95 ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม กรมศุลกากรได้ให้ความสำคัญกับการปราบปรามการกระทำผิดสินค้าเกี่ยวกับอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) อย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา กรมศุลกากรได้จับกุมผู้กระทำผิดตามอนุสัญญาฯ ที่พยายามลักลอบผ่านทางสนามบิน มีมูลค่าสินค้ารวมมากกว่า 1,000 ล้านบาท

รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับปลาไหลมีทั้งหมด 15 สายพันธุ์ แต่มีเพียงหนึ่งสายพันธุ์คือ ปลาไหลแก้ว ที่เป็นสายพันธุ์ที่อยู่ในอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) เนื่องจากมีจำนวนลดลงและใกล้จะสูญพันธุ์ เพราะเนื้อปลาไหลแก้วมีราคาแพงมาก และเป็นอาหารจานโปรดของชาวยุโรป บางส่วนมีความเชื่อว่าเป็นยาที่เพิ่มพลังและบำรุงกำลัง ทำให้มีผู้ลักลอบส่งออกปลาไหลแก้วมีต้นทางจากยุโรป ก่อนที่จะส่งต่อลูกปลากไหลแก้ว แบบ elver เข้ามาหลายประเทศในแถบเอเชีย ซึ่งจะมีการนำลูกปลาไหลแก้วไปเลี้ยงให้โตเต็มที่ จากนั้นจึงส่งออกไปยังประเทศที่ 3 ในแถบเอเชีย อาทิ ฮ่องกง จีน ซึ่งเจ้าหน้าที่เชื่อว่าในประเทศไทยยังไม่มีสถานที่เพาะเลี้ยงปลาไหลแก้วเพื่อเพิ่มมูลค่าก่อนส่งออก แต่น่าจะถูกนำมาพักไว้ ก่อนส่งต่อไปยังประเทศที่ 3 อย่างไรก็ตามอยู่ระหว่างการขยายผลจับกุมผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป