กก.เอกลักษณ์ฯมีมติให้ 'ปลากัดเป็นสัตว์น้ำประจำชาติไทย'

กก.เอกลักษณ์ฯมีมติให้ 'ปลากัดเป็นสัตว์น้ำประจำชาติไทย'

กก.เอกลักษณ์ฯมีมติให้ "ปลากัดเป็นสัตว์น้ำประจำชาติไทย" จ่อชง ครม. เห็นชอบ

เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.61 ที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ ครั้งที่ 2/2561 ซึ่งมีวาระการพิจารณาการให้ปลากัดไทยเป็นสัตว์น้ำประจำชาติ ตามข้อเสนอของกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

โดยนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองประธานคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ เปิดเผยหลังการประชุมว่า กรมประมงเคยเสนอเรื่องนี้ต่อคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติมาแล้วครั้งหนึ่ง แต่ในการประชุมวันนี้ (20 ธ.ค.) นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง และคณะนักวิชาการ ร่วมกันนำข้อมูลเรื่องของปลากัดไทย ทั้งประวัติความเป็นมาและมิติต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง มาชี้แจงต่อคณะกรรมการฯ ได้รับทราบอย่างครบถ้วนรอบด้าน ซึ่งที่ประชุมมองเรื่องดังกล่าวใน 3 มิติ คือ 1.มิติด้านวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ความเป็นมา ความเกี่ยวเนื่องกับวัฒนธรรมของไทย ซึ่งมีหลักฐานยืนยันว่าเรื่องปลากัดไทยปรากฏในบทประพันธ์และวรรณคดีไทย รวมถึงประวัติศาสตร์ไทยมานานร้อยกว่าปี 2.มิติด้านความเป็นเจ้าของ โดยมีชื่อที่บ่งบอกและเป็นชื่อที่ได้รับการยอมรับด้านวิชาการและในวงการวิชาการด้านสัตว์น้ำ คือ Siamese Fighting Fish ซึ่งเป็นชื่อที่ถูกพบในประวัติศาสตร์มานานแล้ว อีกทั้งมีข้อมูลระบุด้วยว่าแหล่งที่พบปลาดังกล่าวอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยา ในบางกอก

นายสุวพันธุ์ กล่าวว่า 3.มิติด้านประโยชน์ที่จะรับหากประกาศให้ปลากัดไทยเป็นสัตว์น้ำประจำชาติ มีทั้งการรักษาพันธุ์ การพัฒนาพันธุ์ปลากัดไทยให้ดียิ่งขึ้น การส่งเสริมการเลี้ยงปลากัด รวมถึงประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ในอนาคต ดังนั้น คณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติจึงมีมติเห็นสมควรสนับสนุนให้ปลากัดไทยเป็นสัตว์น้ำประจำชาติ โดยให้กรมประมงนำเรื่องนี้เสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป ส่วนจะเสนอเข้าที่ประชุมครม.ในสัปดาห์หน้าได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการดำเนินการของกรมประมง

ทั้งนี้ ภาคเอกชนผู้เลี้ยงปลากัดได้พบกับคณะกรรมการฯ หลังจากรับทราบมติดังกล่าว ซึ่งเขารู้สึกดีใจที่คณะกรรมการฯสนับสนุนเรื่องนี้ที่จะช่วยส่งเสริมการเลี้ยงปลากัดไทยที่ปัจจุบันมีทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด โดยแหล่งเพาะพันธุ์ปลากัดไทยแหล่งใหญ่ที่สุดอยู่ในจ.นครปฐม ขณะที่การพัฒนาพันธุ์ปลากัดไทยโดยภาคเอกชนเป็นไปได้ด้วยดี และเขานำปลากัดไทยไปประกวดในต่างประเทศ รวมถึงจะยิ่งสามารถนำไปจำหน่ายได้ในราคาสูง