ประมงเฮ! รมว.เกษตรฯ รับปากเร่งนำเรือออกนอกระบบ ก่อนเลือกตั้ง

ประมงเฮ! รมว.เกษตรฯ รับปากเร่งนำเรือออกนอกระบบ ก่อนเลือกตั้ง

ประมงเฮ! รมว.เกษตรฯ รับปากเร่งนำเรือออกนอกระบบ เสร็จก่อนเลือกตั้ง สำรวจแล้วมีเรือ 679 ลำพร้อมเลิกทำประมงจำแนกเรือหลักเกณฑ์จ่ายชดเชยให้เสร็จ 10 ม.ค.

เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.61 นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยผลการประชุมคณะอนุกรรมการกลั่นกรองการนำเรือประมงออกนอกระบบ เพื่อการจัดการทรัพยากรประมงทางทะเลอย่างยั่งยืน โดยกล่าวว่า กรมประมงซึ่งเป็นฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการฯ ออกประกาศให้ชาวประมงที่ประสงค์นำเรือออกนอกระบบมาแจ้งความประสงค์ได้ที่สำนักงานประมงพื้นที่กรุงเทพมหานครและสำนักงานประมงจังหวัดในพื้นที่ 22 จังหวัดชายทะเลแล้ว ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือ เรือที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐในการแก้ไขปัญหาการทำประมงประมงผิดกฎหมาย ตั้งแต่ปี 2558 (ระยะที่ 1 ระยะเร่งด่วน) 679 ลำ สามารถแจ้งความประสงค์ได้จนถึงวันที่ 28 ธันวาคม 2561

ทั้งนี้ หากไม่สามารถแจ้งความประสงค์ได้ทัน ให้แจ้งความประสงค์เพิ่มเติมได้ระหว่างวันที่ 29 ธันวาคม 2561 ถึง 11 มกราคม 2562 ส่วนเรือที่ได้รับผลกระทบจากการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (ระยะที่ 2) ได้แก่ เรือที่ได้รับผลกระทบจากพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติเรือไทย พ.ศ. 2481 และ พ.ศ. 2561 รวมถึงเรือที่ได้รับใบอนุญาตทำการประมง ให้แจ้งความประสงค์ได้จนถึงวันที่ 11 มกราคม 2562

นายกฤษฎา กล่าวว่า ระหว่างนี้มอบหมายคณะทำงานตรวจสอบประวัติและความถูกต้อง คุณสมบัติเรือประมง เจ้าของเรือให้ดำเนินการอย่างรอบคอบ ตามข้อห่วงใยของนายกรัฐมนตรีซึ่งต้องการให้ชาวประมงทุกกลุ่มได้รับความเป็นธรรม สำหรับข้อเรียกร้องของชาวประมงให้เร่งจ่ายค่าชดเชยแก่เรือกลุ่มที่สำรวจไปแล้ว 679 ลำ คณะทำงานฯ จะตรวจสอบสภาพเรือและตรวจว่า เรือยังมีอยู่จริงหรือไม่ ซึ่งจะจ่ายค่าชดเชยตามความเป็นจริงและเหมาะสม นอกจากนี้ยังพบว่า มีเรือซึ่งมีทะเบียนเรือจากกรมเจ้าท่า แต่ออกไปทำประมงนอกน่านน้ำไทย เรือที่มีทะเบียนเรือ แต่เจ้าของเรือให้ต่างชาตินำเรือไปทำประมง บางลำไม่มีทั้งทะเบียนเรือและใบอนุญาตทำประมง

นอกจากนี้มีเรือซึ่งมีทั้งทะเบียนและใบอนุญาต แต่ใช้เครื่องมือประมงผิดกฎหมาย ซึ่งจะต้องจำแนกประเภท รวบรวมจำนวนเรือ ประเมินมูลค่าเรือ และจัดลำดับการนำเรือออกนอกระบบตามความจำเป็นเร่งด่วน ซึ่งได้เร่งรัดให้สำรวจตรวจสอบให้เรียบร้อยภายในวันที่ 10 มกราคม 62

ทั้งนี้ เมื่อจำแนกประเภทเรือและจำนวนเรือแล้ว จะพิจารณาว่า จะจ่ายค่าชดเชยการนำเรือออกนอกระบบอย่างไร ด้วยวิธีการใด โดยคณะทำงานที่ประกอบด้วยผู้แทนจากหลายภาคส่วนจากนั้นจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติการชดเชยแก่กลุ่มที่เร่งด่วนที่สุดก่อน ส่วนลำดับถัดไปจะของบประมาณและขออนุมัติแนวทางดำเนินการไว้ เพื่อให้มีมาตรการที่ชัดเจนก่อนวันเลือกตั้ง ทันคณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบัน ส่วนเรือที่มีประวัตินำไปขนยาเสพติดหรือค้ามนุษย์จะไม่ได้รับการช่วยเหลือ อีกทั้งกำชับให้กรมประมงเข้มงวดตรวจสอบไม่ให้มีเรือสองสัญญาติมาเข้าร่วมโครงการดังนั้นชาวประมงจึงไม่ต้องกังวลว่า จะล่าช้า เนื่องจากคณะอนุกรรมการฯ เร่งดำเนินการอย่างเต็มที่และเป็นธรรมต่อแก่ชาวประมงทุกกลุ่ม

นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง กล่าวถึง กระแสข่าวที่มีการนำเสนอถึง “การบังคับให้เลือกสัญชาติว่าจะเป็นเรือประมงหาปลาน่านน้ำไทยหรือต่างประเทศ” นั้นเกิดขึ้นแน่อนเพราะถ้าประเทศไทยหรือประเทศใดก็ตามทราบว่า เรือลำใดดำเนินการเป็นลักษณะเรือสองสัญชาติ เรือลำนั้นต้องเป็น “เรือไร้สัญชาติ” และเป็น “เรือ IUU” คือ เรือที่ทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม ซึ่งดำเนินการตามกพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558

ทั้งนี้ “เรือสองสัญชาติ” เป็นตัวชี้วัดว่า “ประเทศเป็น IUU หรือไม่” เนื่องจากเป็นการบ่งบอกถึงความรับผิดชอบรัฐในการที่จะควบคุมเรือประมงที่ถือสัญชาติของตน โดยการเรียกร้องให้มีความรับผิดชอบทั้งทางตรงและทางอ้อม อาทิ ในกรณีที่เรือประมงเวียดนามรุกล้ำเข้ามาทำการประมงในน่านน้ำไทย กรมประมงได้ทำหนังสือแจ้งเวียดนามให้ดำเนินการควบคุมไม่ให้เรือประมงสัญชาติเวียดนามเข้ามาทำการประมงในน่านน้ำไทย หรือ กรณีที่ประเทศมาเลเชีย ลงข่าวใน INFOFISH Trade News เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2561 จากการที่เรือประมงต่างชาติที่ลักลอบเข้าไปทำการประมงในน่านน้ำมาเลเชีย ซึ่งทำให้มีการสูญเสียเงินถึง 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐ และสำหรับ “เรือประมงสัญชาติไทย” กรมประมงพยายามที่จะกำหนดมาตรการในการควบคุมเรือประมงให้น้อยที่สุด โดยควบคุมเฉพาะเรือประมงที่มีขนาดมากกว่า 30 ตันกรอส (ประมาณร้อยละ 14 ของเรือประมงสัญชาติไทยทั้งหมด) ที่ถูกควบคุมอย่างเข้มงวด เนื่องจากเป็นเรือที่มีขีดความสามารถออกไปทำการประมงได้ไกลฝั่ง

สำหรับ “มาตรการรัฐเจ้าของท่าเรือ” (The Agreement on Port State Measures : PSMA) ที่ไทยให้สัตยาบัน เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2559 กำหนดให้ “รัฐเจ้าของท่า” ต้องตรวจสอบเรือประมงต่างประเทศที่เข้ามาดำเนินการขนถ่ายสัตว์น้ำ หรือดำเนินกิจกรรมอื่นใด ในเขตน่านน้ำของตน เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าเรือประมงหรือเรือขนถ่ายสัตว์น้ำดังกล่าวมีความถูกต้องและไม่นำสัตว์น้ำที่ทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเข้ามาในราชอาณาจักร ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีเรือประมงหรือเรือขนถ่ายสัตว์น้ำต่างประเทศเข้ามาเทียบท่าประมาณ 10,000 ลำต่อปี โดยเป็นเรือสัญชาติพม่า กัมพูชา เกาหลี ไต้หวัน ญี่ปุ่น ปานามา รวมทั้ง มาเลเชีย ด้วย ซึ่งในการเข้าเทียบท่าจะมีการตรวจสอบความถูกต้องกับ “รัฐเจ้าของธง” โดยเฉพาะกรณีมาเลเชีย ทางการมาเลเชียขอให้ประเทศไทยช่วยตรวจสอบกรณี “เรือประมงสัญชาติมาเลเชีย” ที่เข้าเทียบท่าในรัฐต่างประเทศต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมประมงของมาเลยเชียก่อน

จากการดำเนินการในช่วง 3 ปี ที่ผ่านมารัฐบาลพยายามอย่างยิ่งในการกอบกู้ “ภาพลักษณ์ของประเทศไทย”ในฐานะ“รัฐที่มีความรับผิดชอบ” และให้ความร่วมมือระหว่าง “รัฐ” โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านและนานาประเทศ ทั้งนี้จากการที่กฎกติกาสากลหรือกฎระเบียบภายในของแต่ละประเทศที่เปลี่ยนแปลงตลอด ชาวประมงที่มีข้อสงสัยสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์ประสานงานนำเรือออกนอกระบบ กรมประมงหมายเลขโทรศัพท์0-2561-0543 และสำนักงานประมงจังหวัดชายทะเลทุกจังหวัด