วางแผนภาษีอย่างไร ให้ครอบคลุมเป้าหมายชีวิต

วางแผนภาษีอย่างไร ให้ครอบคลุมเป้าหมายชีวิต

ลาวัณย์ วาริชนันท์ CFP® นักวางแผนการเงิน บมจ.กรุงเทพประกันชีวิต

ถึงโค้งสุดท้ายของการวางแผนภาษีปี 2561 กันแล้ว วันนี้ขอพูดถึงประโยชน์ของการวางแผนภาษีที่ให้มากกว่าการลดหย่อนภาษีในแบบที่หลายท่านอาจคาดไม่ถึง มาดูกันว่าค่าลดหย่อนหลักๆ ที่เราใช้กันทุกปี ซึ่งก็คือ ประกันชีวิต 100,000 บาทแรก, LTF, RMF และประกันบำนาญ ให้ประโยชน์เกี่ยวกับชีวิตเราด้านอื่นได้อย่างไรบ้าง

1_48

ประกันชีวิต 100,000 บาทแรก: ประกันชีวิตส่วนนี้ มีให้เลือกทั้งแบบสะสมทรัพย์ ตลอดชีพ และแบบชั่วระยะเวลา มีประโยชน์มากหากเลือกให้เหมาะกับเป้าหมายและความรับผิดชอบในชีวิต

ตัวอย่าง: นาย ก อายุ 36 ปี มีรายได้ปีละ 1,200,000 บาท แต่งงานกับ นาง ข อายุ 32 ปี เป็นแม่บ้าน ไม่มีรายได้ มีบุตรชายชื่อ น้อง ค อายุ 2 ขวบ ทั้งนาย ก และ นาง ข ตั้งใจให้น้อง ค เรียนจบถึงชั้นปริญญาตรี มหาวิทยาลัยรัฐบาล ซึ่งคำนวณมาแล้วว่าตลอดการศึกษาของน้อง ค มีค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น 5,000,000 บาท ทั้งนาย ก และ นาง ข ยังไม่มีทรัพย์สินใดๆ ที่ปลอดหนี้ นาย ก เคยแต่ลดหย่อนภาษี แต่ไม่เคยวางแผนภาษีอย่างจริงจัง ในปี 2561 นี้ นาย ก ต้องการวางแผนภาษีอย่างมีประสิทธิผลสูงสุด นาย ก ควรซื้อประกันชีวิตฉบับแรกอย่างไร

คำตอบ นาย ก ควรซื้อประกันชีวิตฉบับแรก แบบที่ไม่ใช่ประกันสะสมทรัพย์ซึ่งให้ความคุ้มครองชีวิตน้อย นาย ก ควรพิจารณาดูประกันชีวิตแบบตลอดชีพหรือแบบชั่วระยะเวลาที่ให้ความคุ้มครองชีวิตมากกว่า เพื่อให้ครอบคลุมเป้าหมายในส่วนค่าเล่าเรียนบุตร ซึ่งจัดเป็นความรับผิดชอบของนาย ก หรืออย่างน้อยๆ ก็ควรมีความคุ้มครองชีวิตให้ครอบคลุมค่าใช้จ่าย 3-5 ปี ของครอบครัว เผื่อไว้ในกรณีที่ว่า หาก นาย ก เกิดจากไป ภรรยาและบุตรจะได้มีเงินในการชีวิตเพื่อตั้งตัวได้ภายใน 3-5 ปี มากไปกว่านั้น หากการใช้ชีวิตทุกอย่างปกติ บุตรเรียนจบแล้ว ประกันชีวิตแบบตลอดชีพก็ยังสามารถถูกเวนคืนมาเป็นเงินค่าใช้จ่ายของ นาย ก ได้ สำหรับประกันแบบชั่วระยะเวลานั้นไม่สามารถเวนคืนได้เนื่องจากเป็นการชำระเบี้ยที่น้อย แต่ได้ความคุ้มครองที่สูงมาก หากได้ความคุ้มครองที่มากพอแล้ว ฉบับต่อไปจะซื้อประกันสะสมทรัพย์ก็เป็นได้

LTF กองทุนรวมหุ้นระยะยาว: เป็นการลดหย่อนภาษีที่ได้โอกาสในการลงทุนอีกทั้งยังสามารถใช้เป็นเงินสำหรับเป้าหมายชีวิตในระยะกลางได้อีกด้วย แต่ต้องไม่ใช่เป้าหมายที่สำคัญนัก เนื่องจากเป็นการลงทุนหุ้นในตลาดหลักทรัพย์อย่างน้อย 65%

ตัวอย่าง: นาย ก คนเดิม วางแผนไว้ว่า อีก 7 ปีข้างหน้า ต้องการเปลี่ยนรถ โดยรถยนต์ที่ดูไว้มูลค่าประมาณ 1,000,000 บาท นาย ก ก็สามารถนำเงินจากการลงทุนใน LTF ในปี 2561 มาเป็นเงินดาวน์รถได้ โดยในปี 2561 นาย ก มีสิทธิ์ซื้อ LTF ได้ 1,200,000 x 15% = 180,000 บาท ผลตอบแทนจากการลงทุนใน LTF เฉลี่ย 6%-8% ต่อปี ในอีก 7 ปีข้างหน้า เงิน 180,000 บาท จะกลายเป็นเงิน 270,653 บาท (คิดผลตอบแทน 6% ต่อปี)

RMF กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพและประกันบำนาญ: จากชื่อก็พอจะรู้กันอยู่ว่ามีไว้ให้ใช้ในยามเกษียณ จึงทำให้หลายคนบอกว่า ไม่เอา ไม่ซื้อ อีกนานกว่าจะอายุ 55 ปี หรืออีกนานกว่าจะเกษียณ หรือเกษียณให้ลูกเลี้ยง แต่จริงๆ แล้ว การวางแผนเกษียณใช้หลัก YOYO (You on Your Own) พูดง่ายๆ ก็คือ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน การที่เราสามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีได้และยังได้เงินกลับมาใช้ตอนเกษียณได้เป็นเรื่องที่วิเศษมากๆ หากลองสังเกตดูดีๆ ผลตอบแทน RMF ในกองหุ้นส่วนใหญ่จะสูงกว่าผลตอบแทนของ LTF เสียอีก อีกทั้ง RMF ก็มีให้เลือกการลงทุนหลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในตลาดเงิน ตราสารหนี้ พันธบัตรรัฐบาล อสังหาริมทรัพย์ สุขภาพ เทคโนโลยี หุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ ซึ่งเราสามารถจัดเป็นพอร์ตลงทุนระยะยาวได้เลยทีเดียว และเมื่อการลงทุนมีความเสี่ยง เราจึงได้สิทธิ์ในการซื้อประกันบำนาญ ซึ่งประกันบำนาญเป็นสัญญาที่ให้ผลตอบแทนที่แน่นอน หากคิดเทียบเป็น IRR แล้ว ประกันบำนาญบางแบบ ก็ให้ผลตอบแทนสูงถึง 3%-4% ต่อปี โดยไม่มีความผันผวนเหมือนการลงทุน การันตีเงินใช้หลังเกษียณแบบที่เราสบายใจได้ว่าจะมีเงินใช้แน่นอน

จะเห็นได้ว่าการวางแผนภาษีโดยเลือกสินทรัพย์ในการลดหย่อนภาษีให้เหมาะกับเป้าหมายชีวิตและความรับผิดชอบของเรา สามารถช่วยให้เราได้ประโยชน์สูงมาก ขอชื่นชมคณะทำงานที่คิดเรื่องการลดหย่อนภาษีขึ้นมา เพราะเมื่อเราวางแผนภาษีดีๆ 1 ที ชีวิต...ก็จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป