ปตท.ทุ่ม3พันล้านลุยอีอีซีไอ

ปตท.ทุ่ม3พันล้านลุยอีอีซีไอ

"ปตท." ชงบอร์ด 21 ธ.ค.นี้ เคาะงบ 3 พันล้านบาท ลงทุนอีอีซีไอ เตรียมโรดโชว์ต่างประเทศ ดึงบริษัทเทคโนโลยีทั่วโลกลงทุนตั้งศูนย์วิจัย พัฒนาในไทย ยกระดับไทยไปสู่ผู้ผลิตเทคโนโลยี ตั้งเป้า“วิสเทค” ติด 1 ใน 50 มหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บรรยายหัวข้อ “EECi by ปตท. For Thailand 4.0” จัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ว่า โครงการเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซีไอ) ว่า ในปัจจุบันไทยซื้อเทคโนโลยีจากต่างประเทศเป็นหลัก ไม่สามารถสร้างเทคโนโลยีได้เอง โดยเฉพาะ ปตท.ซื้อเทคโนโลยีจากทั่วโลกทั้งสหรัฐ ยุโรป จีน และญี่ปุ่น ทำให้เสียเงินในส่วนนี้เป็นจำนวนมาก และยังเป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาประเทศในอนาคต โดยสาเหตุหลักมาจากการที่ไทยมีนักวิทยาศาสตร์น้อยเมื่อเทียบกับญี่ปุ่น ซึ่งไทยมีน้อยกว่า 10 เท่าตัวรวมทั้งยังขาดเครื่องมือที่ทันสมัย และขาดการสนับสนุนจากนโยบายภาครัฐ และการผลิตเทคโนโลยีของตัวเองต้องใช้เวลานาน

ทั้งนี้ รัฐบาลปัจจุบันได้ผลักดันอีอีซีไอ โดยมีเป้าหมายการผลิตเทคโนโลยีและนวัตกรรมได้เองภายในประเทศ ดังนั้น ปตท. จึงเข้ามาสนับสนุนอย่างเต็มที่ โดยนำพื้นที่ 3,500 ไร่ วังจันทร์วัลเลย์ จ.ระยอง มาพัฒนา ซึ่งในเฟสแรกจะจะพัฒนาพื้นที่ 400 ไร่ จัดสรรให้เป็นพื้นที่ให้เอกชนเข้ามาลงทุนตั้งศูนย์วิจัยพัฒนาในด้านต่างๆ ใช้เวลาก่อสร้างสาธารณูปโภคต่างๆ 2-3 ปี หรือจะเปิดดำเนินการได้ในปี 2564 ใช้เงินลงทุน 3 พันล้านบาท โดยจะเสนอคณะกรรมการ ปตท.พิจารณาวันที่ 21 ธ.ค.นี้ ส่วนสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จะเข้ามาลงทุนอาคารต่างๆ

ดึงต่างชาติลงทุนศูนย์วิจัย

นอกจากนี้ จะดึงบริษัทผลิตเทคโนโลยีชั้นนำต่างชาติให้เข้ามาลงทุนตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาในพื้นที่นี้ โดยในช่วงไตรมาส 1 ถึงไตรมาส 2 ซึ่งจะดูสถานการณ์ทางการเมืองหลังการเลือกตั้งก่อน จะเชิญบริษัทเหล่านี้ประมาณ 10-20 บริษัท และผู้ที่เกี่ยวข้องด้านเทคโนโลยี จากประเทศสหรัฐ กลุ่มประเทศยุโรป ญี่ปุ่น จีน และเกาหลีใต้ มาร่วมดินเนอร์ทอร์ค ที่อีอีซีไอ เพื่อให้นักลงทุนได้สัมผัสถึงพื้นที่จริง รวมทั้งมีแผนโรดโชว์ต่างประเทศในช่วงปี 2561-2568

“อีอีซีไอ ได้วางแผนโรดโชว์ระยะยาวถึง 7 ปี เนื่องจากการดึงดูดบริษัทที่มีเทคโนโลยีชั้นสูงให้เข้ามาลงทุนตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนา เป็นเรื่องที่ยากที่สุด นักลงทุนจะต้องศึกษาเรื่องการออกสิทธิบัตร การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา และระเบียบการแข่งขันต่างๆ รวมทั้งบรรยากาศ และสิ่งแวดล้อมในการสร้างสรรค์นวัตกรรม โดยในระยะแรกจะออกไปดึงบริษัทที่ ปตท. เคยดำเนินธุรกิจร่วมกันด้านเทคโนโลยีก่อน”

2_23

โดยจุดได้เปรียบของ อีอีซีไอ คือ อยู่ใกล้นิคมอุตสาหกรรมหลายแห่ง ใกล้สถาบันการศึกษา ใกล้รถไฟความเร็วสูง และใน อีอีซีไอ จะมีศูนย์นวัตกรรมที่หลากหลาย ซึ่งเหมาะทั้งโรงงานขนาดใหญ่และเล็กจะเข้ามาตั้งศูนย์วิจัยพัฒนาใน อีอีซีไอ เพราะจะประหยัดต้นทุนการทดลองวิจัยมากที่สุด เนื่องจากมีห้องแล็ปเครื่องมือทดสอบที่ทันสมัยให้บริการ เช่น เครื่องยิงอนุภาคเพื่อทดสอบโครงสร้างทางเคมี เครื่องวิเคราะห์ระดับนาโน เป็นต้น รวมทั้งมีผู้เชี่ยวชาญในการใช้เครื่องมือต่างๆ เหล่านี้

