'เมจิ อโณมา' ร้องดีเอสไอ ถูกแฮกเฟชบุ๊กล้วงข้อมูลบัตรเครดิต

'เมจิ อโณมา' ร้องดีเอสไอ ถูกแฮกเฟชบุ๊กล้วงข้อมูลบัตรเครดิต

“เมจิ อโณมา” ร้องดีเอสไอหลังถูกแฮกเฟซบุ๊กขโมยข้อมูลบัตรเครดิต สูญเงินกว่า 1.4 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 21 ธ.ค.61 เวลา 14.00 น. นางเมจิ อโณมา คุ๊ก ดารานางแบบ และไอดอลด้านสุขภาพ เดินทางมาให้ข้อมูลเบาะแสกับพ.ต.ท.ปกรณ์. สุชีวะกุล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษเกี่ยวกับพฤติการณ์ของกลุ่มมิจฉาชีพ ซึ่งได้แฮกข้อมูลบัตรเครดิตที่ผูกไว้สำหรับซื้อโฆษณาของเพจ Healthymeijianorma ในเฟซบุ๊กและได้ดึงวงเงินจากบัตรเครดิตของนางเมจิไป โดยพบว่ามีการล็อกอินเข้ามาในเพจดังกล่าวหลายครั้งทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ เบื้องต้นมีมูลค่าความเสียหายกว่า 1,400,000 บาท

นางเมจิ กล่าวว่า พฤติการณ์ คือ กลุ่มมิจฉาชีพเหล่านี้จะลักลอบเข้ามาในเพจเฟซบุ๊กที่ตั้งขึ้นมาเพื่อให้ข้อมูลการออกกำลังกายต่อสาธารณะ ซึ่งมีการใส่ข้อมูลบัตรเครดิตไว้กับเพจเฟซบุ๊ก เพื่อชำระค่าโฆษณาให้กับเฟซบุ๊กครั้งละ 1,000-2,000 บาท ซึ่งเป็นเพราะเพจดังกล่าวไม่ได้มีวัตถุประสงค์เชิงพาณิชย์ แต่ปรากฏว่ามียอดตัดบัตรเครดิต 400,000 บาทต่อ 1 บัตร รวมสูญเงินกว่า 1,400,000 บาท และเมื่อตรวจสอบข้อมูลบัญชีเฟซบุ๊กพบข้อพิรุธว่า มีประวัติล๊อกอินจากพื้นที่อื่นและเปลี่ยนการชำระค่าโฆษณาเป็น 30,000 บาทต่อหนึ่งการโปรโมทโพสต์ วันหนึ่งไม่ต่ำกว่า 10 ครั้ง รวมมูลค่าการใช้บัตรเครดิตหนึ่งใบเป็นเงินกว่า 400,000 บาทต่อวัน และเมื่อตรวจสอบบัญชีผู้ติดตามและยอดไลค์พบว่ามีเพียง 400,000 เท่าเดิม ขณะที่การโปรโมทโพสต์ไปขึ้นที่เพจอื่นที่มีผู้ติดตามถึง 9 ล้านบัญชี ซึ่งยังไม่ขอเปิดเผยชื่อเพจเพราะเกรงจะกระทบกับการสอบสวน อย่างไรก็ตาม ตนได้เปลี่ยนรหัสเข้าบัญชีใหม่แต่ก็ยังถูกแฮกบัญชีได้ใหม่ทุกครั้ง เช่นที่เพิ่งเกิดขึ้นล่าสุดและแทบทุกครั้งมีการล๊อคอินมาจากอ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี จนต้องระงับบัตรเครดิต

ด้านร.ต.อ.เขมชาติ ประกายหงส์มณี รองผอ.กองกิจการต่างประเทศและคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศ กล่าวว่า กรณีที่เกิดขึ้นกับเมจิไม่ใช่ครั้งแรก ตลอด 4 ปีที่ผ่านมาเคยมีกรณีที่เกิดขึ้นเช่นเดียวกันมาแล้ว ลักษณะแผนประทุษคล้ายกัน คือการเข้ามาซื้อโฆษณาเพื่อโปรโมทโพสต์และใช้แคมเปญซื้อโฆษณากับเฟซบุ๊กและโซเชียลมีเดียต่าง ๆ โดยการตัดบัตรเครดิตทั้งที่ไม่ใช่ลูกค้าของเพจ ซึ่งดีเอสไอจะเร่งสอบสวนขยายผลเบื้องหลังว่าเป็นขบวนการเดียวกันหรือไม่ แต่เพื่อป้องกันความเสียหายขอแจ้งเตือนไปยังประชาชน ให้ระมัดระวังการนำเลขบัตรเครดิตไปผูกไว้กับโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ควรต้องรหัสผ่านซ้อนสองชั้นป้องกันการถูกแฮกข้อมูลบัตรเครดิต เปลี่ยนพาสเวิร์ดบ่อย ๆ ตรวจเช็คยอดใช้จ่ายบัตรเครดิตทุกวัน และควรตั้งระบบให้มีการแจ้งเตือนในรูปแบบต่าง ๆ ทันทีที่มีการใช้งานบัตรเครดิต และควรจำกัดวงเงินในบัตรเครดิต ไม่ให้สูงเกินไป

ขอบคุณภาพจากเฟซบุ๊ก Meiji Anorma