เจาะ 'พฤติกรรมผู้บริโภค' ออนไลน์ เผยทริคครองใจนักช้อปปี 2562

เจาะ 'พฤติกรรมผู้บริโภค' ออนไลน์ เผยทริคครองใจนักช้อปปี 2562

มาแรงแซงทุกโค้ง ต้องยกให้กระแสการช้อปปิ้งออนไลน์ ที่มีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัดด้วยเทคโนโลยีที่ทำให้เข้าถึง Social Media ได้อย่างรวดเร็ว

รวมถึงธุรกิจ E-Commerce ที่คอยสนับสนุนเหล่านักช้อปออนไลน์ให้ทั้งผู้ค้าและผู้ซื้อลิงค์กันง่ายขึ้น การจับจ่ายใช้สอยก็พลอยสะดวกแค่คลิกนิ้ว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น จะทำอย่างไรให้ธุรกิจในแต่ละแพลตฟอร์ม ยังคงเข้าถึงและครองใจนักช้อปออนไลน์ได้อย่างลื่นไหลและไม่มีสะดุด

บริษัท ไพรซ์ซ่า จำกัด ผู้ให้บริการเว็บไซต์และแอพพลิเคชั่น "Priceza" เครื่องมือค้นหาสินค้าและเปรียบเทียบราคา (Shopping Search Engine) อันดับหนึ่งของประเทศ จึงได้จัดงาน Priceza E-Commerce Trends : The Infinity of E-Commerce Wars 2019” โดยมีหัวข้อสัมมนาที่ช่วยพาเจาะลึกพฤติกรรมนักช้อปออนไลน์กันในงาน

4_28

ธนาวัฒน์ มาลาบุปผา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ไพร์ซซ่า จำกัด เปิดเผยถึงพฤติกรรมผู้บริโภคว่า พฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบันใช้เวลาอยู่กับแพลตฟอร์มต่างๆ เยอะมาก ทั้งเพื่อเอ็นเตอร์เทนเมนต์ เพื่อการติดต่อสื่อสาร เพื่อโอนเงินทำธุรกรรมต่างๆ ไปจนถึงการซื้อ-ขายสินค้า โดยการช้อปปิ้งออนไลน์หรือซื้อสินค้าผ่านอีคอมเมิร์ซนั้น ถือเป็นหนึ่งในกิจกรรมยอดฮิตบนโลกออนไลน์ของผู้บริโภค สะท้อนถึงว่าถนนทุกสายจะมุ่งสู่การค้าออนไลน์

ทั้งนี้ แม้ถนนทุกสายจะมุ่งสู่การค้าออนไลน์ แต่ก็ไม่ใช่ผู้ประกอบการทุกรายที่จะสามารถขายสินค้าได้ ผู้ประกอบการจำเป็นต้องทราบว่า ผู้บริโภคอยู่ที่ไหน มีพฤติกรรมอย่างไร ผู้ประกอบการจึงจะมีโอกาสขายสินค้าได้

“จากพฤติกรรมของคนไทยที่เข้ามาค้นหาสินค้าเปรียบเทียบราคาบนแพลตฟอร์มของไพรซ์ซ่า พบว่า วันที่พีคคือวันจันทร์ และจำนวนจะค่อยๆ ลดลงในวันถัดไป ส่วนวันเสาร์-อาทิตย์ จะน้อยที่สุด นั่นอาจหมายถึงว่า คนไทยนิยมช้อปปิ้งในวันทำงาน ร้านค้าจำเป็นต้องเท่าทันพฤติกรรมเหล่านี้” ธนาวัฒน์ ระบุ

2_61

ด้าน สุพัชเชษฐ์ เภาวะนิต Vice President, Seller Operations ลาซาด้า ประเทศไทย เปิดเผยว่า จากข้อมูลของ ETDA เอง ปี 2561 นี้ เป็นปีแรกที่การซื้อสินค้าหรือบริการผ่านออนไลน์ ติด “ท็อปไฟว์” กิจกรรมบนโลกออนไลน์ของผู้บริโภคในประเทศไทย นอกเหนือจากนั้นจะมีกิจกรรมอย่างอื่นที่เพิ่มหลากหลายขึ้นมา เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนๆ อาทิเช่น การสั่งอาหารเพื่อส่งอาหาร การจองโรงแรมจองตั๋วต่างๆ การหาเพื่อน หาคู่ พฤติกรรมเหล่านี้ จะเป็นข้อบ่งชี้ว่าสังคมไทย เริ่มขับเคลื่อนสู่สังคมดิจิทัลอย่างแท้จริง ซึ่งทำให้สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาหลังจากนี้ น่าจะเป็นสิ่งที่คนที่ทำธุรกิจ E-Commerce ต้องจับตามองว่าจะนำไปสู่ทิศทางไหน

“ลาซาด้าเองมีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ เพื่อตอบสนองพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ด้วยการทำ Personalization มากขึ้น ถ้าเปิดแอปของลาซาด้า ทุกคนจะเห็นของที่ไม่เหมือนกันเลย เราจะไป Track ในพฤติกรรมการเสิร์ช พฤติกรรมในการคลิก คลิกอะไรบ่อยขนาดไหน สินค้าที่ตัดสินใจซื้อ ซื้อบ่อยขนาดไหน สินค้าที่เขาต้องการเห็น คืออะไรบ้าง วิธีการเอาสินค้าขึ้นมาโชว์ เราจะไม่โชว์อะไรที่ไม่เกี่ยวพันกับพฤติกรรมผู้บริโภค หลังจากนั้น เขาซื้อแล้ว ในช่วงเวลาเท่าไหร่ มีความเป็นไปได้ที่เขาจะซื้อสินค้าตัวอื่นที่มันสอดคล้องกับที่เขาเคยซื้อหรือไม่ เป็นการมองก้าวกระโดดได้อีก ยกตัวอย่างเช่น แม่และเด็กอ่อน ถ้าซื้อผ้าอ้อม สำหรับไซส์ S แล้ว ปริมาณขนาดนี้ใน 3-6 เดือนขึ้นไป สิ่งที่เขาต้องการซื้อต่อไปจะเป็นอะไร อาจจะเป็นนมผง อาหารเสริม ผ้าอ้อม ฯลฯ ซึ่งตรงนี้จะเป็นตัวที่ทำให้ ลาซาด้า สามารถตอบสนองผู้บริโภคทุกวัยได้”

3_45

ทั้งนี้ ศุภนีวรรณ จูตระกูล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจลูกค้าบุคคลและเครือข่ายบริการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ค่าเฉลี่ยของคนปัจจุบัน มีแอปอยู่บนมือถือคนละประมาณ 32 แอปจากจำนวนแอปเป็นล้านๆ แอป ในจำนวนนั้นมีแอปที่ใช้ทุกวันเฉลี่ยเพียงประมาณ 8 แอป ทุกอุตสาหกรรมทุกหมู่เหล่าพยายามแย่งชิงกันอยู่ใน 8 แอปนี้ สิ่งสำคัญในการพัฒนาแอปคือ แทนที่จะปล่อยให้เขาออกไปเข้าแอปนั้นที แอปนี้ที พอโอนเสร็จแล้ว ก็เอาสลิปมาแปะ ต้องทำให้มันง่ายขึ้นกว่านั้น เพื่อให้การซื้อ-ขายไหลลื่นมากกว่า เพราะทุกทริกเกอร์ของการเปลี่ยนหน้า ผู้ใช้สามารถหยุดได้ตลอดเวลา

จากข้อมูลยังพบว่า คนมักโอนเงินสำหรับการช้อปปิ้งในวันธรรมดามากกว่าเสาร์-อาทิตย์ และมักอยู่ในช่วงเวลา 13.00-14.00 น. หมายถึง คนนิยมช้อปปิ้งในวันธรรมดา เวลาทำงาน อาจเพื่อคลายเครียดระหว่างวัน

สำหรับเทรนด์การจ่ายเงินซื้อสินค้าออนไลน์ของคนไทย ทั้งเงินโอนและบัตรเครดิตยังคงได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ แต่คนยังคงนิยมการโอนมากกว่าจากหลากหลายสาเหตุ