กนช.ไฟเขียวโยก2โครงการบริหารจัดการน้ำขนาดใหญ่

กนช.ไฟเขียวโยก2โครงการบริหารจัดการน้ำขนาดใหญ่

กนช.ไฟเขียวโยก2 โครงการบริหารจัดการน้ำขนาดใหญ่ 2 โครงการ วงเงินลงทุนรวม 1.29 หมื่นล้าน ให้เริ่มดำเนินการในปี 62 เตรียมเสนอ ครม.อนุมัติทั้ง นายกฯสั่งสำนักงบฯ สศช. คลัง จัดลำดับความสำคัญการลงทุนโครงการน้ำหลังความต้องการใช้งบฯพุ่ง 1.03 แสนล้านในปี 63

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการบริหารจัดการทรัพยากรนํ้าแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเมื่อวันที่ 19 ธ.ค.ที่ผ่านมาว่าที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้เลื่อนโครงการลงทุนเกี่ยวกับทรัพยากรน้ำขนาดใหญ่จำนวน 2 โครงการวงเงินรวม 12,975 ล้านบาท ให้มาเริ่มดำเนินการในปีงบประมาณ 2562 เนื่องจากเป็นโครงการเร่งด่วนและมีความสำคัญโดยจะมีการนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติโครงการและงบประมาณตามขั้นตอนต่อไป

โดยทั้งสองโครงการที่มีการอนุมัติประกอบไปด้วย 1.โครงการอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองเปรมประชากร กรุงเทพฯ วงเงิน 9800 ล้านบาท ซึ่งเมื่อโครงการแล้วเสร็จจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพระบบระบายน้ำในเขตดอนเมือง หลักสี่ สายไหม และบางเขน ครอบคลุมพื้นที่ 109 ตารางกิโลเมตร ซึ่งโครงการมีกำหนดการก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2569

2. โครงการปรับปรุงคลองยม-น่าน จ.สุโขทัย เพื่อบรรเทาอุทกภัย และเป็นแหล่งเก็บกักน้ำต้นทุน พร้อมทั้งส่งน้ำอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศ วงเงิน 2,875 ล้านบาท เมื่อโครงการแล้วเสร็จจะสามารถบรรเทาปัญหาอุทกภัยในตัวเมืองสุโขทัยในฤดูฝน ตลอดจนเก็บกักน้ำในคลองไว้ใช้ประโยชน์บริเวณ 2 ฝั่งคลองตลอดสายในระหว่างฝนทิ้งช่วงฤดูแล้ง ครอบคลุมพื้นที่รับประโยชน์ 7,300 ไร่ โดยโครงการนี้มีกำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2567

ที่ประชุมฯได้หารือถึงโครงการขนาดใหญ่-โครงการสำคัญในการบริหารจัดการน้ำ ที่ต้องเร่งดำเนินการปี ‭2562 – 2565‬ พบว่ายังไม่สามารถขับเคลื่อนโครงการได้ทั้งหมดตามที่ระบุในแผนแม่บทฯ น้ำภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ เนื่องจากมีข้อจำกัดด้านงบประมาณ เช่น ในปี 2563 มีความต้องการใช้งบประมาณในการขับเคลื่อนโครงการบริหารจัดการน้ำขนาดใหญ่และโครงการสำคัญที่เกี่ยวข้องรวมเป็นวงเงินกว่า 1.03 แสนล้านบาท

โดยนายกรัฐมนตรีจึงได้มอบหมายสำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และกระทรวงการคลัง พิจารณาหาแนวทางอื่นให้สามารถขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญที่อยู่ภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปีโดยคำนึงถึงการจัดลำดับความสำคัญของโครงการที่เป็น Quick Win ความสอดลคล้องของโครงการกับแผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำตามยุทธศาสตร์ชาติ ส่วนโครงการใดที่มีความจำเป็นเร่งด่วนและมีความจำเป็นต้องให้กระทรวงการคลังจัดหาแหล่งเงินกู้เพื่อดำเนินการให้คำนึงถึงกรอบวินัยการเงินและการคลังเป็นสำคัญ