กกต.ถกร่วม77พรรค หาเสียงคนละ2ล้าน พรรคฯไม่เกิน70ล้าน

กกต.ถกร่วม77พรรค หาเสียงคนละ2ล้าน พรรคฯไม่เกิน70ล้าน

กกต.ปิดห้องถก 77 พรรคการเมือง วางกรอบค่าใช้จ่ายเลือกตั้ง ป้ายหาเสียง การหาเสียงผ่านโซเซียลมีเดีย เผยเบื้องต้น 11 พรรคเห็นชอบวงเงินหาเสียงคนละ 2 ล้าน พรรคการเมืองไม่เกิน 70 ล้าน

 ที่ห้องประชุมวายุภักดิ์ ศูนย์ราชการ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดการประชุมหารือระหว่างกกต. พรรคการเมือง และสื่อมวลชน ตามพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 เพื่อเตรียมความพร้อมในการเลือกตั้ง โดยมีพรรคการเมืองตอบรับเข้าร่วมหารือจำนวน 77 พรรค อาทิ พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรคไทยรักษาชาติ พรรคอนาคตใหม่  พรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคพลังชล

ทั้งนี้ในการหารือกกต.ได้กำหนดประเด็นหารือไว้ 3 เรื่อง ได้แก่ 1 การกำหนดจำวนเงินค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง ซึ่งกำหนดวงเงินค่าใช้จ่ายของผู้สมัครแบบแบ่งเขตคนละไม่เกิน 2 ล้านบาท และกำหนดวงเงินค่าใช้จ่ายของพรรคการเมืองตามสัดส่วนการส่งผู้สมัคร ตั้งแต่ 10 - 70 ล้านบาท  ทั้งนี้จากการสอบถามไปยังพรรคการเมือง 13 พรรค  โดย 11 พรรค เห็นชอบตามวงเงินที่ กกต.เสนอ มีเพียง 2 พรรคที่เสนอให้ลดกอรบค่าใช้จ่ายลง

2  การกำหนดหลักเกณฑ์การจัดทำ การกำหนดสถานที่ หรือที่ปิดประกาศแผ่นป้ายโฆษณาการเลือกตั้ง โดยกำหนดขนาดป้ายหาเสียงให้เป็นแนวตั้งกว้างไม่เกิน 30 ซ.ม. สูงไม่เกิน 42 ซ.ม. หรือกระดาษขนาดเอ 3 รวมแล้วไม่เกิน 10 เท่าของจำนนหน่วยเลือกตั้งในเขตเลือกตั้ง สำหรับเนื้อหาในป้ายหาเสียง สามารถระบุชื่อ ภาพถ่ายผู้สมัคร ภาพถ่ายผู้สมัครคู่กับหัวหน้าพรรค หรือบุคคลที่นักการเมืองมีมติเสนอให้เป็นนายกรัฐมนตรี ชื่อพรรคการเมืองและโลโก้พรรค หมายเลขผู้สมัคร ข้อความอื่นได้เท่าที่จำเป็น  สำหรับการติดแผ่นป้ายหาเสียงของผู้สมัครและพรรคการเมือง กำหนดให้เป็นแนวตั้งขนาดความกว้างไม่เกิน 130 ซ.ม. สูงไม่เกิน 245 ซ.ม. กรณีผู้สมัครจัดทำจำนวนไม่เกิน 2 เท่าของจำนวนหน่วยเลือกตั้งในเขตเลือกตั้ง ส่วนพรรคการเมืองจัดทำจำนวนไม่เกิน 1 เท่าของจำนวนหน่วยเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งเฉพาะที่พรรคการเมืองส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง โดยเนื้อหาในป้ายหาเสียง สามารถระบุชื่อ ภาพถ่ายผู้สมัคร ภาพถ่ายผู้สมัครคู่กับหัวหน้าพรรค หรือบุคคลที่นักการเมืองมีมติเสนอให้เป็นนายกรัฐมนตรี ชื่อพรรคการเมืองและโลโก้พรรค หมายเลขผู้สมัคร ข้อความอื่นได้เท่าที่จำเป็น 

และ 3 การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการหาเสียงเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์ ให้ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองแจ้งวิธีการ รายละเอียด ช่องทาง และระยะเวลาการหาเสียงให้กกต.ทราบ ส่วนบุคคลที่ไม่ใช่ผู้สมัครและพรรคการเมือง สามารถช่วยผู้สมัครและพรรคหาเสียงทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ โดยต้องระบุข้อมูลผู้ดำเนินการที่สามารถเจาะจงตัวตนได้ ระบุผู้จัดทำ และหากมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเกิน 10,000 บาท ให้ผู้นั้นแจ้งต่อผู้สมัครและพรรคการเมืองทราบ กรณีผู้สมัคร พรรคการเมือง หรือผู้ใด กระทำการต้องห้ามตามระเบียบให้กกต.สั่งให้แก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือลบข้อมูล และให้สำนักงานกกต.แจ้งคำสั่งให้ผู้สมัคร พรรคการเมือง หรือผู้ใด ดำเนินการตามคำสั่งนั้นโดยเร็ว กรณีผู้สมัคร พรรคการเมือง หรือผู้ใดไม่ดำเนินการตามคำสั่งให้สำนักงาน กกต. แจ้งต่อสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่

ทั้งนี้ภายหลังการหารือเสร็จสิ้นทั้ง 3 วาระ สำนักงานกกต. จะสรุปการหารือและแถลงข่าวกับสื่อมวลชน