“ในอีอีซีไอ จะเป็นพื้นที่ตั้งของศูนย์วิจัยพัฒนา โดยจะไม่มีโรงงานอุตสาหกรรม จึงไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่ง อีอีซีไอ จะเป็นแหล่งในการสร้างเทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่ๆ ให้กับประเทศ เพื่อต่อยอดไปยังอุตสาหกรรมชั้นสูงต่างๆ ในอนาคต และจะช่วยลดการขาดดุลในการนำเข้าเทคโนโลยี ซึ่งจะเป็นเครื่องจักรสำคัญในการยกระดับอุตสาหกรรมไทยไปสู่ระดับโลก”

ดันวิสเทคท็อป10อาเซียน

นายชาญศิลป์ กล่าวว่า ในพื้นที่ อีอีซีไอ นี้ ปตท. ยังได้ตั้งสถาบันวิทยสิริเมธี หรือวิสเทค เพื่อผลิตบุคลากรด้านเทคโนโลยีป้อนให้กับอุตสาหกรรมชั้นสูงใน อีอีซี โดยมีอยู่ 4 สาขา ได้แก่ สาขาวิชาวัสดุศาสตร์ และวิศวกรรมวัสดุ สาขาวิชาวิศวกรรมเคมี สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมชีวโมเลกุล และสาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยมีบริษัทพันธมิตรเข้ามาร่วมลงทุนด้วย เช่น ธนาคารกสิกรไทย ลงทุนในสาขาวิชาชีวโมเลกุล ธนาคารไทยพาณิชย์ลงทุนด้านสาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ บางจากลงทุนอาคารเรียนรวม เป็นต้น

โดยวิสเทค ตั้งเป้าในปี 2563 จะเป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำในไทย ปี 2568 จะเป็นมหาวิทยาลัยด้านเทคโนโลยีติดอันดับ1 ใน 10 ของอาเซียน และในปี 2578 จะต้อง 1 ใน 50 อันดับมหาวิทยาลัยที่มีการวิจัยชั้นนำของโลก ซึ่งเป้าหมายดังกล่าวมีความเป็นไปได้สูง เพราะในปัจจุบันก็ก้าวขึ้นมาเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของไทยแล้ว โดยล่าสุดอยู่ในอันดับ 12 ของมหาวิทยาลัยด้านวิศวกรรมเคมีของโลก

“วิสเทค ไม่เพียงแต่จะวิจัยเทคโนโลยีขั้นสูง แต่ยังวิจัยเทคโนโลยีเพื่อยกระดับการพัฒนาพื้นฐานของประเทศ โดยล่าสุดได้วิจัยเอ็มไซน์ในการนำไปผลิตปุ๋ยออแกนิกส์ ที่สามารถย่นระยะเวลาการผลิตปุ๋ยได้เร็วมาก และมีความปลอดภัยสูง ซึ่งอยู่ระหว่างการทำสอบและจะนำสู่เกษตรกรในเร็วๆ นี้ รวมทั้งยังได้วิจัยด้านแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า ขณะนี้อยู่ระหว่างการทดสอบ เป็นต้น”

ชี้ราคาน้ำมันปีหน้าผันผวน

สำหรับ แนวโน้มราคาน้ำมันในปีหน้า ปตท.ยังมองว่ามีความผันผวนอยู่ เนื่องจากเหตุผลสำคัญที่ส่งผลต่อราคาน้ำมันคือ ภูมิรัฐศาสตร์ในการผลิต ประกอบกับคาดว่ายังมีกองทุนสำหรับเก็งกำไรต่างๆ (เฮดจ์ฟันด์) ที่จะเก็งกำไรในตลาดน้ำมันอยู่ ทำให้ราคาเฉลี่ยขณะนี้อยู่ที่ 50-65 ดอลลาร์ ส่วนกรณีที่บริษัท ปตท.สผ.ชนะการประมูลสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในแหล่งเอราวัณและบงกชนั้น เชื่อว่าอนาคตต้นทุนการผลิตไฟฟ้า และอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติจะมีราคาถูกลง

ส่วนร่างแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (พีดีพี) ฉบับใหม่ที่ระบุว่าจะมีการใช้ก๊าซในการผลิตไฟฟ้ามากขึ้นนั้นสอดคล้องกับทิศทางของโลก และก๊าซเป็นเชื้อเพลิงที่ค่อนข้างเสถียร โดยปัจจุบันรัฐมีการลงทุนคลังเก็บก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลอ็นจี) รองรับความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นในอนาคต ส่วนพลังงานทดแทนนั้นยังต้องพัฒนาเทคโนโลยีในการกักเก็บพลังงานให้สอดรับกับอนาคต ซึ่งขณะนี้ยังไม่เพียงพอ