ตลาดอี-คอมเมิร์ซจีน โอกาสทองนักลงทุนไทย

ตลาดอี-คอมเมิร์ซจีน โอกาสทองนักลงทุนไทย

ผู้ประกอบการไทย นอกจากจะต้องสร้างสรรค์สินค้าที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวแล้ว ยังต้องศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคในแต่ละมณฑล และควรใช้ช่องทางการกระจายสินค้าที่เหมาะสม เพื่อตอบโจทย์การค้ายุคอี-คอมเมิร์ซในจีนให้ได้

เมื่อวันพฤหัสบดี(13ธ.ค.)ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน (บีไอซี) ประจำสถานเอกอัครราชทูต-สถานกงสุลใหญ่ในจีน ได้จัดสัมมนาหัวข้อ “Innovative E-Commerce:แนวโน้มใหม่และโอกาสของSME ไทยในจีน” มีเนื้อหาโดยสรุปว่า จีน เป็นตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่สุดในโลก ผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยเข้าสู่สนามแข่งขันเพื่อชิงเค้กก้อนใหญ่ในจีนแต่ไม่ประสบความสำเร็จ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการทำธุรกิจรูปแบบเดิมๆในจีนเปลี่ยนแปลงไปตามทิศทางตลาดและพฤติกรรมของผู้บริโภค

ผู้ประกอบการไทย นอกจากจะต้องสร้างสรรค์สินค้าที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวแล้ว ยังต้องศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคในแต่ละมณฑล และควรใช้ช่องทางการกระจายสินค้าที่เหมาะสม เพื่อตอบโจทย์การค้ายุคอี-คอมเมิร์ซ ซึ่งจะเพิ่มโอกาสแก่บรรดาผู้ประกอบการไทยในการทำตลาดในพื้นที่ตอนในของจีนได้มากขึ้น และในอนาคตแพลทฟอร์มที่คล้ายคลึงกันนี้จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆทั่วประเทศ เนื่องจากรัฐบาลจีนให้ความสำคัญและสนับสนุนการทำธุรกิจอี-คอมเมิร์ซข้ามพรมแดน (ซีบีอีซี)

 ประกอบกับ การพัฒนาของเทคโนโลยีทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายและรวดเร็ว จึงทำให้ผู้บริโภคมีโอกาสมากขึ้นในการเลือก ในราคาที่สามารถหาซื้อได้ การใช้สื่อสังคมออนไลน์ของจีนเพื่อประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภคเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร โปรโมชั่นพิเศษ ตลอดถึงช่องทางการชำระเงินที่รองรับวิถีการใช้จ่ายของชาวจีนส่วนมากที่เป็นกระเป๋าเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ ผ่าน วีแชท เพย์ หรือ อาลีเพย์ ช่วยให้ผู้ประกอบการไทยเข้าถึงตลาดจีนได้มากขึ้นเช่นกัน

ทั้งนี้ รูปแบบการดำเนินชีวิตของชาวจีนเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในช่วง 2-3 ปีมานี้ จนเกิดคำนิยามใหม่ในหมู่ชาวจีนตามเมืองใหญ่ว่า “ชีวิตขาดเงินสดได้ แต่ขาดสมาร์ทโฟนและอินเทอร์เน็ตไม่ได้”ซึ่งนักธุรกิจไทยที่เข้าไปลงทุนแล้ว หรือต้องการเข้าไปลงทุนในจีน ควรติดตามพัฒนาการเหล่านี้อย่างใกล้ชิดและปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง

รวมทั้ง ศึกษากฏระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้เป็นกรณีศึกษาและขยายโอกาสทางธุรกิจ เตรียมปรับกลยุทธ์เพื่อนำไปเป็นอาวุธต่อสู้ให้ทันกับพัฒนาการในโลกยุคดิจิทัล เช่น 1. ปรับรูปแบบธุรกิจให้พร้อมทั้งออนไลน์และออฟไลน์ 2. พัฒนาแพลทฟอร์มครบวงจรเพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ต่างๆ 3. เปิดรับวิธีการชำระเงินแบบอี-เพย์เมนท์ 4. ใช้เทคโนโลยีช่วยเพิ่มประสบการณ์ใหม่ให้แก่ลูกค้า 5. ผนวกบิ๊กดาต้า คลาวน์ คอมพิวติง และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์(เอไอ)เข้าด้วยกันและนำมาใช้เพื่อสร้างความประทับใจแก่ลูกค้า

ส่วนหนึ่งที่ทำให้สังคมจีนเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วดังที่เป็นอย่างทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความมุ่งมั่นของรัฐบาลจีน ที่กำหนดยุทธศาสตร์ “ดิจิทัล ไชนา” เพื่อผลักดันให้ประเทศก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีของโลก ทำให้นโยบายต่างๆที่รัฐบาลกำหนดออกมา สร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่ภาคอุตสาหกรรมและผู้บริโภคจีน ทำให้นวัตกรรมและเทคโนโลยี เริ่มเข้ามามีบทบาทในชีวิตของชาวจีนมากขึ้น ขณะที่จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตของจีนเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดจากปี 2550 มีสัดส่วนเพียง 16% ของประชากรทั้งหมด แต่พอมาถึงปี 2560 จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นเป็น 57.7% ของประชากรทั้งประเทศ

ปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้ ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ หรือแม้กระทั่งธุรกิจอี-คอมเมิร์ซข้ามพรมแดน(ซีบีอีซี)ในจีนเป็นธุรกิจที่ร้อนแรงในขณะนี้ มีปัจจัยสำคัญมาจากความสำเร็จของการชำระเงินสินค้าและบริการผ่านช่องทางดิจิทัล (อี-เพย์เมนท์) ทำให้ผู้บริโภคสามารถจ่ายเงินได้เพียงแค่ปลายนิ้วสัมผัส

เมื่อเดือนธันวาคม ปี 2560 มีจำนวนผู้ใช้บริการอี-เพย์เมนท์ในจีน 527 ล้านคน ผู้ใช้บริการธุรกรรมทางการเงินออนไลน์ (ไม่รวมการใช้ผ่านมือถือ) 399 ล้านคน และผู้ใช้บริการธุรกรรมทางการเงินออนไลน์ผ่านมือถือ 370 ล้านคน หากเทียบกับจำนวนประชากรจีนทั้งประเทศ ถือว่า 3 ใน 10 คนใช้บริการอี-เพย์เมนท์ และ 2 ใน 5 คน ใช้บริการอี-แบงก์กิง

ในส่วนของนักลงทุนไทย ที่ต้องการเข้าไปมีส่วนร่วมด้านการค้าในจีนถึงวันนี้อาจต้องปรับตัว หันมาพิจารณาทำตลาดสินค้าผ่านทางออนไลน์ควบคู่กับการออกร้านภายในงานแสดงสินค้าตามเมืองต่างๆของจีน หรือ ขายสินค้าให้แก่ผู้นำเข้าจีนไปจำหน่ายผ่านช่องทางการขายแบบดั้งเดิม ด้วยเหตุผลว่า ธุรกิจออนไลน์ ไม่มีข้อจำกัดด้านพื้นที่ เวลา และกลุ่มลูกค้า

หนึ่งในรูปแบบของการเข้าไปทำธุรกิจในจีนที่ดีคือ การร่วมทุน ในการบุกตลาดออนไลน์ของจีน เนื่องจากสินค้าไทย มีคุณภาพ ทำให้ผู้บริโภคจีนเกิดความเชื่อมั่น สินค้าไทยจึงมีศักยภาพด้านการแข่งขันในตลาดจีน แต่นักธุรกิจไทย ยังขาดความเชี่ยวชาญเรื่องตลาดออนไลน์จีน ทั้งในด้านพฤติกรรมผู้บริโภค และกฏหมายอี-คอมเมิร์ซ ตลอดจนเงื่อนไขของผู้ให้บริการแพลทฟอร์มอี-คอมเมิร์ซแต่ละราย คู่ธุรกิจที่มีความเชี่ยวชาญด้านอี-คอมเมิร์ซ สามารถช่วยนักธุรกิจไทยได้ ทั้งในเรื่องของเทคนิค คลังสินค้า การวางระบบโลจิสติกส์ และพนักงานที่ทำหน้าที่บริหาร จัดการ คำสั่งซื้อของลูกค้า ทำให้นักธุรกิจไทยหมดภาระงานและค่าใช้จ่ายเรื่องคลังสินค้า และการจ้างพนักงาน โดยนักธุรกิจไทยจะรับผิดชอบเรื่องการจัดซื้อและการนำเข้าสินค้าเป็นหลัก

แต่มีข้อควรระวังสำหรับนักธุรกิจไทย ที่สนใจเข้ามาในตลาดออนไลน์จีนหลายด้านด้วยกันคือ 1. การขนส่งสินค้าจากไทยล่าช้า ทำให้อายุสินค้าสั้นกว่ามาตรฐาน เพราะฉะนั้นต้องเลือก หรือ ผลิตสินค้าให้มีอายุเพียงพอ รวมทั้งเลือกใช้บริษัทขนส่งที่เชื่อถือได้ 2.เลือกแพลทฟอร์มให้เหมาะกับประเภทสินค้า และ3 ซึ่งถือว่ามีความสำคัญมาก ไม่ว่านักธุรกิจไทยต้องการเข้ามาทำธุรกิจในจีนแบบออฟไลน์ หรือ ออนไลน์ หรือเพื่อป้องกันตนเองไว้ก่อน แม้ยังไม่มีแผนเข้าทำตลาดในจีน ควรต้องจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้ เพื่อป้องกันนักธุรกิจจีนบางคน นำเครื่องหมายการค้าของเรามาแอบอ้าง จดทะเบียนตัดหน้า ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกิจในจีนในอนาคต