กสทฯคาดปีนี้กำไรทะลุ 13,000 ล้านบาท

กสทฯคาดปีนี้กำไรทะลุ 13,000 ล้านบาท

เร่งปั้นธุรกิจดิจิทัลเซอร์วิสให้บริการครบวงจร ระบุแผนธุรกิจยังต้องคำนึงถึงทิศทางองค์กรหลังรัฐให้ควบรวมกิจการกับทีโอที

พ.อ.สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.กสท โทรคมนาคม กล่าวว่า ปีนี้คาดการณ์ว่าบริษัทจะมีผลกำไรสุทธิมากกว่า 13,000-14,000 ล้านบาท เนื่องจากผลประกอบการ 11 เดือนที่ปิดไปแล้วของปี 2561 พบว่า บริษัทมีรายได้ 58,731 ล้านบาท ค่าใช้จ่าย 45,038 ล้านบาท มีกำไร 13,675 ล้านบาท เนื่องจาก บริษัทสามารถสร้างรายได้จากการนำทรัพย์สินที่มีอยู่ทำให้เกิดประโยชน์ได้ โดยเฉพาะการให้เช่าเสาโทรคมนาคมของกสทฯที่ทำสัญญาร่วมกับผู้ประกอบการบริษัทเอกชน

อย่างไรก็ดี ปีหน้าคาดว่าจะกลับมามีรายได้ปกติอยู่ที่ 45,000 ล้านบาท มีกำไรประมาณ 2,700 ล้านบาท ไม่มีรายได้พิเศษเหมือนปีที่ผ่านมา ขณะที่การลงทุนในปีหน้าบริษัทจะไม่ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานใหม่ๆเพิ่ม เช่น คอร์เน็ตเวิร์กบรอดแบนด์ เนื่องจากมีการลงทุนไว้ครบแล้ว แต่จะเน้นสร้างรายได้จากธุรกิจที่มีอยู่ให้มากที่สุด โดยเฉพาะบริการดิจิทัล เซอร์วิสให้ครบวงจร ตั้งเป้าจะมีรายได้ 500 ล้านบาทในปีหน้า อันประกอบด้วย สมาร์ท โซลูชั่น อินเทอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ (ไอโอที) ,บิ๊ก ดาต้า และความปลอดภัยระบบไอที ส่วนธุรกิจหลักในปัจจุบันทั้งโทรศัพท์เคลื่อนที่และอินเทอร์เน็ตคาดว่าจะยังคงรักษาส่วนแบ่งตลาดให้เติบโตได้ตามภาวะตลาดรวมของอุตสาหกรรม โดยปีหน้ากสทฯคาดว่าจะมีลูกค้ามายเพิ่มขึ้น 500,000 รายรวมเป็น 2.5 ล้านราย

ส่วนธุรกิจที่มีรายได้หลัก 55% คือ ธุรกิจโมบายล์นั้น จะยังคงเดินหน้ารักษาส่วนแบ่งตลาดไว้ตามเดิม พร้อมทั้งหาลูกเล่นทางการตลาดใหม่ๆโดยอาจจะเปิดบริการคล้ายๆรูปแบบไลน์ โมบายล์ เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภคด้วย ส่วนธุรกิจบรอดแบนด์คาดว่าปีหน้าจะเติบโต 20% โดยเน้นกลุ่มลูกค้าองค์กรเป็นหลัก

“กสทฯเองได้กำหนดทิศทางในการสร้างธุรกิจใหม่ด้านดิจิทัลให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อขยายบทบาทขององค์กรในฐานะหน่วยงานสื่อสารโทรคมนาคมภาครัฐที่จะมีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนดิจิทัลโซลูชั่นของประเทศให้พร้อมรองรับยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 และสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่ต้องการให้หน่วยงานภาครัฐบริหารจัดการด้วยข้อมูลและเทคโนโลยี"

ด้าน โครงการดิจิทัลพาร์คไทยแลนด์ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ซึ่งจะเป็นโครงการที่สำคัญในการสร้างบุคลากรด้านเทคโนโลยีของไทยในอนาคต ด้วยการพัฒนาองค์ความรู้ในการผลิตเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลให้กับพื้นที่ EEC และประเทศไทย ได้ผ่านขั้นตอนจัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นของภาคประชาชน และการรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชน ตามกระบวนการดำเนินงาน PPP (Public Private Partnership) เป็นที่เรียบร้อย โดยเตรียมเปิดจำหน่ายเอกสารทีโออาร์และกำหนดคัดเลือกเอกชนร่วมทุนได้ในต้นปีหน้า

ขณะที่ความคืบหน้าในการควบรวมกิจการระหว่างกสทฯ กับทีโอทีนั้น คณะทำงานควบรวมกิจการฯ ซึ่งประกอบด้วยผู้บริหารและสหภาพของทั้งสองหน่วยงาน อยู่ระหว่างการหารือร่วมกันเกี่ยวกับแนวทางการควบรวมที่จะสามารถลดความซ้ำซ้อนในการลงทุนและสามารถเพิ่มประสิทธิภาพขององค์กร เพื่อเตรียมนำเสนอต่อคณะอนุกรรมการกลั่นกรองแผนการแก้ไขปัญหารัฐวิสาหกิจ คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ และคณะรัฐมนตรี