'เศรษฐพงค์' ฟันธง ประเทศไทย 4.0 อาจฝันค้างถ้าไทยไปไม่ถึง 5G

'เศรษฐพงค์' ฟันธง ประเทศไทย 4.0 อาจฝันค้างถ้าไทยไปไม่ถึง 5G

"พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์" อดีตรองประธาน กสทช. ฟันธง ประเทศไทย 4.0 อาจฝันค้างถ้าไทยไปไม่ถึง 5G

วันนี้ (18 ธ.ค.) พันเอก ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ อดีตรองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทข.) ได้รับเชิญเป็นวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิในการบรรยายในหัวข้อ “5G นำไทยสู่ไทยแลนด์ 4.0” ในงานสัมมนาวิชาการ NBTC Journal 2018

พันเอก ดร.เศรษฐพงค์ ได้กล่าวในการบรรยายว่า “การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดคำถามอย่างเช่น คนทำงานในโรงงานและพนักงานออฟฟิศที่มีทักษะที่เหมาะสมกับตลาดแรงงานนั้นจะเปลี่ยนไปหรือไม่? พวกเขาเตรียมพร้อมรับมือกับสภาพการจ้างงานที่มาพร้อมกับคำว่า ยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 หรืออุตสาหกรรม 4.0 แล้วหรือยัง? ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาทักษะของทรัพยากรมนุษย์รูปแบบใดที่ประเทศต่างๆ ควรนำมาใช้ในการพัฒนาแรงงานในศตวรรษที่ 21? จึงเป็นความท้าทายของผู้นำและผู้บริหารในวันนี้ ดังนั้นเราจึงต้องการผู้นำและผู้บริหารที่เห็นอนาคต และเตรียมการเพื่ออนาคตได้อย่างชัดเจน”

1_97

พันเอก ดร.เศรษฐพงค์ ได้ชี้ด้วยว่า “ประเทศไทยมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องแก้ไขกฎหมายการจัดสรรคลื่นความถี่ 5G อย่างเร่งด่วนให้สำเร็จก่อนปี พ.ศ. 2562 ซึ่งประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้มีการเริ่มขยายโครงข่ายระบบ 5G แล้ว ซึ่งอาจจะทำให้ประเทศไทยตกขบวนและไม่สามารถนำพาประเทศไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 ได้ เนื่องจากหากยังมีการประมูลคลื่นในรูปแบบเดิม จะทำให้ราคาคลื่น 5G สูงมากแบบไร้เหตุผลในการทำธุรกิจ และจะทำให้ไม่มีผู้ประกอบการรายใดเข้าร่วมประมูล 5G เลย“

เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา (2018) ประเทศเกาหลีใต้เป็นประเทศแรกของโลก ที่มีการประมูลคลื่นความถี่ 5G ในเชิงพาณิชย์แล้ว ในส่วนของประเทศอื่นๆคาดว่าจะมีการเปิดตัว 5G ในช่วง 3 ปีข้างหน้าในอเมริกาเหนือและในตลาดหลักทั่วทวีปเอเชียและยุโรป ซึ่งประเทศจีน, สหรัฐฯ และญี่ปุ่น จะเป็นประเทศผู้นำในการเชื่อมต่อ 5G ภายในปี 2025 ในขณะที่ในทวีปยุโรปโดยรวมจะยังคงมีการใช้งาน 5G เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรวมทั้งประเทศจีน, สหรัฐฯ, ญี่ปุ่น และยุโรป จะมีจำนวนการเชื่อมต่อประมาณร้อยละ 70 ของการเชื่อมต่อ 5G ทั่วโลก ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าจะมีการเชื่อมต่อ 5G ทั่วโลกประมาณ 1.2 พันล้านเลขหมาย (จากยอดรวมกว่า 6 พันล้าน)

หลังจากการบรรยาย พันเอก ดร.เศรษฐพงค์ ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนโดยทิ้งท้ายว่า “ผู้นำและผู้บริหารองค์กรของประเทศในยุคจากนี้ไป จะไม่สามารถที่จะกำหนดทิศทางขององค์กรและประเทศได้อย่างถูกต้อง หากไม่มีความรู้และเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกผันหรือที่เรียกว่า ดิสรับชั่น ซึ่งมีผลกระทบจากการพัฒนาอย่างรวดเร็วด้วยอัตราเร่งของเทคโนโลยีดิจิทัลจากเทคโนโลยี 5G และ AI ดังนั้นไม่น่าแปลกใจเลยว่าประเทศที่จะเป็นมหาอำนาจในทศวรรษต่อจากนี้ไป คือประเทศที่เป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์และไมโครชิพ 5G และ AI”

2_160