จุฬาฯใช้ Zero-Waste Cup 3 เดือน ลดแก้วพลาสติก5.7ตัน

จุฬาฯใช้ Zero-Waste Cup 3 เดือน ลดแก้วพลาสติก5.7ตัน

จุฬาฯ ปลื้ม "Chula Zero Wast " ประสบความสำเร็จ 3 เดือนลดปริมาณการใช้แก้วพลาสติกเกือบ 4 แสนใบ 5.7 ตัน มีการใช้แก้วกระดาษ Zero-Waste Cup ย่อยสลายได้ ใน 11 โรงอาหาร เพิ่มขึ้น 95% เตรียมเดินหน้าเฟส 3 ขยายผลสู่ทุกพื้นที่จุฬาฯ

เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.61 ศ.ดร.ปราโมช รังสรรค์วิจิตร ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ (PETROMAT) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมด้วยนายวรุณ วารัญญานนท์ ที่ปรึกษาเพื่อภาคีอุตสาหกรรม ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ จุฬาฯ แถลงข่าวความคืบหน้าการดำเนินการโครงการ “Chula Zero Wast” ปีที่ 3 เพื่อการลดปริมาณการเกิดขยะ การคัดแยกขยะ และการสร้างจิตสำนึกและวินัยให้กับนิสิตและบุคลากร โดยจะเป็นโครงการต้นแบบของสถาบันการศึกษาแห่งแรกของไทยในการบริหารจัดขยะแบบครบวงจร

ศ.ดร.ปราโมช กล่าวว่า จุฬาฯ มีนโยบายมหาวิทยาลัยยั่งยืนแห่งประเทศไทย จึงได้ดำเนินโครงการดังกล่าว ร่วมกับทาง บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ในการนำ พลาสติกชีวภาพ นวัตกรรมใหม่ หรือ BioPBS คือการนำแก้ว Zero-Waste Cup ที่มีคุณสมบัติในการย่อยสลายได้ 100% มาใช้ในโรงอาหารจุฬาฯ จำนวน 11 แห่ง ตั้งแต่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งพบว่า โครงการดังกล่าวประสบความสำเร็จอย่างมาก ทั้งในแง่ของการลดขยะ ถุงพลาสติก 2 ล้าน กว่าใบ และขณะนี้สามารถลดแก้วพลาสติก ได้เดือนละ 1.6 แสนใบ โดยใช้กลไกทางเศรษฐศาสตร์ อาทิ งดแจกถุงพลาสติกใช้มาตรการทางเศรษฐศาสตร์ อย่างการเก็บเงินค่าถุงพลาสติก คือให้ร้านสะดวกซื้อในจุฬาฯ งดแจกถุงฟรี เปลี่ยนเป็นเก็บเงิน 2 บาทถ้าใครต้องการถุงใหม่ ก็จะเกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมในทันใดเพราะไม่มีใครอยากจ่ายเงินค่าถุงพลาสติก เป็นต้น นอกจากนั้น ใช้กลไกทางเทคโนโลยี มีการผลิตแก้วกระดาษ Zero-Waste Cup ที่สามารถย่อยได้ 100 % ทำให้ปริมาณการใช้แก้วพลาสติกลดลงไป 95% รวมถึงมีการรณรงค์ สร้างความตระหนักรู้ถึงการคัด แยก กระบวนการจัดเก็บขยะ และการใช้ถุงพลาสติก แก้วพลาสติก ทั้งนิสิต คณาจารย์บุคลากรของจุฬาฯ และประชาชนภายนอก ชุมชนต่างๆ อีกทั้งมีมูลนิธิต่างๆ และดารานักแสดงได้เข้ามาช่วยสนับสนุน ส่งเสริมโครงการดังกล่าว ทำให้ขณะนี้การลดใช้พลาสติก ได้รับความสนใจและเกิดการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน

S__6365335

นายวรุณ กล่าวว่าจุฬาฯ ได้ให้ความสำคัญในการลดปริมาณขยะ และการใช้พลาสติกอย่างจริงจังโดยในวันที่ 26 มี.ค. 2562 นี้ วันสถาปนามหาวิทยาลัย จะประกาศเป็นมหาวิทยาลัยที่ทุกพื้นที่ของมหาวิทยาลัยจะมีการลดใช้แก้วพลาสติกผ่าน 2 กิจกรรมหลัก คือ การใช้แก้วล้างได้ กับใช้แก้วกระดาษ Zero-Waste Cup ย่อยสลายได้ 100% ซึ่งจะขยายผลไปยังพื้นที่การศึกษาของจุฬาฯ อาทิ ศูนย์หนังสือจุฬาฯ สหกรณ์จุฬาฯ ร้านสะดวกซื้อ 7-11 ในจุฬาฯ ทุกโรงอาหารของจุฬาฯ เป็นต้น เพราะจากการสำรวจปริมาณการใช้แก้วพลาสติกตามโครงการ Chula Zero Wast ที่มีการเริ่มรณรงค์ให้ใช้แก้วกระดาษย่อยสลายได้ แทนแก้วพลาสติกตั้งแต่เดือนส.ค.-ต.ค.นั้น พบว่า ทำให้ลดปริมาณขยะแก้วพลาสติกได้ 382,500 ใบ หรือ 5.7 ตัน ซึ่งถ้ามีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เชื่อว่าจะช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกได้มากกว่านี้ และจะช่วยเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมได้อย่างแน่นอน

“จากการรณรงค์ให้นิสิต บุคลากรและประชาชนทั้งภายในและภายนอก จุฬาฯ ลดปริมาณการใช้พลาสติก ไม่ว่าจะเป็น ถุงพลาสติก หรือแก้วพลาสติก รวมถึงในการจัดกิจกรรมต่างๆ ก็มีการนำแก้วกระดาษไปใช้ อย่าง งานรับปริญญา งานรับน้อง หรืองานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ –ธรรมศาสตร์ ที่จะเกิดขึ้นในเดือนก.พ. 62 ก็จะมีการออกแบบลายแก้วใหม่ให้เข้ากับตรีมของกิจกรรม รณรงค์แยกขยะ การรับขยะเพื่อมาทำปุ๋ยหมัก และการไปให้ความรู้กับหน่วยงานทั้งภายในและภายนอกจุฬาฯ ขณะนี้ได้รับการตอบรับที่ดีจากนิสิต บุคลากรของจุฬาฯ และบุคลากรในหน่วยงานอื่นๆ มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยราชภัฎนครพนม และมูลนิธิต่างๆ เห็นความสำคัญของการลดปริมาณขยะ การใช้พลาสติกและสนใจการใช้แก้วกระดาษ Zero-Waste Cup มากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น โครงการดังกล่าว ถือเป็นอีกหนึ่งโครงการที่จะช่วยลดปริมาณขยะที่มีระบบอย่างครบวงจร และสามารถทำได้จริง”นายวรุณ กล่าว

S__6365336

อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้โครงการดังกล่าว จะมีกิจกรรมรณรงค์ขยายไปยังมหาวิทยาลัย องค์กร หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนมากขึ้น รวมถึงมีแผนการดำเนินการในการผลิตหลอดที่สามารถย่อยสลายได้แทนหลอดพลาสติกต่อไป

นายวรุณ กล่าวต่อไปว่า อยากให้ทุกคนหันมาให้ความสำคัญลดการใช้ถุงพลาสติก แก้วพลาสติก มากขึ้น เพราะขยะเหล่านี้ใช้เวลานานในการย่อยสลายและมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมาก อีกทั้ง อยากฝากไปยังผู้บริโภคให้งดใช้ถุงพลาสติกที่บอกว่าย่อยสลายได้ อย่าง ถุงพลาสติกชนิด OXO นั้น ที่ใช้อยู่ในประเทศไทยขณะนี้ ไม่ใช่ถุงที่สามารถย่อยสลายได้อย่างแท้จริง เพราะถุงดังกล่าวในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เป็นต้น ได้มีประกาศไม่ให้ใช้ถุงพลาสติกดังกล่าว และจากรายงานของสหภาพยุโรปเรื่องถุงพลาสติก ชนิด OXO ระบุว่า ถุงพลาสติกดังกล่าวที่ผู้ผลิตในประเทศอ้างว่าสามารถย่อยสลายได้ในระยะเวลา 2-5 ปีภายใต้สภาวะธรรมชาตินั้น ข้อเท็จจริง ไม่ย่อยสลายแต่เป็นการแตกตัวเป็นชิ้นเล็กๆ จนกลายเป็นไมโครพลาสติก ซึ่งเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและมนุษย์อย่างมาก ดังนั้น ถุง OXO จึงไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เนื่องจากสร้างปัญหาไมโครพลาสติกที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้และไม่เหมาะกับการใช้ซ้ำ