ไทยออยล์คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมัน 17 - 21 ธ.ค. 2561

ไทยออยล์คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมัน 17 - 21 ธ.ค. 2561

ราคาน้ำมันดิบคาดปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังอุปทานเริ่มปรับตัวลดลง

ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ  49 - 54 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 58 – 63 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (17 - 21 ธ.ค. 61)

ราคาน้ำมันดิบคาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากแรงหนุนของปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะปรับลดลงจากอุปสงค์ในประเทศและปริมาณการส่งออกที่อยู่ในระดับสูง นอกจากนี้ ราคาน้ำมันยังคาดว่าจะได้รับแรงหนุนจากอุปทานน้ำมันดิบโลกที่ปรับลดลง หลังผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปคตัดสินใจที่จะปรับลดลงกำลังการผลิตในการประชุมที่ผ่านมา ประกอบกับ อุปทานน้ำมันดิบของลิเบียก็มีแนวโน้มปรับตัวลดลงเช่นกัน หลังประเทศเผชิญกับสถานการณ์ความไม่สงบ อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบคาดว่าจะได้รับแรงกดดันจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ที่จะส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้น รวมถึงอุปสงค์น้ำมันที่มีแนวโน้มได้รับแรงกดดัน หลังเผชิญกับความเสี่ยงหลายด้าน

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:

  • ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับลดลง หลังโรงกลั่นในสหรัฐฯ ยังคงอัตราการกลั่นในระดับสูงเพื่อรองรับความต้องการใช้ในช่วงฤดูหนาว ประกอบกับ ปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของสหรัฐฯ คงอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง หลังส่วนต่างราคาระหว่างราคาน้ำมันดิบ Brent และ WTI กว้างมากกว่า 9 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ซึ่งดึงดูดให้ผู้ซื้อหันมาซื้อน้ำมันดิบสหรัฐฯ มากขึ้น โดยในสัปดาห์ล่าสุด สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงราว 21 ล้านบาร์เรล เมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา มาอยู่ที่ระดับ 442 ล้านบาร์เรล
  • ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปคมีแนวโน้มปรับตัวลดลง หลังตกลงที่จะปรับลดกำลังการผลิตลงราว 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตั้งแต่เดือน ม.ค. 62 เป็นเวลาทั้งสิ้น 6 เดือน โดยล่าสุดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของซาอุดิอาระเบียซึ่งเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดของกลุ่มโอเปค คาดว่าจะปรับลดลงมาอยู่ที่ 10.7 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือน ธ.ค. 61 ซึ่งลดลงจากเดือนที่ผ่านมาที่อยู่ที่ระดับ 11.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในขณะที่ ปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของซาอุดิอาระเบียในเดือน ธ.ค. 61 คาดว่าจะปรับลดลงมาต่ำกว่า 8 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งลดลงจากเดือนที่ผ่านมาซึ่งอยู่ที่ระดับ 8.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน
  • ติดตามสถานการณ์ความไม่สงบในลิเบียที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น หลังกองกำลังติดอาวุธบุกยึดแหล่งผลิตน้ำมันดิบที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ อย่างแหล่ง El Sharara กำลังการผลิตกว่า 315,000 บาร์เรลต่อวัน ส่งผลให้บริษัทน้ำมันแห่งชาติของลิเบีย (NOC) ต้องประกาศเหตุสุดวิสัย (Force Majeure) ยกเลิกการส่งน้ำมันดิบจากแหล่งผลิตดังกล่าว นอกจากนี้ ยังส่งผลให้แหล่งผลิตน้ำมันดิบ El Feel กำลังการผลิตราว 73,000 บาร์เรลต่อวัน ได้รับผลกระทบ และต้องหยุดดำเนินการด้วย
  • จับตาการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ซึ่งนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกร้อยละ 25 ซึ่งเป็นครั้งที่ 4 ของปีนี้ มาอยู่ที่ร้อยละ 2.25-2.50 อย่างไรก็ตาม ในปีหน้า นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าเฟดจะไม่เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ ทรงตัว ประกอบกับการจ้างงานนอกภาคการเกษตรที่อ่อนตัวในเดือน พ.ย. 61 ที่ผ่านมา
  • ตลาดยังคงกังวลกับอุปสงค์ที่มีแนวโน้มเติบโตช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ หลังเศรษฐกิจโลกยังเผชิญกับความไม่แน่นอน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน และเรื่องการถอนตัวของสหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) หลังนางเธเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ประกาศเลื่อนการลงมติในรัฐสภาต่อร่างข้อตกลง Brexit ออกไปอย่างไม่มีกำหนด โดยให้เหตุผลว่าอังกฤษยังคงมีธุรกรรมที่ผูกติดกับสหภาพยุโรปอยู่มากที่ยังไม่สามารถเจรจาหาข้อตกลงได้หากเกิด Brexit ขึ้น นอกจากนี้ ตลาดยังคงเผชิญกับปัญหาทางด้านการเมืองของสหรัฐฯ หลังนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ขู่ปิดรัฐบาลกลาง (Federal Government) หลังแกนนำพรรคเดโมแครต ปฏิเสธสนับสนุนข้อเรียกร้องของนายทรัมป์ ที่จะเบิกงบประมาณ 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อสร้างกำแพงกั้นชายแดนระหว่างสหรัฐฯ และเม็กซิโก
  • ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ จีดีพีไตรมาส 3/2561 สหรัฐฯ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนสหรัฐฯ ดัชนีการใช้จ่ายส่วนบุคคลสหรัฐฯ และดัชนีราคาผู้บริโภคยูโรโซน

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (10 - 14 ธ.ค. 61)

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวลดลง 1.41 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 51.20 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลดลง 1.39 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 60.28 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 59 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังได้รับแรงหนุนจากข้อตกลงปรับลดกำลังการผลิตของผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปค ประกอบกับการประกาศ Force Majeure ของลิเบีย ที่จะส่งผลให้ปริมาณการผลิตน้ำมันของลิเบียปรับตัวลดลง อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบยังถูกกดดันจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่ปรับตัวลดลงน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ รวมถึงการปรับตัวลดลงของตลาดหุ้นสหรัฐฯ และยุโรป

-----------------------------------------------

ที่มา : บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน)          

        โทร.02-797-2999