ผ่าทางโต 'เคทีซี' ลุยธุรกิจใหม่โกย 'กำไร' ต่อ

ผ่าทางโต 'เคทีซี' ลุยธุรกิจใหม่โกย 'กำไร' ต่อ

พฤติกรรมผู้บริโภคและเทคโนโลยี่ยังเป็นโจทย์ท้าท้าย !! ของ 'ระเฑียร ศรีมงคล' แม่ทัพใหญ่ 'บัตรกรุงไทย' ส่งสัญญาณปีหน้าต้องเร่งปรับตัวในการแสวงหาช่องทางโตจาก 'ธุรกิจใหม่' อย่าง 'นาโน-พิโกไฟแนนซ์' หวังสร้างรายได้ต่อเนื่อง

สัปดาห์สุดท้ายของปี 2561 แล้ว...!! ตัวเลขผลประกอบการของ บมจ. บัตรกรุงไทย หรือ KTC กำลังส่งสัญญาณสวยหรู โดยเฉพาะบรรทัดสุดท้าย (Bottom line) ที่คาดว่าตัวเลขจะแตะ 5,000 ล้านบาท สะท้อนภาพจากงวด 9 เดือน บริษัทมีกำไร 3,911 ล้านบาท เติบโต 65% 'ถือว่าเป็นตัวเลขที่ทะลุเป้าหมายที่วางไว้เติบโตปีละ 10-15%'

'ระเฑียร ศรีมงคล' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บัตรกรุงไทย หรือ KTC ย้ำเป้าหมายให้ฟังเช่นนั้น...!! ก่อนแจกแจงแผนธุรกิจปี 2562 ว่า 'เคทีซี' ในปีหน้าธุรกิจบัตรเครดิต ตลอดจนธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจบัตรเครดิต ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคล (Personal Loan) ธุรกิจบริการรับชําระค่าสาธารณปูโภค ผู้ให้บริการการชําระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ฯ ยังเผชิญความท้าทายเฉกเช่นธุรกิจอื่น โดยเฉพาะประเด็นการถูก 'Disrupt' จากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยยีและพฤติกรรมผู้บริโภค

'ปีหน้าการดิสรัปจะเกิดขึ้นต่อเนื่อง และทวีความรุนแรงมากขึ้น' เมื่อเป็นเช่นนั้น ทำให้บริษัทต้องปรับตัว แสวงหาโอกาสการเติบโตจาก 'ธุรกิจใหม่' โดยที่หมายมั่นปั้นมือมาก เห็นจะเป็นการลุยธุรกิจ 'นาโน-พิโกไฟแนนซ์' ซึ่งบริษัทตระเตรียมโมเดลธุรกิจพร้อม จัดกระบวนทัพทุกอย่างไว้เรียบร้อยแล้ว ประกาศรุกธุรกิจไปกว่า 3 เดือนแล้ว รอเพียง 'ไฟเขียว' จากธนาคารกรุงไทย ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เท่านั้น หากทั้ง 2 ฝ่ายอนุมัติ เคทีซีจะมุ่งทำตลาดเชิงรุกทุกธุรกิจ บนพื้นฐานความยืดหยุ่นและระมัดระวัง เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า การปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการ 'รายย่อย' มากๆ มีความเสี่ยง หากไม่ระวัง อาจกระเทือนธุรกิจได้

'เราต้องหาทางทำธุรกิจนาโน-พิโกไฟแนนซ์ให้ได้ ไม่อย่างนั้นต้องร่วมมือกับพันธมิตรสักรายเพื่อทำสิ่งนี้ให้เกิดขึ้น เพราะเราเชื่อมั่นว่าโมเดลธุรกิจมีความเป็นไปได้ ขณะเดียวกันเรายังต้องทำอีกหลายอย่างเพื่อเพิ่มรายได้ สร้างการเติบโต'

'ระเฑียร' ย้ำว่าการขับเคลื่อนธุรกิจปีหน้า 'นาโน-พิโกไฟแนนซ์' จะเป็นสิ่งใหม่เกิดขึ้น เพื่อสร้างความแตกต่างจาก 'คู่แข่ง' บนสังเวียนธุรกิจนอนแบงก์ แถมการันตีว่า สิ่งแปลกใหม่หากให้ทำพรุ่งนี้ ก็ไม่มีปัญหา เพราะเป็นสิ่งที่บริษัทตั้งท่าและพร้อมมาก

โดยแผนดังกล่าว จะหนุนการเติบโตของเคทีซี ในแง่กำไรอยู่ที่ 10% ส่วนการใช้จ่ายผ่านบัครเครดิตจะเติบโต 15% ซึ่งเป็นตัวเลขที่ไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก

'ความสำคัญไม่ใช่อยู่ตรงที่ตัวเลขเท่าไหร่ อย่าง 3 ไตรมมาสที่เราโตมากถึง 65% มันมาด้วยฐานที่ใหญ่ และไม่มีอะไรง่ายอย่างที่ทั่วไปคิด ส่วนตัวเลขปีหน้า โดยรวมไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก แต่กระบวนการทำงานภายในบริษัทเราเปลี่ยนเยอะมาก สิ่งที่ทำจากคนอื่นคือการนำดิจิทัลมาผนวกความเป็นมนุษย์ ทำให้เกิดคอนเซ็ปต์ ดิจิทัล ทวิน' 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่หลายฝ่ายแสดงความเป็นห่วงภาคธุรกิจได้รับผลกระทบเชิง 'บวก' และ 'ลบ' ปีหน้า หนีไม่พ้น การเมือง การเลือกตั้ง ประเด็นนี้ 'ระเฑียร' ให้มุมมองว่า ตลอดระยะเวลา 7 ปีที่ผ่านมา 'คน' ของเคทีซี ถูกฝึกหรือเทรนให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ขณะเดียวกันยอมรับว่าการเผชิญ 'วิกฤติ' ของประเทศเกิดขึ้นหลายหน ไม่ว่าจะเป็นกีฬาสี การปฏิวัติรัฐประหาร

เขาจึงตั้งสมมติฐาน หลังการเลือกตั้งปีหน้า แล้วได้ 'ผู้นำประเทศชุดเดิม' หรือต่อให้ไม่ใช่ มีปัญหาการเมืองเกิดขึ้น ที่สุดแล้ว 'เอกชน' ยังคงทำหน้าที่ขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตด้วยลำแข็งตัวเอง ดังนั้น ฟันธงปีหน้ากำไร 10% มีให้เห็นแน่ๆ

แม่ทัพกำหนดทิศทางธุรกิจชัด ขุนพลต้องรับลูกเพื่อวาง 'กลยุทธ์' สานเป้าหมายให้เป็นไปตามที่ตั้งไว้ ซึ่งแต่ละกลุ่มธุรกิจมีหมัดเด็ดสู้ศึกปีหน้าดังนี้ 'พิทยา วรปัญญาสกุล' รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร–ธุรกิจบัตรเครดิต เคทีซี เล่าว่า ยอดการใช้จ่ายบัตรเครดิตยังเติบโตได้ เพราะบริษัทรักษา 'จุดแข็ง' ด้านความร่วมมือกับ 'พันธมิตร' ร้านค้าที่หลากหลายทั้งร้านเล็กร้านใหญ่ ร้านออนไลน์ ออฟไลน์ ร้านในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ทุกพื้นที่เพื่อทำการตลาด จึงต้องเร่งเครื่องต่อในปีหน้า สรรหาโปรโมชั่นที่น่าสนใจ มาดึงดูดลูกค้ากลุ่มเป้าหมายให้รูดปื๊ดๆ

สำหรับเครื่องมือที่ใช้ขับเคลื่อนตลาดปีหน้า ประกอบด้วย 3 อาวุธหลัก ได้แก่ 1.รายการสะสมคะแนน KTC FOREVER ที่ยืดหยุ่น แลกง่าย แลกได้จริง เป็นการตอบแทนลูกค้าที่จงรักภักดี (Loyalty) ใช้บัตร 2. บริการผ่อนชำระ KTC FLEXI เพื่อตอบโจทย์ร้านค้าและสมาชิกบัตรให้ลูกค้าเลือกผ่อน 0% หรือดอกเบี้ย 0.8% เป็นต้น 3.บริการ KTC World Travel Service ซึ่งเป็นสิทธิประโยชน์ที่เคทีซีทำมานาน เพื่อเอาใจนักเดินทางทั้งหลาย ซึ่งปีหน้าจะเห็นการขยายเครือข่าย และจับมือกับพันธมิตร 'ระดับโลก' ออกโปรโมชั่นเด็ด และบริการเป็น One Stop Service อย่างแท้จริง

สิ่งที่ขาดไม่ได้คือการเกาะติด 'ไลฟ์สไตล์' ของผู้บริโภค ทั้งความนิยมทำอะไรด้วยตนเอง การค้นหาข้อมูลที่สนใจและการทำรายการต่างๆ จึงได้พัฒนาบริการและช่องทางการสื่อสาร ยกเครื่องการใช้งานโมบายแอปพลิเคชัน 'KTC Mobile' ที่เปลี่ยนชื่อจาก TapKTC เพื่อให้สมาชิกเข้าถึงการใช้งานได้สะดวกและมั่นใจในความปลอดภัย

'ความท้าทายไม่ใช่เราทำอะไรดีกว่าคู่แข่ง แต่เราสามารถให้ข้อมูลข่าวสารดีๆกับลูกค้า ใช้เทคโนโลยีในการสื่อสารและให้บริการลูกค้าได้ดีหรือเปล่า'

คาดว่ายอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในปี 2562 จะเติบโต 15%

'ยอดการใช้จ่ายบัตรเครดิตโต 15% เราไม่เคยทำได้มาหลายปีแล้ว แต่ปีหน้าแนวโน้มตลาดดี ส่วนปีนี้จะพยายามทำให้โต 10%'

ด้าน 'พิชามน จิตรเป็นธรรม' ผู้อำนวยการ–ธุรกิจสินเชื่อบุคคล เคทีซี กล่าวว่า ปีหน้าสภาวะการแข่งขันธุรกิจสินเชื่อบุคคลจะยิ่งมีความดุเดือดมากขึ้น ทั้งจากผู้ประกอบการที่อยู่ในตลาดรวมถึงผู้ประกอบการรายใหม่ๆ แต่เคทีซียังตั้งเป้าเติบโต 10% โดยกลยุทธ์การตลาดที่จะหนุนธุรกิจกมี 2 ส่วนหลัก ได้แก่ 1.ฐานสินเชื่อส่วนบุคคลเติบโตจากการหาลูกค้าใหม่เข้าพอร์ตโฟลิโอ ซึ่งปีหน้าต้องการเห็นตัวเลขแตะ 1 ล้านราย จากปัจจุบันฐานสมาชิกมี 9.2 แสนราย

'ปีหน้า 1 ล้านราย แตะแน่ๆ' เธอย้ำอย่างมั่นใจ ส่วนที่ 2 คือการรักษาฐานลูกค้าเดิม เป็นหัวใจสำคัญมากในการทำธุรกิจ ทำให้บริษัทเตรียมแคมเปญการตลาดมากระตุ้นการตัดสินใจของผู้บริโภค แน่นอนว่ากลยุทธ์ชูโรงคือการ 'เคลียร์หนี้เกลี้ยง' โปรโมชั่นอื่นๆ เสริมทัพ เช่น การลดดอกเบี้ยในรูปแบบใหม่ๆ ที่ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน มีการรับสมัครสมาชิกรูปแบบใหม่ ที่ซุ่มเตรียมการอยู่

ปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้บริโภคนยุคปัจจุบันครอบครองบัตรกดเงินสดหลายใบ ทำให้เคทีซีต้องพัฒนาบริการเบิกเงินสดออนไลน์ผ่านแอปฯ 'KTC Mobile' อำนวยความสะดวกแก่ผู้บริโภคให้รวดเร็วและสะดวกมากยิ่งขึ้น โดยสามารถเบิกได้ตามวงเงินสูงสุดที่มีในบัตรตลอด 24 ชั่วโมงแบบ “เรียลไทม์” สะดวกสบายไม่ต้องใช้ PIN เพื่อรองรับไลฟ์ไสตล์ผู้บริโภคที่หันมาใช้บริการเบิกถอนเงินสดผ่านออนไลน์มากขึ้น

'เดิมผู้บริโภคกดเงินสดผ่านตู้เอทีเอ็ม 100% แต่ 2 ปีที่ผ่านมาพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน เบิกเงินสดผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น เป็นสัดส่วน 20%'

'ปิยศักดิ์ เตชะเสน' รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส-ช่องทางจัดจำหน่ายและธุรกิจร้านค้า เคทีซี เล่าถึงกลยุทธ์การบริหารช่องทางจัดจำหน่ายและธุรกิจร้านค้าในปีหน้าจะมุ่งเน้นไปที่คุณภาพในการนำเสนอขายมากกว่า 'จำนวน' คำนึงถึงความต้องการของลูกค้าและถูกต้องตามหลักเกณฑ์ของธปท.จะใช้ตัวแทนขายอิสระ (Outsource Sales) และสาขาของธนาคารกรุงไทยเป็นช่องทางหลัก และใช้ช่องทางออนไลน์เป็นยุทธศาสตร์ในระยะยาว

'ปีที่ผ่านมาเป็นปีที่ฝั่งเซลล์ทำงานเหนื่อย และเผชิญความท้าทายมาก เพราะนโยบายแบงก์ชาติ มาร์เก็ตคอนดัคก็ดี ค่อนข้างกระทบทีมงานการขายของเคทีซี เราจึงพัฒนาเว็บไซต์ ไอที ให้ความรู้เซลล์ มา การปรับตัวทีมงานมีติดขัด แต่ก็ผ่านได้ด้วยดี ส่วนปีหน้าทีมเซลล์จะเน้นเรื่องคุณภาพการขาย มากกว่าจำนวน และลูกค้าต้องเหมาะกับสินค้าใดสินค้าหนึ่ง นำเสนอให้ถูกต้องตามกฎธปท.กำหนด'

กลยุทธ์การบริหารธุรกิจร้านค้ารับบัตร ในปี 2562 บริษัทจะรุกขยายเข้าธุรกิจร้านค้าประเภทใหม่ๆ และตลาดต่างจังหวัด รวมทั้งมุ่งเจาะธุรกิจร้านค้าออนไลน์เพื่อตอบสนองการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของเทรนด์ดิจิทัล และสนับสนุนธุรกิจร้านค้าให้เปลี่ยนจากการรับเงินสดมาเป็นผ่านบัตรเครดิตด้วยเครื่องมือทางการเงินที่มีประสิทธิภาพ ขานรับการสร้างสังคมไร้เงินสดตามนโยบายของรัฐ

'ชุติเดช ชยุติ' ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงิน เคทีซี การันตีฐานะทางการเงินของบริษัทยัง 'แข็งแกร่ง' สิ้นปีนี้จะทำกำไรราว 5,000 ล้านบาท ด้วยการขยายฐานบัตรที่มากขึ้น อีกทั้งคุณภาพพอร์ตที่ดีทำให้การตั้งสำรองลดลง และการควบคุมต้นทุนการเงินที่ดี

ในปี 2562 เชื่อว่าเป็นปีที่หลายธุรกิจต้องเผชิญกับความท้าทายของอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่มีการปรับตัวสูงขึ้น แต่คาดว่าบริษัทจะไม่ได้รับผลกระทบด้านต้นทุนทางการเงิน เพราะสิ่งที่ดำเนินการมา 2-3 ปี ด้วยการออกหุ้นกู้ระยะ 3 ปี 5 ปี 7 ปี มีการ 'ล็อก' อัตราดอกเบี้ยไว้แล้ว โดยหุ้นกู้มูลค่า 45,885 ล้านบาท มากกว่า 80% มีอัตราดอกเบี้ยต่ำยืนระยะยาว และต้นทุนดอกเบี้ยอยู่ที่ระดับ 3-3.1%

'ดอกเบี้ยขึ้นไม่กระทบเรานัก' เขาย้ำ ส่วนในปีหน้า บริษัทมีแผนแผนจะระดมทุนผ่านการออกหุ้นกู้ราว 10,000 ล้านบาท รองรับการขยายตัวของบริษัทฯ และทดแทนหุ้นกู้ที่ครบกำหนดประมาณ 5,300 ล้านบาท และคาดว่า 2-3 ปีข้างหน้าต้นทุนดอกเบี้ยจะยืนระดับ 3.1-3.3%

ท้ายสุด เรื่องใหม่ที่ 'เคทีซี' ทำคือ การได้เริ่มโครงการทดลองนำร่อง (Pilot) ใช้ RPA มาช่วยการทำงานของฝ่ายบัญชี ในส่วนของงานที่มีวิธีการทำงานซ้ำๆ โดยเทคโนโลยีที่นำมาใช้นั้นได้รับการพิสูจน์แล้วว่าประสบความสำเร็จในหลายประเทศ และคาดหมายการนำโรบอท (Robot) เข้ามาช่วยจะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้มากกว่า 30% ในระยะยาว