สวทน.-จุฬาฯดันศก.บีซีจี ปูทางสู่ฮับไบโอรีไฟเนอรี

สวทน.-จุฬาฯดันศก.บีซีจี ปูทางสู่ฮับไบโอรีไฟเนอรี

สวทน.จับมือ จุฬาฯ ขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจบีซีจี ระบุอนาคตอีก 5 ปีจะสร้างมูลค่ากว่า 4.3 ล้านล้านบาท ส่งผลให้เกิดไบโอคอมเพล็กซ์ในพื้นที่อีอีซี ขอนแก่นและนครสวรรค์ ดันไทยสู่ฮับเอเชียด้านไบโอรีไฟเนอรี

นางสาวกาญจนา วานิชกร รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) เปิดเผยว่า สวทน. ร่วมกับวิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดสัมมนาพิเศษรับฟังความคิดเห็นจากทั้งภาครัฐและเอกชนต่อนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมไบโอรีไฟเนอรีของไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่ประชาคมนักวิจัยได้ยื่นสมุดปกขาวต่อนายกรัฐมนตรีเมื่อเดือนที่ผ่านมา

BCG Economy ประกอบด้วย เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว จะเป็นฐานเศรษฐกิจหลักของประเทศที่สร้างมูลค่ากว่า 4.3 ล้านล้านบาท (25% ของจีดีพี) ใน 5 ปีข้างหน้า ซึ่ง 1 ใน 4 กลุ่มเป้าหมายที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG คือ เป้าหมายด้านพลังงาน เคมีและวัสดุชีวภาพ ที่ประเทศไทยได้ตั้งเป้าว่าจะมุ่งสู่การเป็น ไบโอรีไฟเนอรี ฮับ ของเอเชีย
จึงต้องเตรียมความพร้อมในการฝึกอบรมช่างเทคนิคและวิศวกรด้านไบโอรีไฟเนอรี เพื่อรองรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศ พร้อมมีการลงทุนในโรงงานต้นแบบ และส่งเสริมการวิจัยคอมปาวด์และการขึ้นรูปพลาสติกชีวภาพ

ทั้งนี้ โอกาสของอุตสาหกรรมไบโอรีไฟเนอรีของไทยเริ่มเห็นภาพชัดมากยิ่งขึ้น จากการที่ภาครัฐให้การสนับสนุนมาตรการต่างๆ อาทิ แผนจัดการขยะพลาสติก ปี 2560-2564 มาตรการลดหย่อนภาษีสำหรับผู้ประกอบการที่ซื้อบรรจุภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ ตลอดจนมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพครบวงจร ที่จะก่อให้เกิดไบโอคอมเพล็กซ์ในพื้นที่อีอีซี ขอนแก่น และนครสวรรค์

ถือเป็นโอกาสในการพัฒนาศักยภาพทางเทคโนโลยีของไทยให้ทัดเทียมระดับโลก และก้าวสู่ไบโอรีไฟเนอรี ฮับ ของเอเชีย ตามเป้าหมายที่วางไว้ อาทิ การสร้างแผนที่นำทางหรือแพลตฟอร์มวิจัยร่วมระหว่างนักวิจัยต่างสาขา มุ่งเน้นการวิจัยเพื่อเป็นผู้นำในอนาคต หรือการวิจัยเพื่อหาชีวเคมีและอื่นๆ ที่มีศักยภาพ ตลอดจนแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานด้านกระบวนการชีวภาพ เป็นต้น