อุตฯสั่งแจงมาบตาพุด ชุมชนห่วงอีเอชไอเอ

อุตฯสั่งแจงมาบตาพุด ชุมชนห่วงอีเอชไอเอ

"อุตตม" เร่ง กนอ. ชี้แจงทำความเข้าใจชาวบ้าน หลังอีเอชไอเอถมทะเลยังไม่ผ่าน ยอมรับต่างชาติยังสนใจลงทุน หอการค้าระยองห่วงปัญหากัดเซาะชายฝั่ง

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าเพื่อประชุมกับหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หลังจากแผนการถมทะเลลึกนับพันไร่ เพื่อจอดเรือบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่ ยังไม่ผ่านการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและผลกระทบสุขภาพ (อีเอชไอเอ) รองรับโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 แม้จะรับฟังความคิดเห็นครบ 3 ครั้ง โดยอีเอชไอเออยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ต้องใช้เวลา 8 เดือน อาจทำให้การถมทะเลต้องปรับจากปีงบประมาณ 2562-2563 เป็นปี 2563-2564

นายอุตตม กล่าวว่า ต้องการให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เร่งทำความเข้าใจกับชาวบ้านเพิ่มเติม โดยเฉพาะกลุ่มชาวประมง สร้างขึ้นมาแล้วประเทศได้ประโยชน์อย่างไร ชาวบ้านในพื้นที่รับประโยชน์อย่างไร ยืนยันว่าเอกชนยังสนใจลงทุน เช่น ไทย จีน ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์

รายงานข่าวจาก กนอ.ระบุว่า การลงทุนก่อสร้างท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 มูลค่าลงทุน 55,400 ล้านบาท เป็นการร่วมลงทุนระหว่างรัฐร่วมลงทุนกับเอกชน โดย กนอ.จะร่วมลงทุน 12,900 ล้านบาท และเอกชนลงทุน 35,000 ล้านบาท
ก่อนหน้านี้ นายนพดล ตั้งทรงเจริญ ประธานหอการค้าจังหวัดระยอง เปิดเผยว่า การพัฒนาท่าเรือมาบตาพุดเฟส 1 และเฟส 2 ของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ในช่วงที่ผ่านมาส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชายหาด จ.ระยอง ถูกกัดเซาะชายฝั่งเป็นวงกว้างและรุนแรง โดยบางพื้นที่ถนนแทบจะขาดตอน ซึ่งขณะนี้ยังไม่รับการดูแลหรือแก้ไขจากภาครัฐ ดังนั้นการจะพัฒนาท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 ก็จะต้องมาเยียวยาดูแลผลกระทบที่เกิดขึ้นจากเฟส 1 และ 2 ก่อนที่จะมาพัฒนาเฟส 3

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กนอ.ระบุว่าไม่มีหน้าที่ในการดูแลถนน รวมทั้งก่อนการก่อสร้างได้ศึกษาอีไอเอแล้ว ซึ่งหอการค้าจังหวัดระยองได้ย้ำแล้วว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นมาจากการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุดควรได้รับการดูแลแก้ไข ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องรับรู้ปัญหาและแก้ไข