เรียนรู้กฏหมาย"อี-คอมเมิร์ซ"ใหม่ของจีนก่อนลงทุน

เรียนรู้กฏหมาย"อี-คอมเมิร์ซ"ใหม่ของจีนก่อนลงทุน

เมื่อวันที่ 31 ส.ค.ที่ผ่านมา การประชุมสภาผู้แทนประชาชนจีนรุ่นที่ 13 ครั้งที่ 5 ได้อนุมัติกฏหมายว่าด้วยอี-คอมเมิร์ซ และกำหนดให้เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.ปี 2562 เป็นต้นไป ถือเป็นกฏหมายที่ใช้เวลาในการพิจารณานานถึง 4 ครั้งตลอดระยะเวลา 5 ปี

กฏหมายอี-คอมเมิร์ซจีน ให้ความสำคัญเรื่องความรับผิดชอบของแพลทฟอร์มอี-คอมเมิร์ซและคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้บริโภค ซึ่งกำหนดว่าแพลทฟอร์มอี-คอมเมิร์ซต้องตรวจสอบคุณสมบัติของร้านค้าออนไลน์ หากมีการละเมิดสิทธิผู้บริโภคจะถูกปรับ 50,000 หยวน-500,000 หยวน และหากเป็นการละเมิดสิทธิผู้บริโภคอย่างร้ายแรงจะถูกปรับ 500,000 หยวน-2 ล้านหยวน

 สำหรับผู้ประกอบการการค้าอี-คอมเมิร์ซ กฏหมายจีนกำหนดว่า บริษัทที่เปิดร้านจำหน่ายสินค้า หรือบริการออนไลน์ หรือบุคคลธรรมดาที่จำหน่ายสินค้า หรือ บริการออนไลน์ บนแพลทฟอร์มอี-คอมเมิร์ซ เช่นเว็บไซต์เถาเป่า และเจดี รวมทั้งวีแชท บิสสิเนส และการจำหน่ายสินค้าผ่านการถ่ายทอดสดออนไลน์ต่างๆ ล้วนถือเป็นผู้ประกอบการการค้าอี-คอมเมิร์ซ ทั้งสิ้น จากเดิมที่วีแชท บิสสิเนส และการจำหน่ายสินค้าผ่านการถ่ายทอดสดอนไลน์ต่างๆ ไม่จำเป็นต้องลงทะเบียนเป็นธุรกิจส่วนตัว

สำหรับผู้ประกอบการด้านธุรกิจอี-คอมเมิร์ซชาวไทยที่ต้องการเข้าไปทำธุรกิจด้านนี้ในจีน ควรศึกษาและปฏิบัติตามข้อบังคับต่างๆของจีน รวมทั้งกฏหมายใหม่นี้ด้วย เช่น การลงทะเบียนผู้ประกอบการ หากจำหน่ายสินค้าประเภทอาหารทางออนไลน์ในจีน ควรได้รับใบอนุญาติจำหน่ายอาหารในจีน ห้ามจำหน่ายสินค้าที่ไม่มีฉลากภาษาจีน และห้ามจำหน่ายนมผงเด็กที่ไม่ได้ลงทะเบียนสูตรนมผง ต่อมา ห้ามผู้ประกอบการอี-คอมเมิร์ซ ลบคอมเมนท์ที่ไม่ดีของลูกค้าและห้ามผู้ประกอบการทำสถิติซื้อขายปลอม หากพบว่ามีการละเมิดกฏระเบียบนี้ ผู้ประกอบการจะถูกปรับ 20,000-500,000 หยวน

หากผู้ประกอบการอี-คอมเมิร์ซเก็บเงินมัดจำของลูกค้าต้องระบุวิธีและขั้นตอนในการส่งเงินมัดจำคืนลูกค้าอย่างชัดเจน ส่วนกรณีการขายพ่วง หากผู้ประกอบการอี-คอมเมิร์ซ มีการขายพ่่วงสินค้า หรือบริการ ควรแจ้งลูกค้าให้ชัดเจน

ส่วนการส่งมอบสินค้า ผู้ประกอบการอี-คอมเมิร์ซ ควรส่งมอบสินค้าตามวิธีการและระยะเวลาที่ตกลงกับลูกค้าและรับผิดชอบความเสี่ยงระหว่างการขนส่งสินค้า นอกเสียจากว่า ลูกค้าเลือกใช้บริการขนส่งสินค้าของผู้ให้บริการฝ่ายที่สาม

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการต้องจ่ายชดเชยให้ลูกค้าหากระบบการชำระเงินไม่ได้มาตรฐานด้านความปลอดภัย และผู้ประกอบการต้องชำระภาษีตามระเบียบภาษีในจีน และห้ามเปิดเผย หรือ จำหน่ายข้อมูลส่วนตัวของลูกค้า

ล่าสุด เมื่อวันที่ 9 ก.ย.ที่ผ่านมา กรุงปักกิ่ง เปิดศาลอินเทอร์เน็ตแห่งที่2 ในประเทศ หลังจากเปิดศาลแห่งแรกที่เมืองหังโจว สะท้อนให้เห็นว่า จีน มุ่งยกระดับมาตรการป้องกันอาชญากรรมทางอินเทอร์เน็ต การรักษาข้อมูลส่วนบุคคลและทรัพย์สินทางปัญญาบนโลกออนไลน์ รวมทั้งให้ความสำคัญกับความโปร่งใส ซึ่งประชาชนทั่วไป สามารถเข้าถึงข้อมูลกระบวนการพิจารณาคดีแต่ละขั้นตอน ตั้งแต่รายละเอียดของคดีต่างๆไปจนถึงการประกาศคำตัดสินของศาลผ่านระบบออนไลน์ได้